พบ “แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์” อาจทำให้การตั้งถิ่นฐานยากขึ้นไปอีก


Logo Thai PBS
แชร์

พบ “แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์” อาจทำให้การตั้งถิ่นฐานยากขึ้นไปอีก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1657

พบ “แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์” อาจทำให้การตั้งถิ่นฐานยากขึ้นไปอีก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ข้อมูลเก่าจากโครงการอะพอลโลทำให้พบว่าการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ขั้วใต้ของ “ดวงจันทร์” อาจจะยากขึ้นจากปัญหาแผ่นดินไหวและดินถล่มบริเวณพื้นที่ขั้วใต้ และมันอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างถาวรและนักบินอวกาศในอนาคตได้

หลาย ๆ คนอาจนึกว่าดวงจันทร์เปรียบเสมือนกับก้อนหินที่ตายแล้ว แต่หลังจากการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหวจากเมื่อ 50 ปีก่อนในโครงการอะพอลโลทำให้เราพบว่าดวงจันทร์ก็ยังคงมีปรากฏการณ์แผ่นดินไหวให้เราเห็นอยู่เป็นครั้งคราว และมันอาจจะรุนแรงมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของยานอวกาศ อาคาร หรือภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ได้มากกว่าที่เราคิด

ภาพถ่ายของบัซ อัลดรินขณะกำลังทำการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์

ระหว่างที่โครงการอะพอลโลกำลังดำเนินอยู่เมื่อ 50 ปีก่อน นักบินอวกาศในโครงการได้ติดตั้งเครื่องตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหวบนพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้งหมด 5 ตำแหน่ง เครื่องมือเหล่านี้สามารถตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหวได้มากกว่า 13,000 ครั้งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ตัวเครื่องมือยังคงสามารถทำงานได้ แต่เหตุการณ์และรูปทรงของคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนดวงจันทร์นั้นแตกต่างจากคลื่นแผ่นดินไหวบนพื้นโลก กล่าวคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์นั้นต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงไปจนถึงหลักหลายสิบชั่วโมง พลังงานจากแรงแผ่นดินไหวจึงจะหมดลงไป ซึ่งถึงแม้ว่าพลังงานการสั่นสะเทือนส่วนใหญ่จะน้อยกว่าบนพื้นโลก แต่ด้วยระยะเวลาที่นานอาจจะส่งผลทำให้ตัวโครงสร้างอาคารหรือยานอวกาศเกิดความเครียดและรอยแตกร้าวได้

ภาพถ่ายขณะกำลังทำการอ่านค่าของคลื่นแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์หลังจากที่จรวดท่อนสุดท้ายของ Saturn V พุ่งชนพื้นผิวของดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 17 ภายใน NASA

โครงสร้างทางวิศวกรรมที่ต้องรับมือกับสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำแต่มีแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวยาวนาน เป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับงานวิศวกรรมบนพื้นโลกมาก่อน ดังนั้นโครงสร้างอาคารหรือยานอวกาศต้องออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อลดความเสียหายจากแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ได้

ณ ตอนนี้องค์ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์เรายังค่อนข้างน้อยเนื่องจากสถานีวัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์มีเพียง 5 ตำแหน่งเท่านั้น อีกทั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวทั้งหมดยังอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรและบนซีกด้านที่หันเข้าโลก แต่สำหรับภารกิจระยะยาวบนพื้นผิวของดวงจันทร์นั้นเป็นภารกิจที่ภูมิภาคขั้วใต้ของดวงจันทร์อันมีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างจากบริเวณที่ราบแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งใต้พื้นผิวมีทั้งน้ำแข็งและภูมิภาคที่เป็นภูเขาสูงชัดที่เกิดจากหลุมอุกกาบาต

ภาพกราฟิกจำลองสภาพแสงและเงาบนพื้นผิวของขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เรายังมีความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวและดินถล่มน้อยมาก

เพื่อให้เราสามารถเข้าใจเกี่ยวกับแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ให้ได้มากยิ่งขึ้นและเตรียมความพร้อมสำหรับการออกแบบอาคารบนดวงจันทร์ การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหวบนพื้นผิวของดวงจันทร์ให้มีจำนวนมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการวางแผนเพื่ออนาคต ซึ่งอาจจะมีการส่งอุปกรณ์ตรวจวัดแผ่นดินไหวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการอาร์ทีมิสมากยิ่งขึ้น เช่น ถูกติดไปพร้อมกับยานอวกาศในโครงการ CLPS หรือโครงการสำรวจดวงจันทร์อื่น ๆ

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : space

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แผ่นดินไหวแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ดวงจันทร์สำรวจดวงจันทร์อวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด