เพราะนายก้องเกียรติ เป็นคน อ.ฉวาง และเป็นอดีต ส.อบจ.ฉวาง พื้นที่เขต 8 เจ้าของพื้นที่โดยอยู่ก่อนแล้ว และยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
เป็นผู้สมัครในสเปคของพรรคกล้าธรรม และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรค ที่มั่นอกมั่นใจประกาศปักธง สส.ให้พรรคมาก่อนหน้านี้แล้ว
จึงได้เห็น “ผู้กองธรรมนัส” ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงท่ามกลางสายฝน และกลยุทธ์ต่าง ๆ จนแจ้งเกิด สส.เขตของพรรคในจังหวัดนครศรีฯ คนแรกได้สำเร็จ และเป็น สส.คนที่ 4 ในภาคใต้ของพรรคกล้าธรรม ต่อจาก 2 สส.ตระกูลมะยูโซ๊ะ จ.นราธิวาส นายสัมพันธ์ และอามินทร์ กับ สส.สงขลา นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว
ในมุมกูรูทางการเมืองยังมองว่า ภารกิจสำคัญในเชิงการเมือง ของ ร.อ.ธรรมนัส ทำได้สำเร็จ แม้จะไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นคนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไว้เนื้อเชื่อใจมาก เป็นสายตรง ช่วยงานกันมาตั้งแต่ตั้งพรรคไทยรักไทย
และเมื่อครั้งนายทักษิณพักโทษ “ปิ๊กบ้าน” เชียงใหม่ครั้งแรก กลางเดือนมีนาคม 2567 ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะรัฐมนตรีเกษตรฯ พรรคพลังประชารัฐขณะนั้น ได้เดินทางไปดักรอพบนายทักษิณ ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ บอกว่า ลาราชการมาดูโครงการต้นแบบ สำหรับเตรียมจัดงานพืชสวนโลกปี 2572
เมื่อครั้งพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคอกแตก ร.อ.ธรรมนัส ยังได้รับการพูดปกป้องและสนับสนุน สส.ในปีก เข้าร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต่อ
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐในสาย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกเขี่ยไปเป็นฝ่ายค้าน และ ร.อ.ธรรมนัส ยังมีบทบาทสำคัญเคียงข้างนายทักษิณอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่เมื่อครั้งเดินทางไปพบ นายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำมาเลเซีย ที่เกาะหลีเป๊ะ เมื่อปลายปี 2567 ทริปนั่งเรือยอร์ชจากภูเก็ต ของนายทักษิณไปเกาะหลีเป๊ะ ว่ากันว่า มี ร.อ.ธรรมนัส ร่วมอยู่ด้วย ก่อนจะมีภาพปรากฏบนเกาะ
ไม่นับเมื่อครั้ง ร.อ.ธรรมนัส ถูกปรับออกจากครม.”ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนกันยายน ปี 2564 ก็เกิดจากมูลเหตุที่เชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณนั่นเอง
จึงเป็นความผูกพันลึกซึ้งเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ และที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัสเสมือนทำภารกิจสำคัญ ให้พรรคเพื่อไทยหลายอย่าง รวมทั้งพาผู้สมัครนายก อบจ.ชนะเลือกตั้ง ทั้งที่ จ.ขอนแก่น และจ.ปราจีนบุรี
รศ.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพนอร์ท ถึงขั้นใช้คำว่า พรรคกล้าธรรม โดย ร.อ.ธรรมนัส เป็นเสมือนไฟท์ติ้ง แบรนด์ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งในศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรี ฯ เพราะตัวเต็งที่ห้ำหั่นกันมีเพียง 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือภูมิใจไทยกับพรรคกล้าธรรม เท่านั้น
จึงเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี หากภูมิใจไทยชนะก็แค่เสมอตัว ที่รักษาฐานเสียงเอาไว้ได้ แต่หากแพ้ เท่ากับเสียทรงการเมือง เพราะเป็นภาคเดียวที่พรรคภูมิใจไทย มี สส.เขตมากกว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งไม่มีเลย แต่เมื่อพรรคกล้าธรรมชนะ เท่ากับพรรคเพื่อไทย มีเครื่องมือในการฟาดฟันกับพรรคภูมิใจไทย
ต่อไปในสนามเลือกตั้งภาคใต้ อาจได้เห็นการบุกทลวงของพรรคกล้าธรรม สู้กับพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ โดยพรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องพะวงกับสนามเลือกตั้งในภาคใต้เอง หลังจากก่อนหน้านี้ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีพรรคประชาชาติ ที่เป็นพันธมิตรและเสมือนเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย แย่งชิงรักษาเก้าอี้ สส.ได้อยู่แล้ว
แม้เลือกตั้ง สส.เขต 8 นครศรีฯ จะไม่มีปรากฏเสียง “หมาหอน” เพราะส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีไปไกล จนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้าพื้นที่ในยามวิกาลให้ “หมาหอน”แล้ว แต่ 2 พรรคใหญ่ ทั้งประชาธิปัตย์และพรรคประชาชน ระบุตรงกันว่า “มีการซื้อเสียงอย่างหนัก”
หากเป็นจริงตามนั้น ย่อมหมายถึงทัศนะและแรงจูงใจการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของคนในพื้นที่ภาคใต้ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมชัดเจน แต่ที่สำคัญ ถือเป็นการปิดฉากเส้นทางการเมืองของนักการเมืองอาวุโส ระดับอดีตรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ อย่าง นายชินวรณ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คะแนนเพียง 4 พันคะแนน เทียบกับเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อาทิ ปี 2548 ได้คะแนนมากถึง 6 หมื่นคะแนน
และยังดับฝันพรรคประชาชน ที่หวังจะปักธง สส.เขตแรก นอกจาก จ.ภูเก็ต เพราะได้คะแนนเพียง 6.8 พันคะแนน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : เปิดบันทึกเบื้องหลัง 31 วัน ปฏิบัติการกู้ร้อยชีวิตจาก “ซากตึก สตง.”