สสส. - โคแฟค เสวนาการรับมือมิจฉาชีพออนไลน์ หลังพบคนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ เฉพาะปี 67 ถูกหลอกกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่ "โรแมนซ์สแกม" ระบาดหนัก เหตุ "เหยื่อ" เลือกเชื่อ "โจร"
วงเสวนายกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุค "ดีพเฟค" ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย มาร่วมถ่ายทอดปัญหา และหาทางออกด้านการรับมือและป้องกันภัยมิจฉาชีพการเงินออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาพรัฐและเอกชน ได้แก่ นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นาย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค และนางสาว สุวิตา จรัญวงค์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เทลสกอร์ จำกัด

คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก We Are Social ดิจิทัลเอเจนซีระดับโลก ระบุว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 63 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 88 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ 10 ปี และมีผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียมากกว่า 49 ล้านคน หรือราวร้อยละ 68.3 ทำให้เป็นโอกาสทองของมิจฉาชีพ ที่สามารถเข้าถึงตัวได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 โดย สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์ และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน โดยผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 22 สาเหตุมาจากผู้สูงอายุไม่เข้าใจกลโกงเหล่านี้ จึงสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง

แค่ปี 67 ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 400,000 ราย
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 พบว่า ประชาชนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 ราย มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 60,000 ล้านบาท สูงสุด 3 ประเภทที่มักโดนหลอก ได้แก่ 1.ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการร้อยละ 41.94 , 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานร้อยละ 12.85 , 3.หลอกให้กู้เงินร้อยละ 10.95 ซึ่งที่ผ่านมาทาง ธปท.และสถาบันการเงินได้ยกระดับการป้องกันภัยออนไลน์ผ่านมาตรการต่าง ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรมในแก้ปัญหาให้รวดเร็ว รัดกุม และมีความเท่าทันภัยการเงินที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนตื่นตัวและรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ

"โรแมนซ์สแกม" แก้ยาก เหตุ "เหยื่อ" เลือก "โจร"
ด้าน พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ระบุถึงปัญหาหลักของการหลอกลวงออนไลน์ ที่พบว่าปัญหาที่รุนแรงและแก้ไขได้ยากในขณะนี้ คือเรื่องของ “โรแมนซ์สแกม” เพราะเป็นสิ่งที่เมื่อเหยื่อหลงเชื่อแล้ว จะทำให้เหยื่อเลิกเชื่อได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า หลายเคสแม้จะมีการเข้ามาปรึกษา แต่เมื่อกลับไปก็ยังคงหลงเชื่อมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รักเช่นเดิม ซึ่งเคสเหล่านี้ แม้จะมีการนำรูปภาพของผู้ที่ถูกสวมรอยบุคคลในต่างประเทศมายืนยันกับเหยื่อ ก็ไม่สามารถทำให้เหยื่อเชื่อคำพูดของเจ้าหน้าที่ได้ โดยเหยื่อของโรแมนซ์สแกมพบว่ามีหลายวัย ซึ่งเหยื่อที่ สกมช. กำลังให้การช่วยเหลืออยู่ในปัจจุบัน พบว่ามีอายุถึง 70 ปี ที่ผ่านมาโอนเงินไปให้กับมิจฉาชีพแล้วถึง 34 ล้านบาท และกำลังจะขายบ้านเพื่อนำเงินไปให้อีก 5 ล้านบาท และปัญหาที่จะตามมา ซึ่งจะเกิดกับภาครัฐคือ เมื่อเหยื่อเหล่านี้รู้สึกตัว หรือถูกหลอกจนหมดตัว ก็จะมีการโทษว่ารัฐไม่ช่วยเหลือ ซึ่งยอดค่าเสียหายของโรแมนซ์สแกม ถือเป็นยอดที่สูงมากและเป็นเงินส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 60,000 ล้านบาท ที่คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกในปัจจุบัน

ปราบบัญชีม้า ส่งผลคนร้ายหันใช้บัญชีออนไลน์
นอกจากนี้ สกมช. ยังพบว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการใช้ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ขึ้นมาทดแทนการใช้บัญชีม้า เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย มีการกวาดล้างบัญชีม้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้ที่เคยเป็นบัญชีม้า เริ่มไม่สามารถเปิดบัญชีใหม่ได้ ซึ่งล่าสุดพบการใช้แอปพลิเคชันที่ให้บริการทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งบริการดังกล่าวจะสามารถถอนเงินจากบัญชี wallet และการตรวจสอบก็มีไม่เพียงพอ เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนก็สามารถที่จะสมัครใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ แต่แอปพลิเคชันดังกล่าว ยังคงมีข้อจำกัด ตรงที่ไม่สามารถถอนเงินได้เร็วเท่าธนาคาร คือสามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้วันละ 1 ครั้งเพียงเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังหาทางเข้ามาจัดการเพย์เม้นท์แพลตฟอร์มเหล่านี้ต่อไป