งามบาดใจ ! Thai PBS Sci & Tech พาไปชมความสวยงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง “เอื้องคำฝอย” “เอื้องคำฝอยปาย” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium brymerianum Rchb. f. (Brymer's Dendrobium) โดยอยู่วงศ์ Orchidaceae อีกหนึ่งกล้วยไม้อิงอาศัยหายากของไทย
“เอื้องคำฝอย” กล้วยไม้อิงอาศัยหายากจากภาคเหนือของไทย ลำลูกกล้วย 2 ข้อตรงกลางโป่งพอง ปัจจุบันประชากรในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก ในไทยมีรายงานการเก็บตัวอย่างในยุคแรก ๆ โดยหมอคาร์ (A. F. G. Kerr) จากดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1911
กล้วยไม้ชนิดนี้ถูกส่งจากเมียนมาเข้าไปในยุโรปโดยบาทหลวงผู้สอนศาสนาโดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ เป็นต้นที่ไม่มีดอกและถูกขายในราคาถูก ๆ ให้นำไปปลูกเลี้ยง ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Gardeners' Chronicle n.s., 4 หน้า 323 ปี ค.ศ. 1875 คำระบุชนิด “brymerianum” ตั้งตามชื่อมิสเตอร์ไบรเมอร์ (Brymer) ผู้ชื่นชอบกล้วยไม้ชาวอังกฤษที่แสดงอารมณ์ตะลึงกับความโดดเด่นสวยงามเมื่อดอกผลิบาน ดอกมีสีเหลืองสดใส กลีบปากจักเป็นชายครุยยาว เป็นความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์
การกระจายพันธุ์ : พบตามป่าผลัดใบและป่าดิบ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน
Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้
📌อ่าน : พรรณไม้น่ารู้ ! “ก้านเกาสตุภะ” ชูช่ออวดโฉมความงดงามทั่วผืนป่าดอยหัวหมด
📌อ่าน : พืชชนิดใหม่ของโลก ! “เปราะอาจารย์สุมนต์” พืชถิ่นเดียวในไทย จาก จ.สกลนคร
📌อ่าน : พรรณไม้น่ารู้ ! “สิงโตกำมะหยี่” กล้วยไม้ถิ่นเดียวของไทย
📌อ่าน : ชวนรู้จัก “สิงโตนายสนิท” กล้วยไม้ป่าดิบเขาภาคเหนือไทย
📌อ่าน : พรรณไม้น่ารู้ ! “จำปีสิรินธร” พันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและหายากของไทย
📌อ่าน : บานสะพรั่งรับลมร้อน “ดอกกุหลาบขาว” พันธุ์ไม้พื้นถิ่นบนเทือกเขาสูง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หอพรรณไม้ Forest Herbarium – BKF, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech