ชวนรู้จัก “เปราะอาจารย์แหม่ม” โดยเป็น “เปราะ” ชนิดใหม่ของโลก (Kaempferia chaveerachiae Saensouk, P.Saensouk & Boonma sp. nov.) จากจังหวัดสระบุรี ค้นพบโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ซึ่งทำการวิจัยพืชวงศ์ขิงอย่างต่อเนื่อง ด้วยองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ นายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอกหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
สำหรับนักวิจัยทั้งสามเป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลงานพืชชนิดใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับสนับสนุนการวิจัยนิสิตบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Horticulturae ปีที่ 10 ฉบับที่ 9
ชวนรู้จัก “เปราะอาจารย์แหม่ม”
ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร.อรุณรัตน์ ฉวีราช โดยชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งตามนามสกุลของท่าน (ฉวีราช) ส่วนชื่อสามัญตั้งตามชื่อเล่นของท่าน (อาจารย์แหม่ม) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ การศึกษาสัณฐานวิทยาพืช การศึกษาละอองเรณูพืช อนุกรมวิธานพืชและซิสเทมาติกส์ รวมถึง การศึกษาพันธุศาสตร์ของพืชและสัตว์ และมีผลงานการตีพิมพ์เกี่ยวกับการค้นพบพืชชนิดใหม่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) หลายชนิดในประเทศไทย
“เปราะอาจารย์แหม่ม” มีลักษณะเด่นคือ เหง้ามีสีเหลือง เรียงต่อกันเป็นแถวในแนวเดียวกัน (sympodial) มีใบเพียงใบเดียว ใบรูปไข่หรือรูปรีแคบ ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน โคนใบรูปหัวใจ ใบสีเขียวและมีลวดลายสีเขียวเข้มล้วนหรืออาจพบมีลายสีเขียวเข้มหรือสีดำ ใต้ใบสีเขียวอ่อน ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น 2–3 เซนติเมตร โดยใบมักหันไปทางด้านที่มีเหง้าเรียงต่อกัน ช่อดอกเกิดระหว่างกาบใบและกาบไร้ใบ มีก้านช่อดอกสั้น ใบประดับสีเขียวรูปสามเหลี่ยมแกมใบหอก ม้วนเป็นกรวย ปลายแหลม
ส่วนปลายเปิดช่องว่างเล็กน้อยสำหรับให้ดอกโผล่ขึ้นมา ก้านดอกสีขาวยาวกว่าใบประดับ ดอกมีสีขาว กลีบปากสีม่วงค่อย ๆ จางไปที่ขอบและส่วนปลายกลีบโดยมีสีขาวจากฐานกลีบไปจนถึง 1/3 ของความยาวกลีบปาก ส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ส่วนปลายของแต่ละพูเว้าเล็กน้อย กลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีขาวทำมุมเกือบตั้งฉากกับกลีบปาก เมื่อบานเต็มที่และเริ่มเหี่ยวจะค่อย ๆ โค้งงอไปด้านหลัง
ดอกจะบานพร้อมผสมในช่วงเช้า ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ในแต่ละปีจะสร้างเหง้าใหม่ 1 เหง้าต่อจากเหง้าของปีที่ผ่านมา โดยเกิดจากตาด้านข้างของเหง้าเก่าและออกดอก หลังจากที่ออกดอกแล้วระยะหนึ่งอาจจะสร้างต้นใหม่ต่อจากเหง้าใหม่ในทิศทางตรงข้ามเหง้าเก่าหรืออาจจะไม่สร้างก็ได้ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทำให้พบเหง้าเรียงต่อกันในทิศทางเดียวกัน และเนื่องจากมีช่อดอกเกิดระหว่างกาบใบจึงทำให้เปราะอาจารย์แหม่มจัดอยู่ในสกุลย่อยเปราะหอม (subgenus Kaempferia)
เปราะอาจารย์แหม่ม (Kaempferia chaveerachiae) มีดอกคล้ายกับกระชายดำ (Kaempferia parviflora Wall. ex Baker) ซึ่งจริง ๆ แล้วกระชายดำไม่ได้อยู่ในสกุลกระชาย แต่อยู่ในสกุลเปราะ หากเรียกตามชื่อสกุลแล้วกระชายดำอาจจะต้องเรียกเป็น “เปราะดำ”
อย่างไรก็ตามทั้งสองชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันหลายส่วน ที่เห็นชัดและง่ายที่สุดหากไม่พบดอกของพืชทั้งสองชนิด ลักษณะของเหง้าที่ต่างกันคือ เปราะอาจารย์แหม่มเป็นแบบเจริญจากตาข้างเพียงด้านเดียว (sympodial) และมีเหง้าขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร เนื้อในเหง้าสีเหลือง ในขณะที่กระชายดำมีเหง้าที่ติดกันคล้ายสายลูกปัด (moniliform) ขนาดของเหง้าใหญ่กว่าและเนื้อในของกระชายดำมีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลเข้ม
และอีกลักษณะที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือช่อดอกของเปราะอาจารย์แหม่มจะมีใบประดับเพียงใบเดียวม้วนแน่นเป็นกรวยปลายเปิดเล็กน้อยและบานได้ครั้งละ 1 ดอก ในขณะที่ช่อดอกกระชายดำมักพบ 2(-3) ใบประดับมีฐานเชื่อมติดกันเป็นเหมือนถ้วยที่ปลายแยกเป็นสองพูแผ่ออกจากกัน อาจพบ 1-2 ดอกพร้อมกันในวันเดียวกัน
ในขณะที่หากมองเพียงผิวเผินอาจเข้าใจผิดว่าเป็นว่านนกคุ้ม (Kaempferia elegans Wall.) เนื่องจากมีใบที่คล้ายกันมาก แต่มีดอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ว่านนกคุ้มจะมีดอกสีชมพูอมม่วงทั้งดอก และกลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน (staminodes) อยู่ในระนาบเดียวกับกลีบปาก ในขณะที่เปราะอาจารย์แหม่มมีดอกสีขาวกลีบปากสีม่วงและกลีบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเกือบตั้งฉากกับกลีบปาก หากเปราะอาจารย์แหม่มถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกับว่านนกคุ้ม อาจทำให้สถานะการอนุรักษ์ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง
เนื่องจาก “ว่านนกคุ้ม” มีจำนวนประชากรในธรรมชาติที่มากและขอบเขตการกระจายพันธุ์กว้าง จึงมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่ำ ความเข้าใจผิดนี้อาจส่งผลเสียโดยตรงต่อการจัดการประชากรและการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของ “เปราะอาจารย์แหม่ม” เพราะพืชที่มีความเสี่ยงสูงอาจไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม เปราะอาจารย์แหม่ม จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความสำคัญของการระบุชนิดพืชอย่างถูกต้อง
เพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและสนับสนุนการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันพบ “เปราะอาจารย์แหม่ม” ในพื้นที่ภูเขาหินปูนติดกับพื้นที่ไร่มันสำปะหลัง ใต้ร่มเงาของกอไผ่และไม้ผลัดใบ เติบโตในดินสีน้ำตาลดำและร่วน ผสมกับหินปูนสีเทา พบจำนวนประชากรน้อยกว่า 100 ต้น กระจายอยู่ในพื้นที่อาศัยน้อยกว่า 1 ตารางกิโลเมตรในเขตพื้นที่จังหวัดสระบุรีเท่านั้น
จึงทำให้นอกจากจะเป็นพืชหายาก ยังมีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) ของไทยด้วย คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้มีสถานะการอนุรักษ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critical Endangered: CR B2ab(ii,iv,v), C2(ii), D1) เพื่อปกป้องพืชชนิดใหม่นี้และถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติจนกว่าจะมีการค้นพบจำนวนประชากรและขอบเขตการกระจายพันธุ์เพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะการอนุรักษ์ให้เหมาะสมต่อไป
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Boonma, T.; Saensouk, S.; Saensouk, P. Biogeography, Conservation Status, and Traditional Uses of Zingiberaceae in Saraburi Province, Thailand, with Kaempferia chaveerachiae sp. nov. Horticulturae 2024, 10, 934. doi.org
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech