ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 ขั้นตอน ขึ้นบันไดเลื่อนอย่างไรให้ปลอดภัย

4 ส.ค. 58
06:08
3,703
Logo Thai PBS
 5 ขั้นตอน ขึ้นบันไดเลื่อนอย่างไรให้ปลอดภัย

นายกสมาคมลิฟท์แห่งประเทศไทยเผย 5 ขั้นตอน ขึ้นบันไดเลื่อนแบบไม่เสี่ยงภัย อาทิ ไม่ควรแหย่อวัยวะในร่างกายเข้าซอกหลืบในบันไดเลื่อน หากชายกระโปรง-กางเกงยาวให้ยกขึ้นระหว่างขึ้นบันได และกดปุ่ม อี-สต็อป สีแดงที่หัวและท้ายบันไดทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ ระบุไม่ควรปล่อยเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ขึ้นบันไดเลื่อนตามลำพัง เหตุเป็นช่วงวัยเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบันไดเลื่อนสูงสุด แนะห้างสรรพสินค้า-เจ้าของอาคารติดป้ายเตือนหรือแนะนำให้ชัดเจน

จากกรณี ผู้ใช้บริการของห้างสรรพสินค้าในเมืองจิ้งโจว มณฑลหูเป่ย และพนักงานทำความสะอาดห้างสรรพสินค้าในนครเซียงไฮ้ ประเทศจีน เกิดอุบัติเหตุถูกบันไดเลื่อนหนีบร่างกายและอวัยวะเข้าไปติดกับกลไกของบันไดเลื่อน เป็นเหตุให้เสียชีวิต 1 ราย และแพทย์ต้องตัดเท้าซ้ายทิ้ง 1 ราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ จนกลายเป็นกระแสตื่นตัวในสังคมไทย ถึงการระมัดระวังมากขึ้นเมื่อต้องใช้บริการบันไดเลื่อนในสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากประเทศไทยเองมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับบันไดเลื่อนต่อปีเป็นจำนวนไม่น้อย โดยล่าสุด วันที่ 3 ส.ค. 2558 บันไดเลื่อนภายในอาคารวงศ์สว่างทาวน์เซ็นเตอร์ ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาวงศ์สว่าง เช่าพื้นที่ เกิดชำรุดขัดข้องขณะเปิดให้บริการ

วันนี้ (4 ส.ค. 2558) นายธเนศ ยงรัตนมงคล นายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ถึงสาเหตุที่ทำให้ระบบวิศวกรรมเครื่องกลขนส่งภายในอาคารหรือบันไดเลื่อน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือสูญเสียชีวิตว่า  มาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ความประมาทของผู้ใช้ และ 2.การขาดวินัยในการบำรุงรักษาที่ปลอดภัยมากพอของเจ้าหน้าที่และเจ้าของสถานที่ ซึ่งกรณีชานพักที่ติดอยู่กับทางขึ้นและลงบันไดเลื่อนเกิดยุบตัวจนเป็นเหตุให้หญิงชาวจีนเสียชีวิต มาจากสาเหตุที่ฝ่ายซ่อมบำรุงบันไดเปิดแผ่นชานพักแล้วไม่ได้ขันน็อตปิด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่แผ่นชานพักดังกล่าวจะยุบตัวลง เนื่องจากทำจากวัสดุแข็งรองรับน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม อีกทั้ง การเปิดแผ่นดังกล่าวต้องใช้เครื่องมือในการเปิด ไม่สามารถงัดแงะเปิดขึ้นได้โดยง่าย แต่หากเป็นการยุบตัวจริงจะขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตว่าผลิตได้มาตรฐานหรือไม่

“ปกติแล้วหากมีการซ่อมบำรุงบันไดเลื่อน ตามหลักทางวิศวกรรมที่ถูกต้องจำเป็นต้องกั้นคอกทั้งด้านล่างและด้านบนของบันไดเลื่อน นอกจากนี้ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ 2 คนเวลาซ่อมแซม โดยเจ้าหน้าที่ 1 คน จะเฝ้าประจำอยู่ที่จุด อี-สต็อป หรือปุ่มหยุดบันไดเลื่อนอัตโนมัติสีแดงบริเวณทางขึ้นหรือทางลง ซึ่งบันไดเลื่อนทุกตัวจะมีปุ่มนี้ เพื่อกรณีเกิดอุบัติเหตุจะได้กดปุ่มหยุดทันที” นายกสมาคมลิฟท์แห่งประเทศไทย ระบุ

นายธเนศกล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าหากบันไดเลื่อนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางที่จะเกิดอุบัติเหตุหรือมีร่างกายมนุษย์เข้าไปติดกับบันไดเลื่อนแน่นอน แต่ที่ผ่านมักพบบันไดเลื่อนชำรุดเกิดเป็นช่องโหว่ตามจุดต่าง ๆ เช่น ซี่ร่องบันไดเลื่อน จนเป็นเหตุให้ชายผ้า ส้นรองเท้า หรือนิ้วมือ-นิ้วเท้าเด็ก เข้าไปติด อย่างไรก็ดี แม้บันไดเลื่อนจะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่ระหว่างขั้นบันได หรือจุดที่สายพานราวบันไดหมุนกลับตัวด้านล่าง ฯลฯ จะมีช่องว่างขนาดเล็กกว้าง 4 มิลลิเมตร ที่ชายกระโปรงผู้หญิง หรือนิ้วมือ-นิ้วเท้าของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ สามารถเล็ดลอดเข้าไปติดได้ จึงอยากให้ผู้ใช้บริการบันไดเลื่อนใช้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ปล่อยให้เด็กขึ้นบันไดเลื่อนตามลำพัง ส่วนข้อปฏิบัติที่ควรทำในการใช้บันไดเลื่อนให้ปลอดภัย นายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยให้ความรู้ไว้ว่า

1.ไม่ควรเอานิ้วมือ-นิ้วเท้า หรืออวัยวะในร่างกายแหย่ตามช่องโหว่ต่าง ๆ ของบันไดเลื่อน

2.หากใส่เสื้อผ้าที่มีระบายยาวทั้งกางเกงและกระโปรงควรยกชายผ้าขึ้นเมื่อก้าวขึ้นบันไดเลื่อน และปล่อยลงเมื่อพ้นจากชานพัก

3.กรณีใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้ายางปลายเปิด หรือรองเท้าส้นสูง เมื่อใกล้ถึงปลายทางบันไดเลื่อนให้ก้าวข้ามหวีบันได เป็นการป้องกันไม่ให้ปลายรองเท้า ส้นรองเท้า รวมถึงเท้า ถูกบันไดเลื่อนหนีบกลืนเข้าไปด้านใน และถ้าบันไดเลื่อนหนีบหรือรองเท้าส้นสูงติดซี่ลูกขั้นบันไดเลื่อนให้รีบสะบัดรองเท้าให้หลุด

4.ผู้ปกครองควรอยู่กับเด็กเล็กทุกครั้งเมื่อขึ้นบันไดเลื่อน ทั้งนี้เพื่อควมปลอดภัย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรอุ้มมากกว่าจูงมือเดินขึ้นบันไดเลื่อน

5.หากเกิดอุบัติเหตุขณะขึ้นบันไดเลื่อน ให้ตั้งสติ กดปุ่ม อี-สต็อป สีแดงให้ไวที่สุด หากกดเองไม่ได้ให้ตะโกนบอกผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้กดให้พร้อมแจ้งฝ่ายซ่อมบำรุงอาคาร โดยระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือไม่ควรขยับร่างกาย เพื่อให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด

“หากเกิดอุบัติเหตุขณะขึ้นบันไดเลื่อน และทางอาคารไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลในส่วนนี้ ผู้ใช้บริการบันไดเลื่อนมีความจำเป็นมากที่ต้องมีความรู้ในการช่วยเหลือตัวเอง เนื่องจากต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที กว่าเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทตัวแทนนำเข้าบันไดเลื่อนหรือลิฟท์จะเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ เพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด อยากให้เจ้าของอาคารสถานที่ ติดป้ายเตือนและข้อควรระวังในการใช้บันไดเลื่อนบริเวณทางขึ้นและลงบันไดเลื่อน หรือบริเวณกำแพงบันได แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครทำเพราะกังวลเรื่องความสวยงามมากกว่า” นายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยกล่าว

ขณะที่ นายอดิศัย แท่งทอง ประธาน บริษัท ลัคกี้ อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้า ผู้แทนจำหน่าย และบำรุงรักษาระบบวิศวกรรมเครื่องกลขนส่งภายในอาคาร กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับบันไดเลื่อนร้อยละ 70-80 มาจากการผู้ใช้ประมาท จึงอยากให้ใช้บันไดเลื่อนด้วยความระมัดระวัง และอีกร้อยละ 20-30 มาจากระบบการบำรุงรักษาไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารต้องไตร่ตรองในการเลือกซื้อบันไดเลื่อน ที่ได้รับอนุญาตจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีบริการหลังการขายที่ดี เจ้าหน้ามีความเชี่ยวชาญหรือได้รับการอบรมในการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง

“ปัจจุบันบันไดเลื่อนที่ใช้แล้วปลอดภัยได้มาตรฐานจริง ๆ มีอยู่ราว 10 แบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป  และแม้ว่าฐานการผลิตของอเมริกาและยุโรปได้ย้ายมาที่ประเทศจีน  แต่ยังคงมาตรฐานการผลิตไว้ ส่วนแบรนด์ท้องถิ่นของจีนเองเท่าที่ทราบ ไม่ค่อยมีเจ้าของอาคารของไทยนำมาใช้ ยิ่งในหัวเมืองใหญ่ส่วนมากใช้แบรนด์ชั้นนำที่เชื่อถือได้” นายอดิศัยแจงเพิ่ม และกล่าวว่าปัจจุบันวงการซื้อ-ขายระบบวิศวกรรมเครื่องกลขนส่งภายในอาคาร มีการแอบอ้างใช้ชื่อแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ หลอกขายบันไดเลื่อนความปลอดภัยต่ำในราคาสูง ซึ่งแบรนด์ที่ถูกแอบอ้างแต่ไม่ได้ผลิตบันไดเลื่อนจำหน่ายได้แก่ ซีเมนต์ ไพโอเนียร์ ฟูจิตสึ และสไลเดอร์ เป็นต้น

ด้าน นายสมบูรณ์ ขวัญอ่วม เจ้าหน้าที่ธุรการและกู้ภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เผยถึงกรณีการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบันไดเลื่อนว่า ที่ผ่านมาส่วนมากเป็นอุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ชายกระโปรงติด รองเท้าส้นสูงติดรองบันไดเลื่อน หรืออุบัติเหตุจากการวิ่งขึ้นลงบันไดแล้วล้ม

“เบื้องต้นผู้ใช้งานควรขึ้นบันไดเลื่อนด้วยความไม่ประมาท และสังเกตว่าบันไดเลื่อนที่ใช้อยู่มีความผิดปกติตรงส่วนไหนหรือไม่ มีป้ายเตือนชำรุดหรือเปล่า เพราะส่วนมากผู้ใช้มักไม่ใส่ใจ และทางห้างสรรพสินค้าหรืออาคารควรติดป้ายเตือน หรือป้ายแนะนำวิธีที่เหมาะสมหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นแก่ลูกค้าหรือผู้ใช้ นอกจากนี้ หากพบอุปกรณ์บันไดเลื่อนเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรแก้ไขหรือตรวจสอบทันที เพราะว่าความเสียหายเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดเหตุใหญ่ได้” เจ้าหน้าที่ธุรการและกู้ภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้บันไดเลื่อนและลิฟต์ วันที่ 6 ส.ค. 2558 ทางสมาคมลิฟท์แห่งประเทศไทยเตรียมจัดงานสัมมนาเรื่องดังกล่าว ณ สมาคมลิฟท์แห่งประเทศไทย ซ.วัดเทพลีลา ตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง