ใครเคยนึกบ้างว่า โลกนี้จะมีปลาตัวเล็ก ๆ ที่สามารถจำตัวเองได้จากกระจก, นกเรเวนหาวิธีแก้ปัญหาได้ฉลาดยิ่งกว่าเด็กมนุษย์, มดรู้จักการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อปกป้องอาณานิคมของมันจากโรค และมีสักกี่คนจะเคยจินตนาการออกว่า บีเวอร์นั้นเก่งกาจในการสร้างเขื่อนถึงขั้นที่เรามองเห็นได้จากอวกาศ, โลมาสามารถเรียกกันและกันด้วยชื่อ ส่วนแมงมุมก็สามารถสร้างใยจากร่างกายของมันได้ถึง 7 ชนิด !
ความน่าทึ่งที่มีอยู่จริงและเราอาจไม่เคยรับรู้ หรือรู้แต่ไม่เคยมีโอกาสเห็นชัด ๆ ด้วยตาเหล่านี้เอง คือสิ่งที่ทำให้สารคดีซีรี่ส์ Animal Einsteins สัตว์อัจฉริยะระดับไอน์สไตน์ สร้างประสบการณ์การชมที่แสนสนุกสนานและชวนให้เราตื่นตาตื่นเต้นไปกับความมหัศจรรย์ทางปัญญาของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ที่อยู่ร่วมโลกใบเดียวกันนี้กับมนุษย์อย่างเรา
Animal Einsteins สัตว์อัจฉริยะระดับไอน์สไตน์ เป็นผลงานของ คริส แพคแฮม (Chris Packham) นักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง ซึ่งไม่ได้ต้องการทำแค่สารคดีธรรมชาติทั่ว ๆ ไป แต่ภารกิจในใจของเขาคือ การจุดประกายให้คนดูเกิดความสนใจหลงใหลในวิทยาศาสตร์และชื่นชมต่อโลกธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันมนุษยชาติไปสู่การพัฒนาโลกที่ดีขึ้น เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“มนุษย์เรามักคิดว่า ตัวเองเป็นจุดสุดยอดของวิวัฒนาการ เรามองโลกแบบยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เราจึงค่อนข้างจะหยิ่งยโส”
สารคดีชุดนี้ของเขาจึงมุ่งท้าทายให้เราหันกลับมาพิจารณาสมมติฐานของเราเกี่ยวกับความฉลาดของสัตว์ร่วมโลกเสียใหม่
Animal Einsteins สัตว์อัจฉริยะระดับไอน์สไตน์ แบ่งออกเป็น 6 ตอน เนื้อหาแต่ละตอนเน้นไปที่ด้านต่าง ๆ ในความฉลาดเลิศล้ำของสัตว์ เช่น ด้านการสื่อสาร การสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ทักษะในการเข้าสังคม ความสามารถในการนำทาง อันเป็นโครงสร้างรายการที่เอื้อให้เจาะลึกสปีชีส์และความสามารถทางปัญญาได้อย่างหลากหลาย โดยความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าแม้ตัวสารคดีจะมุ่งบอกเล่าด้วยท่าทีง่าย ๆ และให้ความบันเทิง แต่เบื้องหลังการผลิตนั้นต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูงและละเอียดลออมาก ๆ ทีเดียว
ในการนี้ แพคแฮมร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญมากมาย หนึ่งในนั้นที่ผู้เขียนอยากพูดถึงเป็นพิเศษก็คือ ดร.นาทาลี สโตรอีไมต์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความฉลาดแบบกลุ่มของมด งานวิจัยของเธอเผยให้เห็นว่า มดมีการฝึกฝน “การเว้นระยะห่างทางสังคม” เมื่อเผชิญกับการติดเชื้อรา โดยมดที่ติดเชื้อจะแยกตัวออกจากอาณานิคมโดยสมัครใจ ขณะที่มดที่แข็งแรงจะสร้างกำแพงขึ้นเพื่อปกป้องราชินีและตัวอ่อน ที่น่าทึ่งคือมดทุกตัวจะยึดถือระบบระเบียบใหม่นี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งเมื่อเราลองนึกเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็จะเห็นได้ชัดว่าภูมิปัญญาของธรรมชาตินั้นช่างยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์อย่างแท้จริง
Animal Einsteins ไม่แค่ชื่นชมความฉลาดของสัตว์ แต่ยังสำรวจเลยไปอีกว่า แล้วมนุษย์ล่ะจะสามารถใช้ธรรมชาติเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น การศึกษาการออกแบบช่องรังรูปทรงหกเหลี่ยมของผึ้ง ทักษะการสร้างเขื่อนของตัวบีเวอร์ ระบบรังอุณหภูมิต่ำของมด ซึ่งทำให้มนุษย์ได้รับองค์ความรู้ที่สามารถนำมาสู่การพัฒนาการออกแบบทางวิศวกรรมของมนุษย์เอง
นอกจากนั้น อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของสารคดีนี้ที่แพคแฮมต้องการบรรลุ ก็คือการกระตุ้นให้สังคมหันมาเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะสำหรับเขาแล้ว ความเชื่อถือในข้อมูลวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาโลกอย่างปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ที่ฝ่ายการเมืองในบางประเทศมักนำข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวทั้งจริงและเท็จเข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อต่อสู้กัน ซึ่งอาจส่งผลให้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้บิดเบือนไปและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาในระยะยาว ดังที่เขากล่าวว่า
“เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเรากำลังต้องการวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เคย”
🎬เชิญพบกับสุดยอดสัตว์ที่มีทักษะในการเอาชีวิตรอดในป่าใหญ่ โดย "Chris Packham" พาไปดูการปรับตัวและวิวัฒนาการของสัตว์อย่างชาญฉลาด ในสารคดี Animal Einsteins สัตว์อัจฉริยะระดับไอน์สไตน์
▶ รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application