ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วงเสวนาชี้ บริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ ต้นเหตุ "เผาป่า-ทำลายทะเล"

สังคม
9 เม.ย. 58
13:00
1,113
Logo Thai PBS
วงเสวนาชี้ บริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ ต้นเหตุ "เผาป่า-ทำลายทะเล"

นักวิชาการชี้อุตสาหกรรมเกษตรของบริษัทเอกชนรายใหญ่เป็นต้นเหตุของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่สาเหตุหนึ่งเกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตรเพื่อปลูกข้าวโพดป้อนโรงงานอาหารสัตว์ การใช้เครื่องมือการประมงแบบทำลายล้างเพื่อจับปลาเล็กปลาน้อยไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ไปจนถึงสร้างปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรภายใต้ระบบพันธสัญญา

ดร.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และผู้วิจัยผลกระทบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง "ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม และอาหาร"  จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมเมื่อวานนี้ (8 เม.ย.2558) การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงทำให้เกิดการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติหมอกควัน  ซึ่งดร.สฤณีเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์มีมาตรฐานในการรับซื้อวัตถุดิบเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ยังควรพิจารณาหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดใหม่ที่เหมาะสม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หน่วยงานรัฐและเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซีพีได้แถลงข่าวถึงสาเหตุของวิกฤติหมอกควันในภาคเหนือ โดยได้สร้างมายาคติให้สังคมเข้าใจผิดในหลายกรณี เช่น การอ้างว่าไฟป่าเกิดจากการที่ชาวบ้านเผาป่าเพื่อหาของป่าและอ้างว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่เกี่ยวกับการเผาพื้นที่เกษตร แต่ข้อเท็จจริงคือ ข้าวโพดราว 50% ถูกป้อนเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ และการที่ชี้แจงว่าจุดความร้อน (Hotspot) นั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีรายงานว่าบริษัท ซีพี ได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดไปที่เมียนมาร์ด้วย

บริษัทซีพีตกเป็นจำเลยในวิกฤติหมอกควันภาคเหนือภายหลังจากที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด มีการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อป้อนวัตถุดิบให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นผู้หนึ่งที่ออกมาตั้งข้อสังเกต โดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนมีนาคมว่า "ฟังรัฐบาลบอกว่า ปัญหาหมอกควันพิษ มาจากชาวบ้านเผาซากไร่ มาจากไฟป่าของประเทศเพื่อนบ้าน กล้าไหมครับที่จะประกาศออกมาว่าปัญหาใหญ่คือบริษัทเกษตรรายใหญ่ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรุกป่า ปลูกข้าวโพด เพื่อตัวเองจะได้รับซื้อเป็นอาหารสัตว์ แถมยังขายเมล็ดพันธุ์กับชาวบ้านอีก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพด ชาวบ้านก็ต้องเผาซากไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ เป็นวงจรอุบาทว์มาทุกปี ปัญหาควันพิษภาคเหนือจึงไม่เคยแก้ไขได้ ตอนนี้ภูเขาประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มหัวโล้น เพราะมีส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดกันหลายล้านไร่ แต่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตรรายเดียวกับบ้านเราหรือไม่"

ซึ่งต่อมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ได้แถลงข่าวตอบโต้ว่าพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ที่ทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรในการปลูกข้าวโพดนั้น บริษัทสามารถควบคุมการจัดการได้และยืนยันว่าไม่ได้มีการเผาวัสดุทางการเกษตรและยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การส่งเสริมโครงการเกษตรพึ่งตนเอง ปลูกข้าวโพดแบบยั่งยืน รวมถึงลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม

ด้านนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวในเวทีเสวนาว่า อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรทางทะเลด้วย เนื่องจากมีการทำประมงเพื่อป้อนโรงงานผลิตปลาป่นสำหรับนำไปทำอาหารสัตว์ โดยมีการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล เช่น อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ

ปลาเล็กปลาน้อยที่จับได้จะนำไปทำปลาป่นซึ่งจะนำไปผสมกับข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงเท่ากับทำร้ายทั้งป่าและทะเลไทย นายบรรจงกล่าว

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยอธิบายว่า ปัญหาของอวนลากซึ่งเป็นอวนล้อมตาถี่ทำให้จับตัวอ่อนของสัตว์น้ำขึ้นมาทำปลาป่นอาหารสัตว์ ซึ่งหากปล่อยให้ตัวอ่อนโตเต็มวัยจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทั้งนี้กรมประมงได้ขึ้นทะเบียนเรืออวนลากที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการได้จำนวนหนึ่ง แต่เชื่อว่ามีเรืออวนลากอีกนับหมื่นลำที่ไม่มีใบอนุญาตและทำประมงโดยผิดกฎหมาย  ขณะที่อวนรุนเป็นเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำโดยการไถพื้นทะเล ทำให้หญ้าทะเลและปะการังได้รับความเสียหาย กฎหมายห้ามใช้อวนรุนในพื้นที่ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่พบว่ามีผู้ละเมิดจำนวนมาก ทำให้ทรัพยการชายฝั่งเสียหายอย่างหนัก

นายบรรจงเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรงดรับซื้อปลาเล็กปลาน้อย หรือที่เรียกว่า "ปลาเป็ด 18%"  ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาป่น เพื่อทำให้ชาวประมงเลิกใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายทรัพยากรทางทะเล

ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า โครงสร้างการผลิตของประเทศถูกเปลี่ยนจากระดับครอบครัวเป็นบริษัทในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา เป็นการทำลายอุตสาหกรรมระดับครอบครัวและความหลากหลายทางอาหาร ซึ่งการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเช่นนี้จะทำไม่ได้หากรัฐไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน  นอกจากนี้บริษัทเอกชนยังได้ผลักดันให้รัฐออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรในระบบเกษตรพันธ แต่เมื่อต้องการให้รัฐช่วยเหลือก็มักจะนำเกษตรกรมาอ้าง

นายไพสิฐเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบราชการและกลไกการดูแลประชาชน  เพราะที่่ผ่านมามีข้อมูลว่าหน่วยงานรัฐรับเงินจากบริษัทเอกชนมาทำโครงการวิจัยซึ่งมักเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนมากกว่าประชาชน

นายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนมีหนี้สินจำนวนมากและที่ดินมรดกผืนสุดท้ายได้ถูกธนาคารยึดไปแล้ว เพราะการทำเกษตรพันธสัญญาไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยื่น ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้เริ่มรวมกลุ่มในการผลิตอาหารทางเลือกที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใต้ระบบพันธสัญญา และเรียกร้องผู้บริโภค ช่วยสนับสนุนการหยุดกลไกเกษตรพันธสัญญาเพื่อเกษตรกรรมไทยที่ยั่งยืน

มล.คมสัน วรวุฒิ นักวิชาการกรมคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังทำการศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรพันธสัญญา เพื่อเตรียมออกกฎหมายคุ้มครองเกษตรกร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง