Thailand Web Stat
ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ซู จี" เรียกร้องสตรีเมียนมาสนใจการเมือง หลังพบผู้หญิงลงสมัครเลือกตั้งแค่ร้อยละ 15

ต่างประเทศ
6 พ.ย. 58
09:21
253
Logo Thai PBS
"ซู จี" เรียกร้องสตรีเมียนมาสนใจการเมือง หลังพบผู้หญิงลงสมัครเลือกตั้งแค่ร้อยละ 15

นาทีนี้ผู้หญิงในเมียนมาไม่มีใครโดดเด่นไปกว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ในเวทีสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แม้เธอเป็น 1 ในผู้หญิงที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดแค่ร้อยละ 15 จากผู้สมัคร 6,000 คน แต่ผู้หญิงเมียนมาก็คาดหวังความเปลี่ยนแปลงจากเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่นักกิจกรรมจากแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนักโทษทางความคิดอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้าน กกต. เมียนมาเร่งสาธิตวิธีการลงคะแนนตามบ้านก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 2 วันข้างหน้า ติดตามรายงานการหาเสียงโค้งสุดท้ายในย่างกุ้ง

วันนี้ ( 6 พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ปล่อยทีเด็ดสำคัญด้วยการประกาศว่า ถ้าชนะเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลจะมีอำนาจเหนือประธานาธิบดี ผู้สมัครเลือกตั้งผู้หญิงในเมียนมาหลายคนสะท้อนความคิดเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้หญิงในเมียนมาว่าสามารถเข้าไปทำงานด้านการเมืองได้

เม ทู ทู อัง วิศวกรหญิงในฐานะผู้สมัครพรรค NDF กล่าวว่า จากการทำงานและลงพื้นที่สาธารณะมาตลอด เห็นว่าปัจจุบันต้องการเร่งสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงเมียนมาให้มีบทบาทในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองมากขึ้น เพราะจากผู้สมัคร 6,000 คน มีผู้หญิงเข้าชิงเก้าอี้ในรัฐสภาเพียง 800 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้สมัครทั้งหมด ซึ่งนางออง ซาน ซูจี ยังออกปากว่าผู้หญิงเมียนมาสนใจการเมืองน้อยไปสักหน่อย และต้องเร่งให้การศึกษาในเรื่องนี้

ส่วน เทต เทต ไค ผู้สมัครหญิงพรรค NLD เผยว่า ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมยังคงมีอยู่ในเมียนมา ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องเร่งตัวเองเข้าทำงานทางการเมือง ก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะถึงแม้ นางออง ซาน ซูจี จะมีบทบาทและยังเป็นสัญลักษณ์เชิงการเมืองที่เป็นต้นแบบของผู้หญิงเมียนมา แต่การศึกษาที่ดีและเป็นบุตรของ นายพลออง ซาน ทำให้หญิงเมียนมาจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นเรื่องห่างไกลกับจุดยืนที่พวกเธอเป็นอยู่ในฐานะประชนชนทั่วไป ทว่า ก็น่ายินดีที่อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนี้ เริ่มเห็นผู้หญิงเมียนมาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ด้าน นายดามาสโก มัคบัล ประธานเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย กล่าวว่า หลังจากปักหลักทำงานในเมียนมามา 2 เดือน ทางเครือข่ายเป็นห่วงในเรื่องการจัดรายชื่อประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวพบได้ในหลายประเทศ

“โดยรวมยอมรับได้ถึงมาตรฐานการการจัดการเลือกตั้งของเมียนมาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเมียนมาไม่ได้จัดการเลือกตั้งบ่อย แต่ที่เห็นคือผู้สมัครยังเดินทางและทำกิจกรรมเลือกตั้งได้อย่างเสรี บ่งว่าเมียนมามีความพยายามจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ขอให้จับตาเรื่องการซื้อเสียงและการข่มขู่ผู้ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าหากการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. 2258 มีเหตุผิดปกติ ก็จะส่งผลให้รัฐบาลที่ได้หลังจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมน้อยลง” นายมัคบัลระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาได้ลงพื้นที่สอนวิธีการลงคะแนนและเก็บรวบรวมบัตรเลือกตั้ง แก่ประชาชนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในนครย่างกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้งจริง และไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้

ขณะที่ นักกิจกรรมจากแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางมอบหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนักโทษทางความคิดและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข โดย นายทูน เด เลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ นักกิจกรรมจากแอนเนสตีฯ เชื่อว่า มีนักสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน นักกิจกรรมทางเมือง นักศึกษาชาวเมียนมาถูกคุมขังกว่า 94 คน จากใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ศาสนา หรือชาติพันธุ์ โดยไม่ใช้ความรุนแรง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Failed to load player resources

Please refresh the page to try again.

ERROR_BYTEARK_PLAYER_REACT_100001

00:00

00:00

ให้คะแนนการอ่านข่าวนี้