รู้จัก EMAS ระบบป้องกันเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่ง


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก EMAS ระบบป้องกันเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่ง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1631

รู้จัก EMAS ระบบป้องกันเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่ง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ท่าอากาศยานขนาดใหญ่ในปัจจุบันหลายแห่งมักเคยเป็นท่าอากาศยานขนาดเล็กมาก่อน ก่อนที่จะเริ่มถูกล้อมรอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ หรือแม้แต่พื้นที่อยู่อาศัยของผู้คน นี่ทำให้ถึงจุดจุดหนึ่ง การขยายท่าอากาศยาน โดยเฉพาะความยาวของทางวิ่ง (Runway) ทำได้ยากขึ้น มาตรฐานความปลอดภัยของทางวิ่งนั้นถูกแก้ไขและปรับปรุงเรื่อยมาจากเหตุการณ์เครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่ง (Runway Excursion) ซึ่งมักจะชนเข้ากับสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ทำให้เกิดความสูญเสียทางภาคพื้นด้วย เป็นเหตุให้มีการเพิ่มพื้นที่ที่เรียกว่า “Runway Safety Area” ขึ้นมาเป็นมาตรฐานในทางการเดินอากาศใหม่

Runway Safety Area นั้นเป็นเขตรอบ ๆ ทางวิ่งยาวออกไปประมาณ 150 - 300 เมตร ภายในเขตนี้จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ เลย เพื่อลดโอกาสที่เครื่องบินจะชนเข้ากับสิ่งกีดขวาง และหากเครื่องบินไถลออกจากทางวิ่งก็จะมีระยะความปลอดภัยที่เครื่องบินอาจหยุดได้ก่อนที่จะชนเข้ากับสิ่งกีดขวาง

อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานจำนวนมากไม่สามารถตั้งเขต Runway Safety Area ได้เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ทำให้จะต้องมีวิธีอื่นในการป้องกันความเสียหายจากการไถลออกนอกทางวิ่งของเครื่องบิน ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า “EMAS” หรือ “Engineered Materials Arrestor System”

แผนภาพแสดง Runway Safety Area รอบ ๆ ทางวิ่งเพื่อป้องกันการชนเข้ากับสิ่งกีดขวางของเครื่องบิน

ในภาพนี้จะเห็นได้ว่า Runway Safety Area คือ พื้นที่ความปลอดภัยที่ยื่นออกมาจากตัวทางวิ่งเองประมาณหนึ่ง และที่ท้ายทางวิ่งก็จะมีส่วนหนึ่งยื่นออกมาจากตัวทางวิ่งปกติ อย่างไรก็ตาม Runway Safety Area จะไม่ถูกใช้งานในการเดินอากาศปกติ และมีไว้เพื่อเป็น “Safety Margin” หรือมีไว้เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น

แผนผังแสดงโครงสร้างของระบบ EMAS สำหรับการหยุดเครื่องบินที่ไถลออกนอกทางวิ่ง

แต่อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ทุกท่าอากาศยานสามารถเพิ่ม Runway Safety Area ได้ จึงจะต้องมีวิธีอื่นในการป้องกันการไถลออกนอกทางวิ่งของเครื่องบิน ระบบ EMAS ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้เครื่องบินสามารถหยุดได้ก่อนที่จะไถลออกจากทางวิ่งหรือเขตท่าอากาศยานโดยสมบูรณ์ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อเบรกเครื่องบินไม่สามารถใช้การได้

EMAS นั้นมักจะเป็นก้อนคอนกรีตขนาดใหญ่หลายก้อนซึ่งถูกวางไว้บริเวณส่วนท้ายของทางวิ่ง เมื่อเครื่องบินไม่สามารถชะลอความเร็วจนหยุดสนิทได้ทันและวิ่งขึ้นก้อนคอนกรีตเหล่านี้ น้ำหนักของเครื่องบินจะบดขยี้ก้อนคอนกรีตเหล่านี้เป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งถือเป็นการดูดซับพลังงานและทำให้เครื่องบินลดความเร็วลงจนหยุดสนิท

ภาพแสดงล้อของเครื่องบินซึ่งจมอยู่ในกองคอนกรีต EMAS หลังจากไถลออกนอกทางวิ่ง

ในภาพนี้จะเห็นได้ว่าล้อของเครื่องบินนั้นจมลงไปในก้อนคอนกรีต ซึ่งเป็นไปตามการออกแบบระบบ EMAS ที่ออกแบบมาให้ถูกบดขยี้โดยน้ำหนักของเครื่องบินและความเร็วของเครื่องบิน เพื่อดูดซับพลังงานและช่วยให้เครื่องบินหยุดก่อนที่จะไถลออกนอกทางวิ่งซึ่งมีความอันตรายกว่า แน่นอนว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นกับล้อของเครื่องบิน แต่ก็คุ้มค่ากว่าการไถลออกนอกทางวิ่งโดยสิ้นเชิงซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งเครื่องบินและผู้โดยสาร

ภาพของระบบ EMAS ขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ระบบ EMAS ส่วนใหญ่นั้นมีความสามารถในการหยุดเครื่องบินที่กำลังจะไถลออกนอกทางวิ่งที่ความเร็ว 40-80 knots ได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นได้เมื่อเครื่องบินลงจอดโดยมีระยะในการเบรกไม่พอหรือเบรกเสียหาย หน่วยงานควบคุมการบินพลเรือนของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า หากนักบินทราบว่าเครื่องบินไม่สามารถเบรกภายในระยะของทางวิ่งได้ทัน ให้บังคับเครื่องบินให้พุ่งเข้าไปที่ระบบ EMAS ท้ายทางวิ่งเลย ซึ่งมีโอกาสที่จะหยุดเครื่องบินไว้ได้ก่อนที่จะไถลออกนอกทางวิ่ง

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

EMASเครื่องบินไถลออกนอกทางวิ่งเครื่องบินไถลRunway ExcursionRunway Safety AreaEngineered Materials Arrestor Systemเครื่องบินเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด