ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เมื่อ "เหยื่อ" เลือกเชื่อ "โจร" หลอกรักออนไลน์จึงแก้ยาก


Verify

10 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

เมื่อ "เหยื่อ" เลือกเชื่อ "โจร" หลอกรักออนไลน์จึงแก้ยาก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1697

เมื่อ "เหยื่อ" เลือกเชื่อ "โจร" หลอกรักออนไลน์จึงแก้ยาก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

"โรแมนซ์สแกม" แก้ยาก เหตุ "เหยื่อ" เลือก "โจร"

พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ระบุถึงปัญหาหลักของการหลอกลวงออนไลน์ ที่พบว่าปัญหาที่รุนแรงและแก้ไขได้ยากในขณะนี้ คือเรื่องของ “โรแมนซ์สแกม” เพราะเป็นสิ่งที่เมื่อเหยื่อหลงเชื่อแล้ว จะทำให้เหยื่อเลิกเชื่อได้ยาก 

พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ที่ผ่านมาพบว่า หลายเคสแม้จะมีการเข้ามาปรึกษา แต่เมื่อกลับไปก็ยังคงหลงเชื่อมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รักเช่นเดิม ซึ่งเคสเหล่านี้ แม้จะมีการนำรูปภาพของผู้ที่ถูกสวมรอยบุคคลในต่างประเทศมายืนยันกับเหยื่อ ก็ไม่สามารถทำให้เหยื่อเชื่อคำพูดของเจ้าหน้าที่ได้ โดยเหยื่อของโรแมนซ์สแกมพบว่ามีหลายวัย ซึ่งเหยื่อที่ สกมช. กำลังให้การช่วยเหลืออยู่ในปัจจุบัน พบว่ามีอายุถึง 70 ปี ที่ผ่านมาโอนเงินไปให้กับมิจฉาชีพแล้วถึง 34 ล้านบาท และกำลังจะขายบ้านเพื่อนำเงินไปให้อีก 5 ล้านบาท และปัญหาที่จะตามมา ซึ่งจะเกิดกับภาครัฐคือ เมื่อเหยื่อเหล่านี้รู้สึกตัว หรือถูกหลอกจนหมดตัว ก็จะมีการโทษว่ารัฐไม่ช่วยเหลือ ซึ่งยอดค่าเสียหายของโรแมนซ์สแกม ถือเป็นยอดที่สูงมากและเป็นเงินส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 60,000 ล้านบาท ที่คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกในปัจจุบัน

ปราบบัญชีม้า ส่งผลคนร้ายหันใช้บัญชีออนไลน์

นอกจากนี้ สกมช. ยังพบว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการใช้ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ขึ้นมาทดแทนการใช้บัญชีม้า เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย มีการกวาดล้างบัญชีม้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้ที่เคยเป็นบัญชีม้า เริ่มไม่สามารถเปิดบัญชีใหม่ได้ 

ล่าสุดพบการใช้แอปพลิเคชันที่ให้บริการทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งบริการดังกล่าวจะสามารถถอนเงินจากบัญชี wallet และการตรวจสอบก็มีไม่เพียงพอ เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนก็สามารถที่จะสมัครใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ แต่แอปพลิเคชันดังกล่าว ยังคงมีข้อจำกัด ตรงที่ไม่สามารถถอนเงินได้เร็วเท่าธนาคาร คือสามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้วันละ 1 ครั้งเพียงเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหาทางเข้ามาจัดการเพย์เม้นท์แพลตฟอร์มเหล่านี้ต่อไป

"หลอกลงทุน" ยอดเสียหายสูงสุด

อย่างไรก็ตามสำหรับความเสียหายที่ถือว่ามากที่สุดที่พบในขณะนี้ คือเรื่องของการหลอกลงทุน เพราะยอดของความเสียหายจำนวน 60,000 ล้านบาทนั้น พบว่ามีจำนวนถึง 25,000 ล้านบาท จากจำนวนเหยื่อเพียงหลักพันคน ที่เป็นเหยื่อของการถูกหลอกลงทุน 

เหยื่อมักถูกหลอกเนื่องมาจากความโลภ โดยคนร้ายมักจะให้ผลตอบแทนในช่วงแรก เช่น ลงทุน 100,000 บาท ก็จะได้รับเงินตอบแทน 120,000 บาท ภายในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้ผู้เสียหายเกิดความโลภ 

และผู้เสียหายเหล่านี้มักเลือกที่จะไม่บอกใคร แต่จะมาบอกในวันที่รู้ตัวเมื่อถูกหลอก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็มักจะไม่สามารถนำเงินกลับคืนมาได้ เนื่องจากระยะเวลาที่ถูกหลอกส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลานานเป็นเดือน

รู้ตัวก็สายเกิน - เสียดายเงินจนถูกหลอกซ้ำ

และแม้ว่าเหยื่อใกล้ที่จะรู้ตัว หรือต้องการที่จะถอนเงิน คนร้ายมักจะใช้อุบายว่า จำเป็นจะต้องเสียภาษีเพิ่มเพื่อนำเงินที่ลงทุนไว้กลับคืนมา

เหยื่อส่วนใหญ่เสียดายเงินที่ลงทุนไป จึงเลือกจ่ายเงินเพิ่มอีกนิด เพื่อหวังนำเงินที่เสียไปออกมา แต่กลับกลายเป็นการถูกหลอกซ้ำ 

และการตามเงินกลับมาก็เป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อติดตามเส้นทางการเงินไปแล้วมักพบว่า ปลายทางของบัญชีม้ามีการนำเงินไปซื้อเป็นคริปโทเคอร์เรนซีเรียบร้อยแล้ว และแม้ว่าจะมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายมาก็ตาม ก็เป็นเรื่องยากที่จะนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายได้ทั้งหมด เพราะคนร้ายที่จับได้บางส่วนก็นำเงินไปใช้ที่ที่อื่นแล้ว ซึ่งหากนำมาเฉลี่ยในบรรดาผู้เสียหาย ก็จะทำให้ได้เงินชดเชยไม่มากเท่าใดนัก 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หลอกกดลิงก์หลอกคุยหลอกผู้สูงอายุหลอกลงทะเบียนหลอกลงทุนข่าวปลอมดูดเงินหลอกลวง
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด