เป็นข่าวที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจ กรณีนักร้องสาว “ผิง - ชญาดา” เสียชีวิตหลังเข้านวดแผนไทย แม้จะมีการแถลงจากแพทย์ถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่มาจากโรคไขสันหลังอักเสบ แต่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ต้นเหตุอาจมาจากการนวดบริเวณต้นคอ
Thai PBS นำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “คอ” อะไรบ้างที่ควรรู้เพื่อความปลอดภัย มาบอกกัน
“คอ” ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
คอ เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยเป็นโครงสร้างที่แยกศีรษะออกจากลำตัว ทั้งนี้ลักษณะของคอมีกระดูกอยู่ 7 ชิ้น ใช้สัญลักษณ์ C1 – C7 และมีหน้าที่แตกต่างกันไป
- C1 Atlas เป็นกระดูกข้อบนสุด อยู่ติดกับฐานกะโหลก เวลาก้มหน้าหรือเงยหน้า จะอาศัยกระดูกคอข้อนี้เป็นหลัก
- C2 Axis เป็นกระดูกคอข้อที่สองนับจากบนสุด เวลาที่หันหน้าซ้ายและขวา จะอาศัยกระดูกข้อนี้เป็นหลัก
- C3 เป็นกระดูกคอข้อที่สามนับจากบนสุด มีหน้าที่ช่วยประคองศรีษะและเสริมความยืดหยุ่นให้กับคอ
- C4 เป็นกระดูกคอข้อที่สี่นับจากบนสุด ทำหน้าที่เหมือนกับกระดูกคอข้อที่สาม และช่วยในการเคลื่อนไหวของคอ
- C5 เป็นกระดูกคอข้อที่ห้านับจากบนสุด มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณไหล่และแขนส่วนบน
- C6 เป็นกระดูกคอข้อที่หกนับจากบนสุด มีส่วนในการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณแขนทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
- C7 หรือ Vertebra Prominens เป็นกระดูกคอข้อล่างสุด มีหน้าที่ช่วยรับน้ำหนักของศรีษะและคอ
นอกจากกระดูกคอทั้งเจ็ดที่เป็นส่วนสำคัญ ยังมีอวัยวะส่วนอื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับบริเวณคอ เช่น กล้ามเนื้อ ช่วยประคองโครงสร้างกระดูกคอ และช่วยในการเคลื่อนไหวของศรีษะ รวมถึงเส้นเอ็น เส้นประสาท ไขสันหลัง และหมอนรองกระดูก โดยหมอนรองกระดูกจะอยู่คั่นระหว่างแต่ละข้อของกระดูกคอและกระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ มีหน้าที่ช่วยปกป้องกระดูกผ่านการดูดซับแรงกระแทก
“อาการปวดคอ” มักเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ?
อาการที่ทำให้คอเกิดความเจ็บปวด เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาทิ
- การยอก (Strain) เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อบริเวณคอผิดปกติ เช่น ใช้ผิดท่า หรือใช้มากเกินไป จนเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ รวมถึงการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณคอ
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน อาจเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณคอรุนแรง ตลอดจนการไอหรือจามแรง ๆ รวมถึงการใช้ท่าทางคอที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
- การอักเสบของข้อต่อจากสภาวะเสื่อม มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีประวัติอุบัติเหตุต่อกระดูกข้อต่อมาก่อน ผู้ป่วยจะมีอาการเคลื่อนไหวของคอลดลง อาจพบว่ามีอาการปวดร้าวบริเวณแขน เนื่องจากมีกระดูกงอกไปเบียดรากประสาทบริเวณใกล้เคียง
- การเกิดอุบัติเหตุที่คอ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การเล่นกีฬา ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณต้นคอมีการยึดหรือฉีกขาด
เมื่อมีอาการปวดคอ…ควรปฏิบัติอย่างไรในเบื้องต้น ?
กรณีที่ประสบกับอาการปวดคอ เบื้องต้นให้ทดลองนอนพัก เพื่อลดการทำงานของคอ โดยอาจใช้หมอนใบเล็ก ๆ รองใต้บริเวณคอร่วมด้วย อีกหนึ่งวิธีคือ ให้ลองประคบน้ำแข็งที่บริเวณคอ เพื่อลดอาการปวด ส่วนการรับประทานยา ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ โดยกินเพื่อช่วยลดอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อหรือข้อต่อ
สังเกตอาการปวดคอแบบไหน ที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการปวด คอ บ่า หรือไหล่ เป็นเวลานานผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการปวดคอต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยว่าอาการปวดคอดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอะไร
ทั้งนี้ แม้อาการการปวดคอจะรักษาทางยาและการทำกายภาพบำบัดได้ แต่บางกรณีผู้ป่วยอาจจะไม่ทราบว่าอาการที่เป็นอาจมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางรายแม้อาการที่พบไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ อาทิ อาการหมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท
กรณีเหล่านี้ ควรให้แพทย์ทำการตรวจอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษาทันถ่วงที ไม่ให้อาการลุกลามจนส่งผลร้ายต่อร่างกายมากขึ้น
4 โรคยอดฮิตที่เกิดกับ “คอ”
- โรคกระดูกคอเสื่อม เกิดจากการสึกหรอของกระดูกคอ ปัจจัยหลักมาจากความเสื่อมตามวัย รวมถึงการมีอิริยาบถที่ไม่ดี อาการที่พบ มักปวดคอ บ่า ไหล่ ท้ายทอย เส้นคอตึง ขยับคอลำบาก เวียนหัว ปวดหัว
- โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท เป็นสภาวะที่เส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับจนเกิดอาการผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการปวดร้าวลงแขน ไหล่ชา แขนชา มือชา แขนอ่อนแรง
- โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับไขสันหลัง เป็นสภาวะที่ไขสันหลังบริเวณคอถูกกดทับจนเกิดอาการผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงแขนหรือขา ไหล่ชา แขนชา มือชา ขาชา แขนหรือขาอ่อนแรง ทรงตัวลำบาก
- โรคช่องกระดูกสันหลังส่วนคอตีบแคบ เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและกระดูกคอ ทำให้เกิดพังผืดและกระดูกงอกไปบีบรัดบริเวณเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงแขน ไหล่ชา แขนชา มือชา แขนอ่อนแรง
4 “ไม่” ช่วยดูแลคอ
- ”ไม่ก้ม” หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการก้มเล่นมือถือบ่อย ๆ รวมทั้งนั่งจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น
- ”ไม่เสี่ยง” หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่คอ เช่น การเล่นกีฬา ควรใส่อุปกรณ์ที่เหมาะสมขณะเล่นกีฬา และยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายเสมอ
- ”ไม่เกิน” ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้หนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ มีความเสี่ยงต่ออาการปวดคอบ่าไหล่เรื้อรัง รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกคอเพิ่มขึ้น
- ”ไม่สูบ” งานวิจัยปัจจุบันพบว่า สารพิษในควันบุหรี่ มีผลทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้นเช่นกัน
การกินอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ อาทิ นมวัว โยเกิร์ต ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย สามารถช่วยเลี่ยงภาวะโรคกระดูกพรุนได้ รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง และยืดหยุ่นได้ดีขึ้น
“คอ” เป็นอวัยวะสำคัญที่ส่งผลต่อร่างกายโดยรวม สุขภาพคอแข็งแรง คุณภาพชีวิตก็จะดีเช่นกัน...
แหล่งข้อมูล
- www.phyathai.com
- www.rama.mahidol.ac.th
- www.thairheumatology.org