อย่าเชื่อ! ภาพชาวประมงปาปัวจับสัตว์ทะเลประหลาด


Verify

8 ต.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

อย่าเชื่อ! ภาพชาวประมงปาปัวจับสัตว์ทะเลประหลาด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1687

อย่าเชื่อ! ภาพชาวประมงปาปัวจับสัตว์ทะเลประหลาด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ภาพ 'ชาวประมงปาปัวจับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน' ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ภาพสัตว์รูปร่างคล้ายกับ แอกโซลอเติล หรือคนไทยเรียกว่า ปลาตีนเม็กซิโก ซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก หลังมีเพจเฟซบุ๊กอ้างว่า เป็นภาพของชาวประมงชาวปาปัว ที่จับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตัวนี้ขึ้นมาได้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) กล่าวว่าภาพของแอกโซลอเติลขนาดยักษ์นั้น ถูกสร้างจากเอไออย่างชัดเจน โดยภาพนี้ถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก พร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จว่า เป็นภาพของสิ่งมีชีวิตที่ชาวประมงปาปัวจับได้จากท้องทะเล อย่างไรก็ตาม AFP พบว่าภาพต้นฉบับนั้นถูกเผยแพร่โดยเพจเฟซบุ๊กที่ใช้เอไอในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมถึงยังพบองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติอีกหลายจุดด้วย

"ชาวประมงปาปัวจับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน #สัตว์ทะเล #ใหม่ #ปลา" โพสต์เฟซบุ๊กระบุคำบรรยายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์บนเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 268,000 บัญชี โดยรูปภาพทั้ง 3 รูปในโพสต์แสดงให้เห็นสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายแอกโซลอเติลที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่ามนุษย์

รูปเหล่านี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางพร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในภาษาต่าง ๆ รวมถึงภาษาอังกฤษ  อินโดนีเซีย  เวียดนาม และตุรกี

อย่างไรก็ตาม AFP พบว่าภาพต้นฉบับนั้นถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นครั้งแรกในบัญชีผู้ใช้งานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการสร้างภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์

เพจเอไอ

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบว่าภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดยมีข้อความกำกับโพสต์ว่า "AI info" ซึ่งเป็นวิธีที่เมตา (Meta) ซึ่งเป็นชื่อบริษัทของเฟซบุ๊ก ใช้ระบุภาพที่สร้างโดยเอไอเพื่อลดความเข้าใจผิดในผู้ใช้งาน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

รูปทั้งสามถูกแชร์บนเพจของบัญชีผู้ใช้งานชื่อ "Astral Infernum Productions" ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตงานภาพเคลื่อนไหวโดยใช้เอไอเป็นเครื่องมือช่วย และผลิตแฟนอาร์ตโดยใช้การผสมผสานเทคนิคของ "เอไอ สเก็ตช์ (Sketches) และโฟโตชอป (Photoshop)" (ลิงก์บันทึก)

บัญชีดังกล่าวได้พิมพ์ตอบความคิดเห็นที่ตั้งคำถามว่าภาพดังกล่าวจริงหรือไม่ว่า "นี่คือเพจเอไอ" และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "ต่อไปจะใส่ลายน้ำบนผลงาน" หลังจากทราบว่าภาพทั้งสามถูกนำไปแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จ

นอกจากนี้ AFP พบว่ามีการแชร์โพสต์ภาพเคลื่อนไหวของแอกโซลอเติลขนาดยักษ์ที่ตรงกันกับรูปภาพก่อนหน้าในรูปแบบวิดีโอ ทั้งบนเพจเฟซบุ๊กและยูทูบซึ่งใช้ชื่อบัญชีเดียวกันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

องค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

ฉู่ หู หัวหน้าห้องปฏิบัติการกระบวนการเรียนรู้จากข้อมูล (machine learning) และนิติวิทยาศาสตร์สื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าภาพเหล่านี้มีลักษณะหลายจุดที่ชี้ว่าเป็นภาพที่สร้างจากเอไอ (ลิงก์บันทึก)

"ชัดเจนมากว่าภาพพวกนี้เป็นภาพปลอม" เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567

เขาชี้ให้เห็นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติหลายจุดในภาพ อย่างเช่น ลักษณะของนิ้วเท้าและขาของสิ่งมีชีวิตในภาพมีความคล้ายคลึงกับนิ้วมือและแขนของมนุษย์เป็นอย่างมาก จำนวนนิ้วเท้าทั้งสองข้างไม่เท่ากัน พู่เหงือกสองข้างมีขนาดไม่สมมาตรกัน และขาข้างหนึ่งในภาพหายไป

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของรูปภาพต้นฉบับที่ AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นให้เห็นองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะผิดปกติ:

แม้ว่าโพสต์ดังกล่าวจะระบุว่าเป็นภาพของสัตว์ทะเลที่ถูกจับโดยชาวประมงจาก "ปาปัว" ซึ่งอาจจะหมายถึงประเทศปาปัวนิวกินี หรือจังหวัดปาปัวของอินโดนีเซีย แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของแอกโซลอเติลคือในทะเลสาบและคลองทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกเท่านั้น

แอกโซลอเติล หรือที่คนไทยอาจรู้จักในชื่อ "หมาน้ำ" หรือ "ปลาตีนเม็กซิโก" เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีขนาดเมื่อโตเต็มวัยได้ถึง 30-45 เซนติเมตร และปัจจุบันจัดอยู่ในสถานะสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต (ลิงก์บันทึก)

ขอบคุณภาพประกอบจาก : แอกโซโลเติล วิลล์ ไทย

แอกโซลอเติล ถือเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับซาลาแมนเดอร์ ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก มีคุณลักษณะพิเศษคือร่างกายสามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาทดแทนอวัยวะเดิมที่ขาดหรือเสียหายไปได้ ปัจจุบัน แอกโซลอเติล มีสถานะเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่ก็มีกลุ่มผู้รักสัตว์แปลกจำนวนหนึ่งที่เพาะพันธุ์สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ข้อมูลจาก : AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมหลอกลวงAIAI Generatedข้อมูลเท็จตรวจสอบภาพ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด