ตัวแทนกลุ่ม”มารา ปาตานี” แถลงข่าวครั้งแรกยื่น 3 ข้อเสนอก่อนเดินหน้าคุยสันติสุข
วันนี้ (27 ส.ค.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานความคืบหน้าการเจรจาสันติภาพ ในกระบวนการสร้างสันติสุขชายแดนใต้ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มมารา ปาตานี ที่ประกอบไปด้วย บีอาร์เอ็น สายสนับสนุนการพูดคุย กลุ่มบีไอพีพี กลุ่มจีเอ็มไอพี และพูโลย่อยอีก 3 กลุ่ม ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และมีการแถลงข่าวในบ่ายวันเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนมารา ปาตานีที่มาแถลงข่าวในช่วงบ่ายมี 4 คน จากทั้งหมด 7 คน อยู่ในกลุ่มที่ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนในช่วงเช้า ขณะที่อีก 3 คนไม่ได้มาร่วมการแถลงข่าว เพราะไม่ต้องการเปิดเผยตัว
ตัวแทนกลุ่มมารา ปาตานี แนะนำความเป็นมาของกลุ่มว่าเป็นองค์กรร่ม (Umbrella) ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ประกอบด้วยกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม คือ BRN, BIPP, GMIP, พูโล -DSPP, พูโล-MKP และ พูโล-P4 ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการต่อสู้และกำหนดข้อเรียกร้องร่วมในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย โดยในการแถลงข่าวและพูดคุยในช่วงเช้าไม่มีกลุ่ม พูโล P4 เข้าร่วม
ตัวแทนกลุ่มมารา ปาตานี ยืนยันว่า การพูดคุยกับกับฝ่ายไทย 3 ครั้งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ยังอยู่ใจช่วงของการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจระหว่างกันเท่านั้นหากจะให้การพูดคุยระหว่างสองฝ่ายเป็นทางการ เพื่อนำไปสู่กระบวนการลงนามในข้อตกลงต่างๆ ฝ่ายรัฐไทยต้องยอมรับข้อเสนอของมาราปาตานี 3 ข้อก่อน
โดยข้อแรก เรียกร้องให้รัฐสภาประกาศให้การเจรจาสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พวกเขาให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาเมื่อฝ่ายไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กระบวนการต่างๆ ที่เคยทำมาต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ข้อสองการให้ความคุ้มครองยกเว้นบังคับใช้กฏหมายกับคณะผู้แทนเจรจาสันติสุขของมารา ปาตานี
และข้อสุดท้าย ขอให้รัฐบาลไทยยอมรับตัวตนของมารา ปาตานี โดยฝ่ายรัฐไทยต้องใช้คำว่ามารา ปาตานี แทนการเรียกว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในเอกสารทุกชิ้นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติสุข
นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มมารา ปาตานี ยังกล่าวถึง ข้อเสนอจากการพูดคุยกับของตัวแทนฝ่ายไทยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา 3 ข้อ คือ 1.การสร้างพื้นที่ปลอดภัย 2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ และ 3.กระบวนการยุติธรรมที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าจะนำไปพิจารณา แต่ก็ต้องหลังจากที่ฝ่ายไทยยอมรับข้อเสนอของกลุ่มมารา ปาตานี เสียก่อน
กลุ่มมารา ปาตานี ใช้ภาษามาลายูและภาษาอังกฤษในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ขณะที่การพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยและมาเลเซียช่วงเช้าที่ผ่านมาบรรยากาศค่อนข้างเป็นกันเอง พวกเขาตอบข้อซักถามสื่อมวลชนด้วยภาษาไทย มาลายูและภาษาอังกฤษ
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl