จากกระแสข่าว “ให้อาหารนกพิราบ” ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ปอดจากการเปิดเผยของคุณหมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ชวนให้เกิดคำถาม นกพิราบก่อให้เกิดโรคปอดได้อย่างไร ? Thai PBS ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจโรคที่เกิดจากนกพิราบ ภัยที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด
1. นกพิราบก่อโรคได้จริงหรือ ?
นกพิราบแม้จะพบเห็นได้ทั่วไป แต่ก็เป็นพาหะนำโรคร้ายมามาสู่มนุษย์ได้หลายโรค เนื่องจากมูลของนกพิราบหรือสัตว์ปีกนั้นจะมีเชื้อไวรัสอันตรายอยู่ มูลของนกที่ติดมาตามตัว ปีกที่กระพือออกจนเกิดฝุ่น เหล่านี้นำพาให้เชื้อไวรัสจากมูลนกติดต่อสู่คนผ่านการสูบดมได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้นกพิราบเป็นพาหะนำโรคสู่คนได้หลายโรค อาทิ ไข้หวัดนก พยาธิ ไข้กาฬหลังแอ่น ไวรัสตับอักเสบบี โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ และโรคเชื้อราในปอดจากนก ซึ่งในการใช้ชีวิตปกติเมื่อพบเจอนกพิราบในเมืองจะยังไม่ได้มีความเสี่ยง มักจะพบความเสี่ยงสูงในกลุ่มที่ทำงานใกล้ชิดกับนกพิราบเป็นหลัก
2. โรคที่พบบ่อยจากพาหะนกพิราบ
โรคติดต่อจากนกพิราบที่พบได้บ่อยและมีอาการรุนแรงในประเทศไทยคือ โรคเชื้อราในปอดจากนก เนื่องจากเชื้อราในมูลนกพิราบที่มีชื่อว่า คริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) มีความทนทานต่อยารักษาโรค ทำให้ต้องใช้ยาแรงซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ ตัวเชื้อราสามารถทำอันตรายกับปอดของผู้ป่วย ยาที่ใช้ฆ่าเชื้อราก็แรงจนทำให้ผู้ป่วยอันตรายได้ด้วย ทำให้การรักษาจึงยิ่งทำได้ยาก
3. การป้องกันไม่ตกอยู่ภาวะเสี่ยง ทำอย่างไร ?
การติดโรคจากนกพิราบโดยปกติแล้วจะมีอัตราการเกิดไม่มากนัก แต่ก็มักจะพบได้มากในกลุ่มคนที่ต้องใกล้ชิดกับนกพิราบ ได้แก่ กลุ่มคนเลี้ยงหรือคนที่ชอบให้อาหารนกพิราบที่ต้องอยู่กับนกเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานาน หรือกลุ่มคนที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ (ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ติดเชื้อ HIV) โดยการติดต่อนั้นเกิดจากการสูบดมเอาฝุ่น สัมผัสเชื้อที่มาจากมูลของพิราบที่แห้งแล้ว หรือเศษละอองที่ติดมาจากปีก
ฉะนั้นการป้องกันโรคจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบโดยตรง สวมใส่หน้ากากทุกครั้งที่เข้าใกล้ หรือล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ การให้อาหารนกพิราบถือเป็นการก่อให้เกิดโรคร้ายและมีความผิดทางกฎหมายอีกด้วย
4. สัตว์ปีกอื่น ๆ ก็เป็นพาหะของโรคได้
การติดโรคเชื้อราในปอดจากนก ส่วนใหญ่แล้วมาจากเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในมูลของนกพิราบเป็นหลัก (มีติดได้จากสารคัดหลังอื่น ๆ ด้วย) แต่ไม่ใช่เพียงมูลของนกพิราบเท่านั้น เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวพบได้ในสัตว์ปีกชนิดอื่นด้วย ดังนั้น การสัมผัสสัตว์ปีกชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็นนกแก้ว นกกระจอก เป็ด ไก่ รวมถึงสัตว์อื่น ๆ ที่ใกล้ชิดหรือสัมผัสมูลสัตว์ปีกก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้ แม้จะมีอัตราการติดเชื้อต่ำ แต่ก็ควรระมัดระวังด้วยการล้างมือหลังสัมผัสอยู่เสมอ
อ้างอิง
แนวทางในการป้องกันการรบกวนจากนกพิราบ
เชื้อราในปอด ผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติควรระวัง
Pigeon-Related Diseases
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
หยุด! ให้อาหาร "นกพิราบ" ฝ่าฝืนคุก 3 เดือน-ปรับ 2.5 หมื่น
"พิราบ" นำโรค แค่กระพือปีกเสี่ยงปอดอักเสบ
หมอมนูญ พบเคสคนไข้ "ปอดอักเสบ" คาดรับเชื้อจาก “นกพิราบ”