ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จาก Skylab สู่ Lunar Gateway สถานีอวกาศสหรัฐฯ เปลี่ยนไปอย่างไร


วันสำคัญ

14 พ.ค. 67

Thai PBS Sci & Tech

Logo Thai PBS
แชร์

จาก Skylab สู่ Lunar Gateway สถานีอวกาศสหรัฐฯ เปลี่ยนไปอย่างไร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1150

จาก Skylab สู่ Lunar Gateway สถานีอวกาศสหรัฐฯ เปลี่ยนไปอย่างไร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

51 ปีที่ผ่านมา 14 พฤษภาคม 1973 สหรัฐฯ ได้ส่งสถานีอวกาศแห่งแรกของตัวเองขึ้นสู่อวกาศในชื่อ Skylab ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแบบหนึ่งโมดูล ไม่ได้เกิดจากการประกอบกันของชิ้นส่วนหลาย ๆ ชิ้นส่วนบนวงโคจร ทำให้ในการส่งขึ้นไปนั้นจำเป็นต้องใช้จรวดขนาดใหญ่ในการนำส่ง ได้แก่จรวด Saturn V ซึ่งเป็นจรวดทรงพลังที่ตกทอดมาจากโครงการในยุค Apollo

ในขณะที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า NASA เองก็ได้วางแผนโครงการสถานีอวกาศแห่งใหม่ ที่จะมาแทนสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน ได้แก่สถานีอวกาศ Lunar Gateway ซึ่งจะไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดยอาศัยความร่วมมือกับชาติพันธมิตรในโครงการ Artemis หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษ สหรัฐฯ มีการสร้างสถานีอวกาศเพียงแค่ 2 สถานีด้วยกัน ได้แก่ สถานีอวกาศ Skylab และสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ส่วนโครงการ Lunar Gateway จะเป็นสถานีอวกาศสถานีที่สามของสหรัฐฯ

ภาพสถานี Skylab ถ่ายจากยานอวกาศที่กำลังเข้าเทียบท่า

หลังจากที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์เดินทางไปยังดวงจันทร์ เป้าหมายการสำรวจอวกาศก็เปลี่ยนไป NASA เริ่มมีแผนในการศึกษาการสำรวจอวกาศในระยะยาวมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยสถานีอวกาศ เพื่อให้นักบินอวกาศสามารถทำการทดลองได้ ในช่วงเดียวกันนั้นสหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มส่งสถานีอวกาศตระกูลซัลยุท (Salyut) ขึ้นสู่วงโคจร แต่สถานีอวกาศของสหภาพโซเวียต เป็นสถานีอวกาศในลักษณะที่ใช้แล้วทิ้ง คือมีการส่งขึ้นไปได้บ่อย ๆ มากถึง 7 ครั้งในระหว่างปี 1971 จนถึง 1982 ในขณะที่สถานีอวกาศ Skylab ของสหรัฐฯ จะใช้ในเชิงถาวรมาตั้งแต่ปี 1971-1979 เป็นระยะเวลา 8 ปี

Skylab มีความยาว 25 เมตร กว้าง 17 เมตร มีมวลมากกว่า 76 ตัน โคจรอยู่ที่ความสูง 250 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และสามารถเป็นที่อยู่ให้กับนักบินอวกาศได้มากถึง 9 คนพร้อมกัน ในการเดินทางไปยังสถานีจำเป็นต้องใช้ยานอวกาศ Apollo แบบเดียวกับที่ใช้ในการเดินทางไปยังดวงจันทร์

ภาพถ่ายสถานีอวกาศ Skylab จากยานอะพอลโล

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่า ช่องว่างระหว่างการสำรวจอวกาศระยะยาวของสหรัฐฯ นั้นเว้นว่างไปในระหว่างปี 1979 ถึง 1998 เป็นระยะเวลา 20 ปีที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีสถานีอวกาศ เหตุผลก็เพราะว่าสหรัฐฯ ได้มีการพัฒนาโครงการกระสวยอวกาศ (Space Shuttle) เข้ามาตอบโจทย์ในการทำการทดลองในอวกาศ เนื่องจากตัวกระสวยนั้นมีขนาดใหญ่และสามารถนำส่งสัมภาระขนาดใหญ่เช่นการทดลองต่าง ๆ ขึ้นสู่วงโคจรได้

ในขณะที่ในช่วงเดียวกันสหภาพโซเวียตเองได้สร้างสถานีอวกาศมีร์ (Mir) และในช่วงหลังที่สหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตซึ่งล่มสลายกลายมาเป็นสหพันธรัฐรัสเซียได้หันมาร่วมมือกันสำรวจอวกาศ เราก็ได้เห็นการเชื่อมต่อกันระหว่างกระสวยอวกาศกับมีร์หลายครั้ง จนสุดท้ายทั้งคู่หันมาร่วมมือกับชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติและได้เริ่มส่งโมดูลแรกในปี 1998

สถานีอวกาศนานาชาตินั้นเดิมทีเป็นโครงการจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อว่าสถานีอวกาศ Freedom ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดจากการสร้างสถานีอวกาศขนาดเล็กอย่าง Skylab มาเป็นสถานีอวกาศขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยหลายโมดูล ก่อนที่ชาติพันธมิตรจะหลั่งไหลเข้ามาร่วมกันก่อสร้างภายใต้ชื่อใหม่คือสถานีอวกาศนานาชาติ

สถานีอวกาศนานาชาติกลายเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในงานวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมันได้เป็นบ้านของการทดลองมหาศาลที่ถูกส่งขึ้นมาบนอวกาศตลอดระยะเวลา 25 ปี และแม้ NASA กับชาติพันธมิตร จะมีแผนการปลดระวางสถานีอวกาศนานาชาติในช่วงประมาณปี 2030 เพื่อหันไปพัฒนาสถานีอวกาศรุ่นใหม่บนวงโคจรของดวงจันทร์อย่าง Lunar Gateway

ภาพถ่ายก่อนการเชื่อมต่อยานอะพอลโลกับสถานีอวกาศ Skylab

จุดสังเกตที่น่าสนใจคือสหรัฐฯ เลือกที่จะสร้างสถานีอวกาศในเชิงถาวรมากกว่าการ “ซ้อม” สร้างสถานีอวกาศหลาย ๆ สถานี อย่างโครงการซัลยุท ของสหภาพโซเวียต หรือแม้กระทั่งสถานีอวกาศเทียนกงของจีน แม้ในช่วงโครงการ Skylab นั้น จะมีการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและวัตถุประสงค์ของตัวสถานี แต่โครงการ Skylab ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็งให้กับการศึกษาผลกระทบของมนุษย์ระยะยาวในอวกาศอย่างมาก และเป็นอิทธิพลสำคัญของการพัฒนาสถานีอวกาศนานาชาติ

ภาพจำลองสถานีอวกาศ Lunar Gateway

การที่เราเห็นสถานีอวกาศ 3 แห่งของสหรัฐฯ ได้แก่สถานีอวกาศ Skylab สถานีอวกาศนานาชาติ และสถานีอวกาศ Lunar Gateway จึงเป็นภาพสะท้อนวิธีการมองและกลยุทธ์ของสหรัฐฯ ที่น่าสนใจที่แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าแรกในการก่อสร้างสถานีอวกาศ แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกและการสำรวจอวกาศในระยะยาวได้

เรียบเรียง : ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

SkylabSkylab Space Stationสถานีอวกาศสถานีอวกาศนานาชาติสถานีอวกาศ Lunar GatewayอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - AstronomyวันสำคัญThai PBS On This Day
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด