ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงความดันโลหิตสูง


วันสำคัญ

17 พ.ค. 67

นวพร เรืองศรี

Logo Thai PBS
แชร์

รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงความดันโลหิตสูง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1164

รู้เลข รู้เสี่ยง เลี่ยงความดันโลหิตสูง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะ “โรคความดันโลหิตสูง” เป็นฆาตกรเงียบ หรือ Silence Killer ที่สามารถคร่าชีวิตเราได้ ไม่ต่างจากมะเร็ง เพราะไม่มีอาการให้เห็นแบบเป็นรูปธรรม เหมือนโรคอื่น ๆ

โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในกลุ่มประชากรอายุ 30-79 ปี มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเกือบ 1.3 พันล้านคน และมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ขณะที่ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ล้านคน และ 7 ล้านคนในจำนวนนี้ ไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการดูแลรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น

ไทยพีบีเอสรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจของโรคความดันโลหิตสูง ไล่ตั้งแต่ความหมายและประเภทของค่าความดันโลหิต ไปจนถึงวิธีการอ่านค่าความดัน ซึ่งจะทำให้คุณรู้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงของตัวเอง จะได้หาวิธีป้องกันอย่างทันท่วงที 

รู้จัก “ความดันโลหิต” หรือหลักฐานของการมีชีวิตอยู่ 

“ความดันโลหิต” คือแรงดันของกระแสเลือดที่มีต่อผนังหลอดเลือด โดยมีอวัยวะสำคัญต่าง ๆ คอยควบคุมให้ความดันอยู่ในระดับปกติ เช่น หัวใจ, ไต และหลอดเลือด ซึ่งสามารถหดหรือขยายตัวได้ เป็นต้น

แต่ที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นคือ ความดันโลหิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามท่านั่งหรือท่ายืนอาหารหรือเครื่องดื่ม อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือปริมาณการออกกำลังกาย และแน่นอนว่าวิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะทำให้เรารู้ว่า “ความดัน” ของเราเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน นั่นก็คือการวัดค่าความดันโลหิต จากเครื่องวัดความดันที่รอบแขน ซึ่งจะวัดออกมาได้ 2 ค่า คือ  

  1. ค่าความดันตัวบน (Systolic pressure) เป็นค่าแรงดันสูงสุด เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท
  2. ค่าความดันตัวล่าง (Diastolic pressure) เป็นค่าแรงดันสูงสุด เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัว มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท เช่นเดียวกันกับค่าความดันตัวบน

     

ค่าความดันเท่าไหร่ ถึงไม่ปกติ ? 

ค่าความดันโลหิตที่ปกติ ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุข คือควรมีค่าความดันตัวบนน้อยกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท และมีค่าความดันตัวล่างน้อยกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท

แต่ถ้ามีค่าความดันตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และมีค่าความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา


ยิ่งปล่อยไว้นาน ยิ่งมีอาการและโรคแทรกซ้อน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูง คือมักไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก ๆ เมื่อโรคเริ่มรุนแรงขึ้น ถึงจะมีอาการผิดปกติต่อร่างกาย ดังนี้

  • ตาพร่าใจสั่น
  • ปวดศีรษะและอาเจียน
  • เหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • เจ็บหน้าอกรุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรง 

ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อมโดยมีคราบไขมันพอกที่ผนังหลอดเลือด จนเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตีบ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่อวัยวะสำคัญ เช่น 

  • จอประสาทตาเสื่อม
  • หลอดเลือดอุดตัน เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต
  • ภาวะไตวายเรื้อรัง เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ
  • หัวใจวาย เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง 
     

ภัยเงียบที่ป้องกันได้ ด้วยการตระหนักรู้

อย่างไรก็ตาม การวัดค่าความดันโลหิตเพียงครั้งเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง และตรวจติดตามเป็นระยะ เพราะค่าความดันโลหิตเป็นตัวเลขที่มีปัจจัยหลายอย่างมากระทบได้ง่าย เช่น ความเหนื่อย ความเครียดหรือความกังวล

ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) เพื่อให้ผู้คนได้ทำความรู้จักและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนได้ทุกเพศทุกวัย 

ที่มา: กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค,  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันความดันโลหิตสูงโลกWorld Hypertension Dayค่าความดันโลหิตการวัดค่าความดันโลหิต17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก
นวพร เรืองศรี
ผู้เขียน: นวพร เรืองศรี

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ผู้อุทิศชีวิตให้ชานมไข่มุกหวาน 100%

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด