“วันตระหนักถึงการใช้ยาเกินขนาดสากล” (International Overdose Awareness Day) ตรงกับวันที่ 31 ส.ค. ของทุกปี เพื่อมุ่งเน้นลดจำนวนผู้เสียชีวิตและการบาดเจ็บถาวรซึ่งเกิดจากการ “ใช้ยาเกินขนาด” Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงอยากเตือนภัยการกินยาใกล้ตัวอย่าง “ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) ว่า หากกินเกินขนาด ก็อาจส่งผลถึงชีวิตของเราได้
รู้จัก “ยาพาราเซตามอล”
“ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “อะเซตามีโนเฟน” (Acetaminophen) เป็นตัวยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวด ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลาง เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดประจำเดือน และบางครั้งยังสามารถใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ยาพาราเซตามอลถูกจัดให้เป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและเป็นตัวยาที่ไม่อันตราย มีให้เลือกใช้หลายรูปแบบทั้งยาพาราเซตามอลชนิดเม็ด แคปซูล ยาน้ำ ยาเหน็บ
กลไกการออกฤทธิ์ของ “ยาพาราเซตามอล”
“ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) ออกฤทธิ์โดยการเข้าไปช่วยยับยั้งสารเคมีบางชนิดในสมองของมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาการปวด ความรู้สึกปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ทำให้อาการปวดบรรเทาลง และยาพาราเซตามอลยังมีส่วนชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิในร่างกายจึงมีส่วนช่วยให้ไข้ลดลง โดยตัวยาพาราเซตามอลชนิดเม็ดจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 11 นาทีหลังการใช้ยาและอยู่ได้นานหลายชั่วโมง
วิธีการใช้ “ยาพาราเซตามอล” อย่างถูกต้อง
ถึงแม้ว่า “ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) ถูกจัดให้เป็นยาที่ไม่อันตรายแต่ก็ควรมีวิธีการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างถูกต้องเพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยมีวิธีการใช้พาราเซตามอลที่แนะนำ ดังนี้
- ขนาดของยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่แนะนำ คือ 10-15 mg/kg/dose โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่แนะนำให้กินขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน (ไม่ควรรับตัวยามากกว่า 4,000 มิลลิกรัม/วัน)
- สามารถกินยาพาราเซตามอลได้ทั้งก่อนและหลังมื้ออาหาร
- ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนการใช้ยาพาราเซตามอล เพราะมีความจำเป็นต้องปรับขนาดยาที่ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
- ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์มีความจำเป็นต้องปรับขนาดยาพาราเซตามอลที่ใช้ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวด้วยเสมอ
- ยาพาราเซตามอลเป็นยาที่ใช้เพื่อการรักษาอาการ หากไม่มีอาการปวด ไม่มีไข้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกินยา
- ในกรณีที่ลืมกินยาพาราเซตามอลสามารถกินยาได้ทันทีที่นึกขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณตัวยาที่กินต่อมื้อ
ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้ “ยาพาราเซตามอล”
เนื่องจาก “ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) เป็นตัวยาที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่สูงและมีสรรพคุณช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวดได้ดี ส่งผลให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาพาราเซตามอลอย่างไม่เหมาะสมและมีปัญหาจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่พบได้บ่อย ดังนี้
- การใช้ยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อ หลายคนที่รู้สึกมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีอาการปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มักกินยาพาราเซตามอลเพื่อช่วยบรรเทาอาการทันที การกินยาพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อการทำงานของตับ ตับทำงานบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับสุรา แอลกอฮอล์ที่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการตับอักเสบมากขึ้น
- การใช้ยาพาราเซตามอลทั้งที่ไม่มีอาการ พบว่ามีผู้ใช้ยาบางรายกินยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น การกินยาพาราเซตามอลดักไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีอาการความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย การกินยาล่วงหน้าโดยไม่มีอาการนั้นถือเป็นการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลและไม่เกิดประสิทธิภาพในด้านการรักษาทั้งยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ปัญหาดื้อยา การใช้ยาเกินขนาดจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ
- การใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เกินขนาด จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ยาที่เหมาะสมคือ กินยาขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หากกินมากกว่าครั้งละ 2 เม็ด จะต้องดูที่น้ำหนักตัวของผู้ป่วยว่าสัมพันธ์กับขนาดตัวยา 10-15 mg/kg/dose หรือไม่ หากคำนวณออกมาแล้วเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้แปลได้ว่าเป็นการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด และอาจสร้างผลเสียต่อตับได้เช่นเดียวกันกับการใช้ยาพร่ำเพรื่อ
อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด
อาการแสดงของการใช้ “ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) อย่างพร่ำเพรื่อหรือการใช้ยาเกินขนาดจะเริ่มแสดงในช่วง 1-3 วัน โดยจะทำให้เกิดอาการผิดปกติของร่างกายทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 : คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ในบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติเลย
ระยะที่ 2 : หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง อาจไม่มีอาการแสดงออกอย่างชัดเจนแต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (Transaminase) เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่บ่งบอกถึงอาการบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ตับ
ระยะที่ 3 : หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารอีกครั้ง มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy) และเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ข้อห้าม-ข้อควรระวังในการใช้ “ยาพาราเซตามอล”
- ควรใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ โดยควรกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด/ครั้ง ทิ้งระยะห่างครั้งละ 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรกินยามากกว่า 8 เม็ด/วัน
- ผู้ป่วยที่มีสภาวะการทำงานของตับผิดปกติ หรือมีโรคตับควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเพื่อปรับขนาดตัวยาที่ใช้อย่างเหมาะสม
- ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลกับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาตัวนี้ โดยอาการแพ้ยาพาราเซตามอลที่สังเกตได้ คือ มีผื่นขึ้นตามตัว มีอาการบวมที่หน้าและริมฝีปาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือหากมีอาการเหล่านี้หลังกินยาพาราเซตามอลควรเข้าพบแพทย์ทันที
- ตรวจสอบวันหมดอายุของยาก่อนใช้งาน และห้ามใช้ยาหมดอายุ
“ยาพาราเซตามอล” (Paracetamol) นับเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากเป็นตัวยาที่ไม่อันตราย สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้า ร้านขายยาทั่วไป ราคาไม่แพงและช่วยบรรเทาปวดในระดับเล็กน้อยจนถึงปานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดประจำเดือน
นอกจากนี้ตัวยาพาราเซตามอลยังมีส่วนชักนำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงและช่วยลดไข้ได้ เพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ผู้ใช้จึงควรปฏิบัติตามวิธีการใช้ยาพาราเซตามอลที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำด้วยการกินยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็น กินยาเมื่อมีอาการไม่กินล่วงหน้าเพื่อป้องกัน รวมถึงใช้ตัวยาในปริมาณที่เหมาะสม คือ กินยาขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ดต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีสภาวะการทำงานของตับผิดปกติหรือมีโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนการใช้ยา
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ภญ.นันทพร เล็กพิทยา หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech