ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด 13 โครงการรัฐไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ชนะประมูล

เศรษฐกิจ
2 เม.ย. 68
11:59
3,298
Logo Thai PBS
เปิด 13 โครงการรัฐไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ชนะประมูล
อ่านให้ฟัง
11:07อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ในขณะที่ทีมกู้ภัยและฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามอย่างเต็มที่ ปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย การหาคำตอบถึงสาเหตุการถล่มของอาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้าง เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะต้องมีคำตอบให้ประชาชน

แต่ที่มากไปกว่านั้น คือการขยายผลตรวจสอบในเรื่องอื่น ที่เผยให้เห็นปัญหาที่ซุกอยู่ภายใต้เศษซากอาคารที่พังถล่ม ที่เกี่ยวพันกับบริษัทก่อสร้าง จนถึงวัสดุก่อสร้างที่ผลเบื้องต้นพบว่ามีเหล็กเส้นในบางขนาดที่เก็บตัวอย่างมาจากซากอาคาร และตีตราผลิตจากบริษัทของจีน ไม่ได้มาตรฐาน

ทางกิจการร่วมค้า ITD-CRC no.10 ไทย ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ช่วงหนึ่งตอนหนึ่ง ยืนยันว่าการจัดซื้อวัสดุและการก่อสร้างอาคาร ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดใน TOR กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานทางวิศวกรรม วัสดุที่ใช้ มีการคัดเลือกผู้ผลิตตามข้อกำหนดทางเทคนิค ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจรับวัสดุ และผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด ก่อนเข้าสู่พื้นที่ก่อสร้างทุกครั้ง

นี่เป็นอีกคำถามที่การตรวจสอบซ้ำของกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการที่กระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้น น่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ และต้องหาให้ได้เช่นกันว่า เหล็ก หรือวัสดุก่อสร้างที่อาจกลายเป็นเหล็กเบา หรือไม่ผ่านมาตรฐานเชิงกล ที่ผลิตจากบริษัทจากจีน นั้น กระจายไปใช้งานที่อื่นด้วยหรือไม่

แต่การขยายผลไม่จบแค่นี้ เพราะกิจการร่วมค้าที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 หรือ CRC no.10 ประเทศไทย ไปร่วมประมูลและได้รับงานก่อสร้างอาคารแห่งต่างๆ ก็ต้องตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า โครงการเหล่านั้นจะไม่เกิดปัญหา

13 โครงการ ไชน่า เรลเวย์ รัฐร่วมเป็นกิจการร่วมค้า

ตอนนี้พบ 13 โครงการรัฐที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าในโครงการภาครัฐ นอกเหนือจากโครงการสำคัญ อย่างโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ที่ถล่ม มูลค่า 2,136 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2562 - 2565 โครงการที่ได้ชนะการประมูล มีมูลค่ารวมกว่า 7,232 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ ได้แก่

1.ท่าอากาศยานนราธิวาส อาคารที่พักผู้โดยสารและสิ่งก่อสร้างประกอบ มูลค่า 639 ล้านบาท

2.โครงการเคหะชุมชนภูเก็ตเป็นทาวน์โฮม 354 หน่วย มูลค่า 343 ล้านบาท

3.โรงเรียนวัดอมรินทราราม - อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่า 160 ล้านบาท

4.อาคารคลังพัสดุ รพ.จักรีนฤบดินทร์ มูลค่า 146 ล้านบาท

5.หอพักนักศึกษา ม.ราชภัฏภูเก็ต มูลค่า 132 ล้านบาท

6. ศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ มูลค่า 540 ล้านบาท

7. ศูนย์ฝึกกีฬามวย กกท. หัวหมาก มูลค่า 608 ล้านบาท

8. ที่พักข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มูลค่า 386 ล้านบาท

9. ศูนย์บริการลูกค้า การไฟฟ้าภูเก็ต มูลค่า 210 ล้านบาท

10.อาคารกองบังคับการ กรมพลาธิการทหารเรือ มูลค่า 179 ล้านบาท

11. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มูลค่า 716 ล้านบาท

12. สถาบันวิชาการ กฟภ. มูลค่า 606 ล้านบาท

13. และอาคารผู้ป่วยนอก รพ.สงขลา มูลค่า 426 ล้านบาท

 

สั่งตรวจสอบใน 7 วัน นอมินี-ฮั้วประมูล

CRC no.10 ประเทศไทย เป็นบริษัทลูกของ China Railway No.10 Engineering Group หนึ่งในรัฐวิสาหกิจจีนในเครือ China Railway Group Limited (CREC) ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2561 ใช้โมเดลทางธุรกิจแบบ "กิจการร่วมค้า" กับบริษัท เอกชนไทยเพื่อเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่หลายโครงการ ทำให้เกิดคำถามถึงวิธีการเข้าประมูลงานของบริษัท ซึ่งมักเข้าไปซื้อซองเอกสารแต่ไม่ยื่นเสนอราคาเอง และไปจับมือกับเอกชนไทยรายใหญ่เพื่อยื่นซองแทนในนาม "กิจการร่วมค้า" ทำให้เกิดแรงกดดันให้ตรวจสอบเชิงลึกขึ้น นอกเหนือจากวิธีการประมูลอย่างโปร่งใส

ตอนนี้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูเรื่องนี้ ทั้ง ป.ป.ช. กองสอบสวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของ ตร. ดีเอสไอ จนถึงสรรพากร ตรวจสอบให้ได้ผลภายใน 7 วัน เพื่อหาว่าบริษัทนี้ เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นในลักษณะเป็นนอมินีด้วยหรือไม่ มีคนไทยเกี่ยวข้องหรือเปล่า มีการฮั้วประมูลหรือไม่

หน้าที่นี้ไปตกที่ดีเอสไอที่จะต้องช่วยกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบกรณีนอมินี ซึ่งเมื่อวานดีเอสไอมีการประชุมสรุปสถานการณ์กรณีอาคาร สตง.ถล่ม

มีประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 , 2. พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 , 3. พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือการฮั้วประมูล

ยังไม่รวมเรื่องบริษัทก่อสร้างจีน ใช้วัสดุบริษัทจีนที่อาจตกมาตรฐานมาก่อสร้างโครงการรัฐของไทย โดยที่ท้ายที่สุด ประเทศไทยเหมือนจะไม่ได้อะไรเลย คำตอบทั้งหมดเหล่านี้จะต้องหาให้ได้ เพื่อความเชื่อมั่นของประชาชน และชาวโลกที่จับจ้องอยู่

สทนช.ยันการก่อสร้างอาคารเป็นไปตามมาตรฐาน-รับแรงแผ่นดินไหว

สำหรับ อาคาร สทนช. ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นอาคารสูง 16 ชั้น อาคารชั้นใต้ดิน 1 ชั้น และอาคารสัมมนา 3 ชั้น บนพื้นที่ 14 ไร่ หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนทำให้ตึกสูงหลายแห่งได้รับผลกระทบ ซึ่งตึก สทนช. แห่งใหม่ ดำเนินการก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า NCRCE ประกอบด้วย บริษัทนวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 51 และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) ถือหุ้นร้อยละ 49 ซึ่งชนะการประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ด้วยราคากว่า 716 ล้านบาท และเริ่มการก่อสร้างตั้งแต่เดือน ส.ค.2562 ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปถึงร้อยละ 99 แล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

ขณะที่ก่อนหน้านี้ จากเหตุการณ์ที่อาคารแห่งใหม่ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มลงมา จึงมีกระแสข่าวเรื่องความเชื่อมโยงของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ถูกว่าจ้าง ให้สร้างอาคารแห่งใหม่ของ สทนช. ด้วย จะตั้งข้อสังเกตว่าอาคารแห่งนี้จะมีความแข็งแรงหรือไม่

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บอกว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่เกิดแผ่นดินไหว ได้สั่งให้คนงานหยุดปฏิบัติงานทันที และได้นำผู้ออกแบบอาคาร วิศวกรควบคุมงาน ผู้รับจ้าง เข้ามาร่วมตรวจสอบอาคารดังกล่าวแล้ว ไม่พบรอยร้าวหรือความเสียหายแต่อย่างใด แม้ว่าอาคารแห่งนี้ จะได้รับแรงสั่นสะเทือนเช่นกันในวันดังกล่าว

ส่วนสร้างอาคารแห่งนี้ ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงทุกประการ ที่จะคำนึงถึงความถูกต้อง มั่นคงและปลอดภัยในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง โดยจะยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเป็นไปอย่างรอบคอบและ มีประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่อาคารแห่งนี้ยังได้มีมาตรฐานการรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งมีการกำหนดการสั่นสะเทือนเป็นค่าแรง G ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานด้วยการใช้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศไทย ทั้งที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เคยเกิดแผ่นดินไหวสูง 4.5 ริกเตอร์ และจังหวัดกาญจนบุรี ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวสูง 6-6.5 ริกเตอร์มาคำนวณเป็นมาตรฐานและสร้างอาคารให้ สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนมากกว่ามาตรฐานถึง 3 เท่า จึงทำให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนที่ได้รับของอาคารแห่งนี้มีเพียง 1 ใน 3 ของค่า G ที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ อีกทั้งในทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงาน จะต้องมีผู้ควบคุมงาน คอยดูแลการปฏิบัติงานของคนงานที่จะต้องก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานและสเปคที่กำหนดร่วมกัน หากไม่ทำตามแผนที่กำหนด ก็จะมีการลงโทษ หรือยกเลิกสัญญาได้

เมื่อถามว่าจากภาพที่ถูกนำมาแชร์ในโซเชียลต่างๆ ที่พบว่ามีการใช้เหล็กเส้นเล็ก ในการก่อสร้างอาคาร นายไพฑูรย์ บอกว่า ชุดภาพดังกล่าวเป็นเสาของอาคารสัมมนา ซึ่งมีขนาดเล็ก ส่วนอาคารขนาดใหญ่จะใช้เหล็กและซีเมนต์ ที่ผ่านการตรวจสอบจากศูนย์วิจัยของกรมชลประทาน และมีวิศวกรที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำต่างๆ และสามารถทนต่อการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี จึงทำให้อาคารนี้ค่อนข้างที่จะสมบูรณ์ และมีความแข็งแรง พร้อมที่จะรับน้ำหนัก และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในอนาคต ที่สำคัญเป็นอาคารที่รับรองมาตรฐานอาคารเขียว ที่จะประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ทั้งนี้วิศวกรผู้ควบคุมงาน และสื่อมวลชน เข้าร่วมตรวจสอบอาคารที่ทำการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แห่งใหม่ โดยใช้เทคนิค Visual Check หรือใช้แสงเลเซอร์สีเขียววัดความเอียงของอาคาร ซึ่งเสาทุกต้น ยังคงสภาพปกติ และไม่เกิดความลาดเอียงเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นอาคาร กระจก ผนังกำแพง รวมถึงคอลิฟต์ ซึ่งเป็นจุดรับน้ำหนักสูงสุด ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเช่นกัน

อ่านข่าว :

กู้ร่างได้เพิ่ม 1 ศพตึก สตง.ถล่ม เร่งค้นหาอีก 72 คน

วันแรก! เปิดจราจร ถ.กำแพงเพชร 2 ตึกสตง.ถล่มตาย 15 คน

กทม.เผย ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ยังมีผลบังคับใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง