ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนดูแลสุขภาพกาย-สุขภาพจิตให้สมดุล พร้อม 4 ทริกคลายเครียด


วันสำคัญ

10 ต.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ชวนดูแลสุขภาพกาย-สุขภาพจิตให้สมดุล พร้อม 4 ทริกคลายเครียด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1698

ชวนดูแลสุขภาพกาย-สุขภาพจิตให้สมดุล พร้อม 4 ทริกคลายเครียด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day : WMHDAY) ตรงกับ 10 ต.ค. ของทุกปี เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และป้องกันรวมทั้งบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech อยากให้ทุกคนใส่ใจในเรื่องนี้ทั้งกับตัวเองและคนที่คุณรักมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน จึงขอนำการดูแลสุขภาพกายและใจให้สมดุล พร้อม 4 ทริกคลายเครียดในชีวิตประจำวัน นำมาเป็นความรู้นำไปปรับใช้เพื่อดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง

วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day : WMHDAY)

รู้จักการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้สมดุล

ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนเรามีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการที่ร่างกายและจิตใจ (สุขภาพจิต) เสียสมดุล โดยมีปัจจัยจากสภาพแวดล้อม มลพิษ สารเคมี ฝุ่นละอองและเชื้อโรค รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีความเร่งรีบ แข่งขัน ทำให้เกิดผลต่อจิตใจ (สุขภาพจิต) เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า แม้ว่าธรรมชาติร่างกายของเราจะมีกลไกในการปกป้องและรักษาตนเองจากการเจ็บป่วยได้ แต่การรักษาสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้เซลล์และอวัยวะภายในร่างกายมีความสมบูรณ์ แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

หากเครียดมาก ๆ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ นพ.ลัญฉศักดิ์ อรรฆยากร จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความรู้ว่า ฮอร์โมนความเครียดจะสูงขึ้น การทำงานของระบบฮอร์โมนอื่น ๆ ก็กระทบกระเทือนไปด้วย เช่น มีผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เป็นสิวเรื้อรัง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น อารมณ์ปรวนแปร อ่อนเพลียไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจเกิดอาการซึมเศร้า มีความคิดทำร้ายร่างกายตนเองและคิดฆ่าตัวตายได้

หลายคนเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ก็จะรักษาไปตามอาการ โดยการรับประทานยา เมื่อหายแล้วสักพักก็เกิดอาการขึ้นซ้ำอีก เมื่อหากร่างกายหายเป็นปกติสมบูรณ์แล้ว แต่จิตใจยังมีปัญหาอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไขเรื่องความไม่สมดุล ก็ทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นอีก แต่เมื่อใดที่ร่างกายและจิตใจ (สุขภาพจิต) มีความสมดุล ระบบต่าง ๆ ของร่างกายก็กระตุ้นให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ อาการผิดปกติจะดีขึ้นและสามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอแนะนำวิธีการสร้างสมดุลด้านจิตใจและร่างกาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยมีหลัก 5 ข้อ ดังนี้

1. หมั่นออกกำลังกาย

เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ เพราะจะช่วยทำให้หัวใจและปอดแข็งแรง เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ช่วยลดคอเรสเตอรอล ทำให้โอกาสเส้นเลือดอุดตันลดลง ส่งผลดีต่อระบบการย่อยและการขับถ่าย ทั้งยังช่วยให้นอนหลับสนิทอีกด้วย

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ไม่ควรกินอาหารที่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป แต่ถ้าเมื่อไรที่ร่างกายและอวัยวะภายในมีความร้อน อาหารที่มีฤทธิ์เย็นช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้เป็นปกติได้ คือ ผักบุ้ง ตำลึง ผักหวาน แตงกวา ฟัก และหัวปลี ส่วนผลไม้ควรเป็นประเภท มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป ส้มโอ กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร กระท้อน แอปเปิ้ล น้ำมะพร้าว และลูกพรุน เป็นต้น

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

เพราะการอดนอนทำให้ระบบการเผาผลาญในร่างกายไม่ดี ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ เกิดการติดขัดของเมตาโบลิซึม และส่งผลต่อด้านอารมณ์และจิตใจได้

attractive-beautiful-asian-friends-women-using-smartphone

4. เสริมสร้างจิตใจ (สุขภาพจิต) ให้แข็งแรง

โดยการฝึกทักษะการผ่อนคลาย ดูแลจิตใจเพื่อรับมือกับความเครียดอย่างสม่ำเสมอ หยุดคิดเรื่องเครียดต่าง ๆ หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นกีฬา ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว

5. คอยสังเกตดูแลเอาใจใส่ตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ

ว่าอยู่ในภาวะสมดุลหรือไม่ ทำอะไรเกินหรือขาดไปบ้าง ให้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจ เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรปรับตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาวะสมดุลอย่างไร

fresh-yellow-cute-floral-park

4 ทริกคลายเครียดในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้สมดุล  

เพราะปัจจุบันปัญหาต่าง ๆ เช่น ค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจฝืดเคือง พากันประเดประดังถาโถมเข้ามา อาจทำให้มีอาการ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่ค่อยอิ่ม หงุดหงิด สับสน คิดอะไรไม่ออก เบื่อหน่าย โมโหง่าย บางครั้งพาลทะเลาะวิวาทกับคนใกล้ชิด ซึมเศร้า เสียสุขภาพจิต ไม่อยากพูดจากับใครได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

1. คิดอย่างไรไม่ให้เครียด

ยอมรับว่ามีปัญหาและปัญหาเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่ามีหรือจน ฝึกกำลังใจ ถือว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการท้าทายความมั่นคงของจิตใจ (สุขภาพจิต) คิดว่าไม่มีความทุกข์ใดที่มนุษย์ทนไม่ได้ คิดถึงสิ่งดี ๆ ในชีวิตที่มีอยู่ เช่น คุณค่า และความสามารถของตนเอง ครอบครัวที่อบอุ่นลูกหลานที่น่ารัก เป็นต้น มีความหวังว่า เมื่อได้พยายามแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถแล้ว ย่อมนำพาชีวิตให้พบความสุขได้อีกครั้งหนึ่ง

2. เผชิญกับความเป็นจริงและคิดหาทางออก

โดยครอบครัวต้องมีเวลาให้กัน รับฟังทุกข์สุขของกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความสุขด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกโอกาสที่ทำได้ ในที่ทำงานผู้ร่วมงานต้องหันหน้าปรึกษาหารือกันช่วยเหลือกัน และเป็นกำลังใจให้กัน พึงระลึกว่าปัญหาทุกปัญหามีทางออกเสมอ ถ้าใจสู้และร่วมมือร่วมแรงกัน ย่อมเอาชนะปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน

ผู้หญิง 2 คน กำลังชื่นชมธรรมชาติ

3. ผ่อนคลายความเครียดทุกวัน

ความเครียดในการทำงานเกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้น การผ่อนคลายความเครียดจะต้องทำเป็นประจำทุกวันเช่นกัน

     - การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬากับเพื่อน ๆ หลังเลิกงาน
     - ไปเสริมสวย หรือไปช้อปปิง
     - ไปพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารกับเพื่อนฝูง ครอบครัวหรือคนสนิท
     - ดูละคร โทรทัศน์ ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง
     - เล่นกับลูก ๆ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง
     - รดน้ำต้นไม้ ดูแลไม้ดอกไม้ประดับ
     - ทำงานฝีมือ เย็บปัก ถัก ร้อย
     - ซ่อมแซมของใช้ในบ้าน จัดตกแต่งบ้าน ทำความสะอาด
     - อ่านหนังสือการ์ตูน หนังสือธรรมะ ฯลฯ
     - สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิโดยการทำใจให้สงบ หายใจเข้าออกเป็นจังหวะช้า ๆ และนับลมหายใจไปเรื่อย ๆ

4. อย่าเก็บความทุกข์ไว้ในใจ ควรระบายความทุกข์ และขอความช่วยเหลือ

โดยการปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด เช่น คู่สมรส เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ญาติ ใช้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ของกรมสุขภาพจิต หรือหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ เช่น ศูนย์ฮอตไลน์ สะมาริตันส์ เป็นต้น หากรู้สึกมีอาการเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังไม่ควรอยู่ตามลำพัง ควรรีบไปรับการรักษาจากแพทย์เป็นการด่วน โทร. 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ www.dmh.go.th


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลมนารมย์, กรมสุขภาพจิต

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันสุขภาพจิตโลกสุขภาพจิตWorld Mental Health DayWMHDAYวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech วันนี้ในอดีตวันสำคัญThai PBS On This Day
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด