ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Gig worker เทรนด์การทำงานยุค 4.0


บทความพิเศษ

1 พ.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

Gig worker เทรนด์การทำงานยุค 4.0

https://www.thaipbs.or.th/now/content/152

Gig worker เทรนด์การทำงานยุค 4.0
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม นี้ พูดถึงเรื่องการทำงานแล้ว ก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบบริษัท พนักงานของรัฐ ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ซึ่งปัจจุบันการทำงานเพียงอาชีพเดียว รายได้ไม่เพียงพอสำหรับยุคสมัยนี้แล้ว หลายคนหาอาชีพเสริมในสิ่งที่ตนเองถนัดมากขึ้น ล่าสุด มีเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ Gig Worker การทำงานระยะสั้น ๆ จบเป็นงาน ๆ ไป ไม่ยึดติดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และรับได้หลาย ๆ งานพร้อมกัน ซึ่งก็คล้ายกับฟรีแลนซ์ แต่ต่างกันตรงที่มีตัวกลางในการประสานรับงานให้ด้วย ทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการบริหารจัดการ 

Gig Worker คืออะไร ?

คำว่า Gig ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษเป็นคำสแลง ใช้กล่าวถึงการแสดงเป็นการรับจ้างทำงานแบบครั้งคราว ส่วนคำว่า “Gig economy” เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการทำงานลักษณะชั่วคราว จบเป็นครั้ง ๆ ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง จ่ายค่าจ้างตามปริมาณงาน และตามตกลงกันไว้เป็นงาน ๆ ไม่ได้มีการจ้างแบบพนักงานประจำและจ่ายเงินเดือนตอนสิ้นเดือน โดยมีแพลตฟอร์มหรือบริษัทเป็นตัวกลางในการประสานมอบหมายงานระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการ

ขณะที่ คำว่า “Gig Worker” จึงหมายถึงคนที่รับจ้างทำงานแบบชั่วคราว จบเป็นรายครั้ง หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการทำงาน

ข้อดี-ข้อเสียของการเป็น Gig Worker

ข้อดี คือ เลือกงานได้อย่างอิสระ มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต จัดสรรเวลาการทำงาน เวลาส่วนตัวได้ ไม่ยึดติดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง รับงานได้หลาย ๆ งาน ระยะเวลาทำงานสั้น และสามารถรับงานได้ทั้งแบบในประเทศและต่างประเทศด้วยในบางสายงาน ขณะที่ ในมุมของผู้ประกอบการ จะได้ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทางในงานนั้น และงานเร่งด่วนบางงานต้องการคนที่ทำงานได้หลังเวลาเลิกงานปกติ ที่สำคัญยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแรงงาน เช่น สวัสดิการ ทรัพยากรการทำงาน การฝึกอบรม

ส่วนข้อเสีย คือ มีคู่แข่งในตลาดจำนวนมาก ขาดสวัสดิการการทำงาน เช่น ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง มีรายได้ไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่ปริมาณงาน วันลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อนไม่มี และไม่มีแผนการออมเงินสำหรับเกษียณ ขณะที่ ในมุมของผู้ประกอบการนั้น อาจจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของงานได้เท่ากันทุกครั้ง รวมถึงงบประมาณที่ใช้ได้ด้วย

Gig Economy ในประเทศไทย มีที่ไหนบ้าง ?

กลุ่มที่ให้บริการตามสถานที่ (Location-based)
• Grab บริการสั่งอาหาร เดินทาง ส่งของ บริการแม่บ้าน 
• Deliveree บริการส่งของ
• SKOOTAR บริการจัดส่งพัสดุ เรียกแมสเซ็นเจอร์ ส่งเอกสาร ส่งอาหาร
• BJC Logistics & BJC Move บริการทางด้านโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า
• DHL Express บริการขนส่งด่วนทั่วโลก
• FedEx Express บริการจัดส่งด่วนทั่วโลกสำหรับการจัดส่งระหว่างประเทศ
• AKITA FULFILLMENT บริการคลังสินค้าครบวงจร
• Foodpanda บริการสั่งอาหารและของกินของใช้ออนไลน์ทั่วไทย
• BeNeat บริการแม่บ้าน รับงานทำความสะอาด และงานบริการอื่น ๆ
• FIXZY บริการเกี่ยวกับบ้านครบวงจร งานซ่อมระบบน้ำ, ระบบไฟ, เครื่องใช้ไฟฟ้า
• Kerry Express บริการจัดส่งพัสดุ
• Siam Outlet บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์

กลุ่มที่ให้บริการบนแพลตฟอร์ม (Web-based)
• Ebay เว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์
• Fastwork แหล่งรวมฟรีแลนซ์ หลากหลายสายงาน
• Kaidee แหล่งซื้อขายของออนไลน์ในประเทศไทย 
• TakeMeTour สื่อกลางระหว่างนักท่องเที่ยวกับคนพาเที่ยวในพื้นที่
• ZeekDoc แพลตฟอร์มค้นหาและนัดหมายแพทย์เฉพาะทาง
• OOCA-It's Okay ปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ และนักจิตวิทยาออนไลน์
• ZTRUS บริการแปลงข้อมูลจากเอกสารที่เป็นกระดาษ เข้าไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล
• BigGo คือ แพลตฟอร์มค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาจากทุกร้านค้าออนไลน์
• Criteo เครื่องมือช่วยจัดการ Shopper Journey ให้บริการโฆษณาแบบดิสเพลย์ออนไลน์
 

Gig-Worker-3.jpg

Top 3 ประเทศที่มีการจ้างงาน Gig Worker มากที่สุดในโลก

1) สหรัฐอเมริกา 78% สัดส่วน Gig Workers ใน 56 รัฐ ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนเทียบเท่าพนักงานประจำ โดยมีแนวโน้มในการจ้าง Gig Worker กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์มมากที่สุด
2) สหราชอาณาจักร 59%
3) บราซิล 48%

Top 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มี Gig Worker มากที่สุด

1) ศิลปะและการออกแบบ 75%
2) ดนตรีและสื่อบันเทิง 55%
3) ก่อสร้าง 52%

แนวโน้มการเติบโตในตลาดแรงงานของ Gig Economy ทั่วโลก

• 97% ของผู้ที่อาศัยในเม็กซิโก และอินเดียประกอบอาชีพอิสระ
• 90-94% ของออสเตรเลีย อิตาลี อังกฤษ และสเปน เปิดรับ Gig Jobs
• สหรัฐอเมริกา มีบริษัทที่เริ่มจ้าง Gig Worker จากระยะไกล
• 80% ของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา วางแผนจะเปลี่ยนไปจ้าง “พนักงานไม่ประจำ”
• การเติบโตของ Gig Workers ทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน เพิ่มสูงต่อเนื่อง 25-35%
• วัยทำงาน 93 ล้านคน ทั่วยุโรปและอเมริกา เป็น Gig Worker

ส่องแนวโน้มการจ้างงาน Gig Worker ในประเทศไทย

สถิติการจ้างงาน Gig Worker บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Fastwork.co พบว่า 
• 38% กลุ่ม Digital & Graphic
• 22% กลุ่ม Marketing และ Advertising
• 19% กลุ่ม Writing & Translation
• 8% กลุ่ม Photography & Video
• 8% กลุ่มอื่น ๆ 
• 5% กลุ่ม Web & Programming

แนวโน้มการจ้างงาน Gig Worker ในประเทศไทย  พบว่า จำนวนผู้สมัครงาน Gig Worker เพิ่มขึ้น 170% โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่ที่จ้างงานจะเป็นกลุ่มของ SMEs, Startup  

นอกจากนี้ พบว่ามี Gig Worker บนแพลตฟอร์ม 5,757 คน แต่มีความต้องการคนทำงาน 9,054 คน โดยช่องทางการหาแรงงานของ Startup มาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 49.6% และต้องการแรงงานในสาย Digital & Graphic สูงสุด

ที่สำคัญ ยังพบด้วยว่างานประเภทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ “ออฟไลน์” จะมีการจ้างงาน “ลดลง” ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ หรือปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ จะมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มงานที่ถูกจ้างเพิ่มขึ้นจะเป็น “งานเฉพาะทาง” และงานที่ใช้ความเชี่ยวชาญ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการเติบโตในตลาดแรงงานของ Gig Economy สูงขึ้น นับเป็นโอกาสดีที่แรงงานจะพัฒนาความรู้ความสามารถรองรับความต้องการของตลาด

ที่มาข้อมูล : การศึกษาแนวทางการส่งเสริมGig Economy ในประเทศไทย สอวช.
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Gig workerGig Economyอาชีพอิสระวันแรงงานแรงงานอิสระ
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด