ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Stonewall Riots จุดเริ่มต้นจลาจลสีรุ้ง เพื่อกลุ่มเพศหลากหลาย


Lifestyle

1 มิ.ย. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

Stonewall Riots จุดเริ่มต้นจลาจลสีรุ้ง เพื่อกลุ่มเพศหลากหลาย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1234

Stonewall Riots  จุดเริ่มต้นจลาจลสีรุ้ง เพื่อกลุ่มเพศหลากหลาย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อพูดถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ สิ่งแรกที่เรานึกถึง คงหนีไม่พ้นความสนุกสนาน แบบแก๊งยูทูปเบอร์ตัวแม่ ศูนย์รวมความแซ่บ ความต๊าช และเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ตามบรรทัดฐานของสังคมยุคใหม่ ที่เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในยุคที่สังคมยังรู้จักแค่ ‘เพศชาย’ และ ‘เพศหญิง’ ล่ะ ยุคที่ยังไม่สามารถ Come Out หรือเปิดเผยรสนิยมของตัวเองต่อสาธารณะได้ กลุ่ม LGBTQIA+ ในสมัยก่อนใช้ชีวิตกันอย่างไร ? จะมีพื้นที่ตรงไหนที่โอบรับความแตกต่าง และอนุญาตให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตเป็นตัวเอง

Thai PBS พาคุณนั่งไทม์แมชชีน ย้อนไปทำความรู้จักกับร้าน Stonewall Inn บาร์ลับใจกลางเมืองนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ Stonewall Riots (จลาจลสโตนวอลล์) การต่อสู้ระหว่างตำรวจและกลุ่มคนที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้มี “เพศ” ตรงตามบรรทัดฐานสังคม นับเป็นจุดเริ่มต้นขบวนการเรียกร้องสิทธิ-เสรีภาพของกลุ่ม LGBTQIA+ ในอีกหลายสิบปีต่อมา

60 ปี แห่งความไม่เท่าเทียม เมื่อโลกนี้มีแค่ชาย-หญิง

ย้อนกลับไปที่ New York City ปีค.ศ. 1960 หรือเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ผู้คนยังไม่ตื่นรู้เรื่องความหลากหลาย ทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ หรือเพศ เหมือนโลกใบนี้มีแค่สีขาว-ดำ มีศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก หรือนิกายโปรเตสแตนท์ และมีแค่เพศชายและเพศหญิง ซึ่งเป็นกรอบแนวคิด Binary Opposition ที่แบ่งประเภทของสรรพสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้เป็นสองขั้ว มีแค่ขวาและซ้าย แต่ไม่มีตรงกลาง

ดังนั้น คนที่แตกต่างจากขนบธรรมเนียมเดิมคือคนชายขอบ ไม่มีคุณค่าและไม่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อกระแสรอง ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวกฎหมาย ซึ่งกำหนดบทลงโทษและกดขี่กลุ่มคนเพศหลากหลาย เช่น ห้ามแสดงตัวตนหรือเปิดเผยรสนิยมทางเพศ ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดในที่สาธารณะ มิเช่นนั้นจะถูกบังคับให้ออกจากงาน ห้ามแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด รวมถึงถูกรัฐบาลสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์ให้กลุ่ม LGBTQIA+ ด้วย

ที่เดียวที่อนุญาตให้พวกเขาเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่คือ Stonewall Inn บาร์ลับแห่งเดียวบนถนนกรีนวิชวิลเลจ ที่มีฟลอร์เต้นรำ สามารถนั่งดื่มเหล้า และพบปะสังสรรค์พูดคุยกันได้  ปกครองโดยกลุ่มมาเฟียรายใหญ่ในท้องถิ่น ทำให้มีผู้คนแห่แหนเข้ามาเที่ยวเล่นกันเป็นจำนวนมากภาพจาก Stonewall Organization

LGBTQIA+ ผู้อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่ความเท่าเทียมในสังคม

เพราะสิ่งที่ทำให้คนเราอยู่ร่วมกันได้ อาจไม่ใช่ความรักหรือความเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นผลประโยชน์ - สาเหตุที่บาร์ Stonewall Inn สามารถเปิดทำการแบบลับ ๆ ได้ เพราะมีกลุ่มมาเฟียคอยดูแลความเรียบร้อยด้วยการติดสินบน ซึ่งเงินที่เอามาติดสินบนตำรวจนั้น ก็มาจากการแบล็คเมลกลุ่ม LGBTQ+ ที่มาเที่ยวเล่นที่ร้านนั่นเอง ยิ่งมาบ่อย ก็ยิ่งโดนขูดรีด แต่เพื่อแลกกับการได้เป็นตัวเอง ได้ถอดหัวโขนหน้าที่และความรับผิดชอบในชีวิตจริง แม้เพียง 1-2 ชั่วโมง ก็มีความหมาย พวกเขาจึงยอมแลกมันด้วยเงินจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แน่นอนว่านอกจากการติดสินบนเจ้าหน้าที่แล้ว แก๊งมาเฟียยังใช้วิธีการเลี่ยงบาลี ด้วยการเลือกลงทะเบียนเปิดร้านแบบ “Bottled Bar” หรือบาร์ที่ให้แขกนำเครื่องดื่มมาเอง จะได้รอดพ้นจากข้อหาจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้กลุ่มเพศหลากหลายด้วย

เมื่อไม่มีการแทรกแซงของตำรวจ มาเฟียซึ่งเป็นเจ้าของร้านก็สามารถลดต้นทุนได้ตามที่เห็นสมควร บาร์แห่งนี้จึงไม่มีทางหนีไฟ ไม่มีแม่บ้านคอยทำความสะอาดห้องน้ำ หรือล้างแก้วเหล้า และต้องเซ็นชื่อในหนังสือก่อนเข้าร้าน เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของบาร์

ย่ำรุ่งแห่งการตื่นรู้ ในเดือน มิ.ย. ค.ศ. 1969

ภาพจาก Stonewall Organization

จนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกตรวจค้นบาร์ Stonewall Inn เพราะมาเฟียคุมถิ่นไม่ติดสินบนตำรวจ เพราะรีดไถเงินจากเหล่านักเที่ยวไม่ได้แล้ว ตำรวจจึงเริ่มใช้หลักเกณฑ์การตรวจเพศสภาพด้วยเอกสารทางทหารสำหรับผู้ชายและการแต่งกายสำหรับผู้หญิง ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์กันภายหลังว่าหลักเกณฑ์การตรวจค้นนี้ อาจจะเป็นจุดกำเนิดของกรอบการแบ่งเพศออกเป็น 2 ขั้ว (Gender Binary)  

ด้วยความเบื่อหน่ายกับการคุกคามของตำรวจและการเลือกปฏิบัติทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ และชาวบ้านในละแวกนั้น มารวมตัวกันอยู่ด้านนอกบาร์แทนที่จะหลบหนี เริ่มมีการทำร้ายร่างกายกันด้วยขวดแก้ว กระป๋องเบียร์ ก้อนหินปูถนน และวัตถุอื่น ๆ ใส่ตำรวจ โดยมีชนวนเหตุมาจาการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตีศีรษะของผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวเป็นผู้ชาย หลังเธอประท้วงว่าใส่กุญแจมือแน่นเกินไป ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตัดสินใจเรียกกำลังเสริมมาอีกกว่า 500 นาย กลายเป็นการจลาจลครั้งยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ยาวนานถึง 6 วัน 6 คืน กว่าจะสิ้นสุดลง

การชุมนุมในครั้งนั้น ส่งผลให้กลุ่ม LGBTQIA+ เริ่มเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนกันอย่างจริงจังในปีต่อมาด้วยการจัดงานวันแห่งการปลดปล่อยที่ถนนคริสโตเฟอร์ (Christopher Street Liberation Day) บริเวณถนนคริสโตเฟอร์ อันเป็นที่ตั้งของบาร์ Stonewall เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา และต่อยอดให้เกิดการออกมาเรียกร้องในสิทธิของกลุ่ม LGBTQIA+ ทำให้เดือนมิถุนายนกลายเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและรณรงค์ถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ทั่วโลกเรื่อยมา

“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ก้าวต่อไปของความเท่าเทียมทางเพศในไทย

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยายามที่จะผลักดันข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา มีมติโหวตเห็นชอบ 400 คน ไม่เห็นด้วย 10 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียง 3 คน โดยสิทธิที่กลุ่มคนเพศหลากหลายจะได้ หากบังคับใช้กฎหมายนี้ คือ

  1. หมั้น-สมรส เมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์
  2. รับรองสิทธิคู่สมรสโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายถึง มีสิทธิ และหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย อื่น ๆ เช่น สิทธิสวัสดิการราชการ หักลดหย่อนภาษี เป็นต้น
  3. บังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน
  4. สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
    อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจจากภาคประชาชน ซึ่งสงวนความเห็นไว้ในชั้น กมธ. วิสามัญฯ นั่นคือ การเสนอให้เพศใดก็ได้สามารถเป็น "บุพการีลำดับแรก" โดยต้องลุ้นต่อในชั้นวุฒิสภาว่าจะมีมติอย่างไร จะโหวตรับร่าง ยับยั้งและส่งกลับ หรือมีมติแก้ไขเพิ่มเติม

โดย บุพการีลำดับแรก หมายถึง พ่อ-แม่ ส่วนบุพการีลำดับถัดไป หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย หรือเครือญาติในลำดับที่ห่างออกไป ซึ่งคำนี้มีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าคำว่า “บิดา-มารดา” และมีความสำคัญต่อครอบครัว LGBTQIA+ ที่ต้องการมีลูก ด้วยการระบุสถานะที่เป็น ‘คำกลาง’ ในกฎหมายแทน

จากเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ เราคงได้เห็นระบบความคิดและความเชื่อของคนในสมัยนั้นที่มีต่อ LGBTQIA+ ซึ่งสะท้อนผ่านกฎหมาย และทุกการเปลี่ยนแปลง ย่อมต้องใช้เวลา แต่มากกว่าเวลา คงเป็นการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศแบบเป็นรูปธรรมจริง ๆ เสียที 
 

ที่มา: Britannica,  History, Stonewall Organization, NY Times และ ThaiPBS
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

LGBTQIAN+LGBTQIA+Pride Monthกลุ่มหลากหลายทางเพศ
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด