นักวิจัยพบ “Kaempferol” ฟลาโวนอยด์ชนิดใหม่จากพืช มีคุณสมบัติในการช่วยลดอาการแพ้อาหาร และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ผู้ที่มีอาการกินอาหารได้โดยไม่เกิดการแพ้
งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งโตเกียว (Tokyo University of Science) และทีมวิจัยนานาชาติ พบว่าฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Kaempferol ซึ่งพบในพืชผักและผลไม้ทั่วไป มีศักยภาพในการลดอาการแพ้อาหารและเสริมสร้างความทนทานของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารกระตุ้นภูมิแพ้
โดยผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Allergy ซึ่งเป็นวารสารวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โดยผลการวิจัยพบว่า Kaempferol เป็นสารประกอบทางธรรมชาติที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ พบได้ในผักใบเขียว ผลไม้ เช่น แอปเปิล และชาสมุนไพร
การศึกษาพบว่าสารนี้มีความสามารถในการลดการอักเสบและปรับสมดุลภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทีมวิจัยทดลองกับหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีอาการแพ้อาหาร และพบว่า Kaempferol สามารถลดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติได้อย่างมีนัยสำคัญ
นักวิจัยอธิบายว่า การแพ้อาหารเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนในอาหารทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการตั้งแต่ผื่นแพ้จนถึงอาการรุนแรงอย่าง หรือ ภาวะแอนาฟิแล็กซิส ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต Kaempferol จึงมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มระดับของเซลล์ Treg (Regulatory T cells) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เกิดการอักเสบที่เกินความจำเป็น
การค้นพบนี้ยังชี้ให้เห็นว่า Kaempferol อาจช่วยเสริมสร้างความทนทานต่อโปรตีนในอาหาร ทำให้ผู้ที่มีอาการแพ้สามารถบริโภคอาหารบางชนิดได้โดยไม่เกิดปฏิกิริยาแพ้ ทีมวิจัยยังเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของ Kaempferol ที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติและมีการบริโภคในอาหารทั่วไปอยู่แล้ว จึงมีโอกาสสูงในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยจัดการอาการแพ้
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่ายังจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว การศึกษานี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวิธีการจัดการและป้องกันอาการแพ้ที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้ยาเคมี หรือการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้เพียงอย่างเดียว
Kaempferol ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ในฐานะสารที่มีศักยภาพสูงในการบำบัดอาการแพ้ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพโดยรวม การค้นพบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวิธีการรักษาที่เน้นการใช้สารจากธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้เคมี
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: newatlas, tus, qualityassurancemag, news-medical
ที่มาภาพ: ภาพ 1
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech