ผู้คนรู้จักกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่มีตัวย่อว่า LGBT แต่ปัจจุบันมีตัวย่อเพิ่มขึ้นมาอีกหลายตัวอักษร เช่น LGBTQ หรือเพิ่มเป็น LGBTQ+ และต่อมายังเพิ่มเป็น LGBTQIA+
Thai PBS ชวนมาหาคำตอบและความหมายอันหลากหลายของตัวย่อเหล่านี้ กลุ่มตัวย่อไหนถูกต้องและอัปเดตที่สุด หรือการเพิ่มตัวย่อเหล่านี้ มีการเพิ่มมาอย่างไร ? และแต่ละตัวย่อมีความหมายอย่างไรบ้าง ?
จุดเริ่มและเพิ่มขึ้นของความหลากหลายทางเพศ
เดิมทีกลุ่มที่เรียกกันว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มีจุดเริ่มมาจากการรวมกลุ่มของขับเคลื่อนทางสังคม โดยกลุ่มแรก ๆ ได้แก่ กลุ่มเกย์ (Gay) เลสเบียน (Lesbian) ไบเซ็กชวล (Bisexual) และกลุ่มคนข้ามเพศ (Trangander) จนมีการรวมกลุ่มกันในช่วงปี 1988 โดยใช้ชื่อ LGBT ที่สหรัฐอเมริกา
นับจากนั้นเป็นต้นมา การใช้ตัวย่อ LGBT กลายเป็นตัวแทนของการเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เมื่อเวลาผ่านไป รสนิยมทางเพศมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงมีการเพิ่มตัว Q เข้ามาแทนกลุ่มเควียร์ (Queer) หรือคนไม่จำกัดเพศ
หลังจากนั้น นิยามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศก็มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นอีก จึงมีการเพิ่มตัวย่อเข้ามาในกลุ่มเพื่อให้สังคมได้รู้ถึงการมีอยู่ของเพศทางเลือกเหล่านี้ และปิดท้ายด้วยเครื่องหมายบวก เพื่อแทนความหลากหลายที่มีมากกว่านั้น เช่น LGBTQIA+
การมีกลุ่มรสนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น มาพร้อมการแสดงตัวตนแยกย่อยลงไป ทำให้ถึงตอนนี้ หากจะรวมตัวย่อไว้ให้ครบที่สุด ต้องเขียนยาวเป็น LGBTQQIP2SAA เนื่องจากการรวมถึงของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีการรวมตัวของหลายกลุ่ม การใช้ตัวย่อที่ถูกต้องจึงไม่ได้ตายตัว หากแต่ขึ้นอยู่กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในแต่ละองค์กร
เช่น ในประเทศแคนาดา บางครั้งใช้นิยามกลุ่มเป็นกลุ่ม LGBTQ2 ขณะที่สถานีโทรทัศน์ของแคนาดาอย่าง CBC มักจะใช้ตัวย่อ LGBT แทนกลุ่มหลากหลายที่อาจมีเพิ่มขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวย่อใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น ช่วยสร้างจุดสนใจ ให้ผู้คนในสังคมอยากทำความรู้จักและเข้าใจกลุ่มรสนิยมทางเพศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
อักษรย่อเป็นตัวแทนความหลากหลายทางเพศอะไรบ้าง ?
เนื่องจากความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด เราได้รวบรวมตัวย่อที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายเหล่านี้กัน
L - Lesbian (เลสเบี้ยน) หมายถึงผู้หญิงที่มีความรักต่อผู้หญิงด้วยกัน
G – Gay (เกย์) หมายถึงผู้ชายที่มีความรักต่อผู้ชายด้วยกัน
B – Bisexual (ไบเซ็กชวล) หมายถึงคนที่มีความรักได้ทั้งเพศชายและหญิง
T – Transgender (ทรานเจนเดอร์) หมายถึงคนที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด
Q – Queer (เควียร์) หมายถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่มีอยู่ในกรอบของเพศใด ๆ สามารถรักเพศใดก็ได้ และไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศใด เป็นอัตลักษณ์ที่แตกจากอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ นิยามจะคล้ายกับกลุ่มที่ชื่อว่า Non – Binary (นอน-ไบนารี่) มีส่วนที่ซ้อนทับกัน แต่เควียร์มีนัยยะเชิงการเมืองร่วมด้วย ขณะที่นอน-ไบนารี่ มีความหมายถึงตัวตนด้านเพศมากกว่า
Q – Questioning (เควสชันนิ่ง) หมายถึงคนที่ยังคงสำรวจตัวเอง ตั้งคำถามกับความต้องการ รวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง
I – Intersex (อินเตอร์เซ็กส์) หมายถึงคนที่เกิดมาพร้อมอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้ง 2 เพศในคนเดียว ดังนั้นคำนี้จึงหมายถึงลักษณะทางกายภาพ ไม่ใช่เพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ
P – Pansexual (แพนเซ็กชวล) หมายถึงคนที่รักได้ทุกเพศ ซึ่งมีขอบเขตกว้างกว่าไบเซ็กชวล
2S - Two-Spirit (ทูสปิริต) หรือ 2 จิตวิญญาณ หมายถึงคนที่มีความเป็นชายและหญิงในคนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมทางเพศ เพศสภาพ หรือจิตวิญญาณ มีรากคำศัพท์มาจากกลุ่มชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ
A – Asexual (เอเซ็กชวล) หมายถึงคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น มีแบ่งระดับเป็น Asexual คือไม่มีแรงดึงดูดทางเพศเลย ต่อมาคือ Grey-Asexual คือประเภทที่อาจมีแรงดึงดูดทางเพศ แต่อาจจะมีได้บ้างปีละสองครั้งแล้วหายไป สุดท้ายคือ ประเภท Demisexual คือมีแรงดึงดูดทางเพศ เมื่อมีความสัมพันธ์ทางใจ แม้อาจจะไม่ใช่ความรัก แต่หมายรวมถึงความเชื่อใจหรือมิตรภาพที่ดี ก็สามารถสร้างแรงดึงดูดขึ้นได้
A – Allies (แอลลาย) หมายถึงคนที่สนับสนุนและยอมรับในกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีอัตลักษณ์ในกลุ่มหลากหลายทางเพศ
อัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย อาจมองเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ในมุมกลับกัน กลับเป็นการสำรวจเข้าไปในตัวตน เพื่อทำให้รู้ถึงสิ่งที่เป็น พร้อมยังสะท้อนได้ว่า โลกนี้มีความหลากหลาย และมีคนที่มีความเหมือนและต่างจากเราอยู่มากมาย
อ้างอิงข้อมูล
LGBT
What is the full acronym for LGBTQQIP2SAA ?