ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดบันทึกเบื้องหลัง 31 วัน ปฏิบัติการกู้ร้อยชีวิตจาก “ซากตึก สตง.”

สังคม
28 เม.ย. 68
21:08
142
Logo Thai PBS
เปิดบันทึกเบื้องหลัง 31 วัน ปฏิบัติการกู้ร้อยชีวิตจาก “ซากตึก สตง.”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โศกนาฎกรรม อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 30 ชั้น ถล่ม เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา

ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ทีมข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส และทีมช่างภาพข่าว ไทยพีบีเอส อดิศร ฉาบสูงเนิน ช่างภาพอาวุโส ข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส และฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ ช่างภาพข่าว ไทยพีบีเอส

เกาะติดอยู่ที่นั่นทุกวัน เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าซากตึก สตง.

ภัทราพร รายงานสดผ่านช่องทางออนไลน์ Thai PBS news ทั้ง Facebook Youtube และ TikTok

วันที่ 28 มี.ค.

- หลังเกิดเหตุ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ลงพื้นที่ติดตามสถานณ์ และรับรายงานการช่วยเหลือขณะนั้น มีผู้บาดเสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน บาดเจ็บ 6 คน สูญหาย 81 และยังไม่กล้ายืนยันจำนวนแรงงานที่แท้จริง ว่ามีจำนวนกี่คนกันแน่ ระหว่างทำงาน เนื่องจากพบว่ามีหลายบริษัทย่อย

- ในที่เกิดเหตุ มีการปิดถนนทั้งสอง ฝั่ง ของ ถ.กำแพงเพชร 2 เพื่อปรับเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับหน่วยกู้ภัยและทีมแพทย์ที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม และฝ่ายเกี่ยวข้องสำหรับการค้นหาและช่วยทยอยลำเลียงผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล

- การค้นหาเริ่มเดินหน้าทันที ขณะที่ช่วงเวลา 20.30 น. การค้นหาผู้สูญหายทั้ง 81 คน ยังคงเดินหน้าด้วยจำนวนรถแบคโฮ ที่มีไม่กี่คัน และเริ่มระดมเครื่องมือหนักเข้าพื้นที่ ขณะนั้นมีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 4 ราย

ส่วนกองซากตึกปรักหักพังที่ถล่ม มีการประเมินว่า มีความสูงประมาณตึก 4-5 ชั้น ความยากของทีมเจ้าหน้าที่ขณะนั้น คือ การเร่งช่วยชีวิตคนติดค้างจำนวนมาก โดยต้องทำงานแข่งกับเวลา มีการระดมทีมจาก Usar Thailand ที่มีศักยภาพด้านการกู้ภัยในเขตเมือง และรวมถึงทีมสุนัขกู้ภัย K9 Usar Thailand และอาสากลุ่มต่าง ๆ ทยอยสมทบในพื้นที่

- เวลา 21.58 น. มีรายงานจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เกิดอาฟเตอร์ช็อคในไทยตามมาอีก 43 ครั้ง นับจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว

- 22.00 น. ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กทม. รายงานผลกระทบ มีผู้เสียชีวิต 10 คน มีผู้บาดเจ็บ 16 คน และ สูญหาย 101 คน จากเหตุอาคารก่อสร้าง 3 แห่ง ใน กทม. รวมถึงตึก สตง.ที่ถล่ม

วันที่ 29 มี.ค.

- การค้นหาคนในพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งการใช้ทีมกู้ภัยสำรวจ การทำงานของสุนัขกู้ภัยและเครื่องจักรหนัก
- เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องสแกน (life Locator) จับพบการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ จำนวน 15 ราย มีการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นเครื่องมือหนักเพื่อเร่งเคลียร์ซากปักหักพังที่สูงกองเป็นภูเขาออก

- จำนวนผู้ติดค้าง ยังไม่นิ่ง แต่มีรายงานว่า หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 27 ชั่วโมง มีผู้ที่ยังสูญหายอยู่อีก 79 คน ที่ติดใต้ซากอาคาร สตง.
- กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูล จากหน่วยแพทย์สนาม (ER สนาม) เวลา 08.00 น. มีผู้สูญหาย 96 คน โดยอ้างอิงจากศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีเหตุแผ่นดินไหว ( EOC) ที่มีอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน โดยมีผู้บาดเจ็บที่ช่วยออกมาได้ 9 คน ผู้ป่วยอาการหนัก 2 คน , อาการเล็กน้อย 3 คน และ กลับบ้านแล้ว 3 คน

- ส่วนภาพรวมใน กทม. ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กทม.รายงานพบ ปชช.ใน กทม.แจ้งเรื่องบ้าน - อาคารที่พักร้าวแล้วกว่า 2,000 ราย รวม 700 แห่ง ส่งทีมวิศวกรอาสา 130 คน กระจายกันช่วยตรวจสอบให้ประชาชน

- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเหตุแผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นในไทย และรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ มี 57 จังหวัด

วันที่ 30 มี.ค.

- การค้นหาวันที่ 3 ผ่านไปกว่า 44 ชั่วโมง ของปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย ทีมกู้ภัยไทยระดมกันมาเต็มที่ รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญงานกู้ภัยด้านวิศวกร และยังระดมกำลังเพิ่มจากผู้เชี่ยวชาญทีมกู้ภัยนานาชาติ ทั้งจาก สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ญี่ปุ่น และจีน มาช่วยให้คำแนะนำ

- ข้อมูลผู้สูญหาย ยังเป็น 79 คน หรือ 80 คน ขณะนั้น ซึ่งยังไม่นิ่งเนื่องจาก ยังไม่มีการประกาศเป็นทางการจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ขณะนั้น ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต มีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 9 คน
- เจ้าหน้าแบ่งโซนการทำงาน ออกเป็น 4 โซน A B C D (แบ่งครึ่งตึก สตง.หน้าหลัง-ซ้ายขวา)อุปสรรคใหญ่ ยังคงเป็นซากปูน-เหล็ก จำนวนมากจากการถล่ม เป็นความยากในการเข้าไปถึงพื้นที่ด้านใน เพื่อค้นหาผู้ที่ยังคาดว่ารอดชีวิต ให้เร็วที่สุด

- ครอบครัวผู้สูญหายจากต่างจังหวัด ทยอยถึงพื้นที่เกิดเหตุด้วยน้ำตานองหน้า ปักหลัก เฝ้ารอการช่วยเหลือด้วยความหวัง การค้นหาใช้ทั้งเครื่องมือหนัก การเดินสำรวจ การบินโดรน และสุนัขกู้ภัยดมกลิ่น
- นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กในซากตึก สตง.ถล่ม ไปส่งตรวจสอบ หลังสังคมคาใจว่า เหตุใดหลังเกิดแผ่นดินไหว สตง.เป็นตึกเดียว ที่เกิดเหตุพังถล่ม ทั้งตึก และมีบริษัทใดเกี่ยวข้องบ้าง

- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทย สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบ โดยนายอนุทิน ให้ความเห็น ณ วันนั้น ว่า สงสัยว่า แบบก่อสร้างมีความผิดปกติหรือไม่ ถึงได้พังถล่มทั้งตึกเช่นนี้

- ช่วงค่ำ ความหวังที่จะได้พบบุคคลที่รอดชีวิต ของเจ้าหน้าที่ กทม.คนหนึ่ง ซึ่งรอสามี ที่ติดใต้ซากอาคาร แต่ล่าสุด เจ้าหน้าที่ทีมแจ้งว่า พบสามีแล้วแต่เสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ และเอาใจช่วยมาแต่แรก
- 23.10 น. การค้นหายังเดินหน้าต่อเนื่อง และเป็นสถานการณ์บีบหัวใจกลุ่มญาติและครอบครัวอย่างมาก กับการรอคอยทุกเสี้ยววินาที

วันที่ 31 มี.ค.

-10.30 น. ผ่าน 69 ชั่วโมง ปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายและกู้ซากอาคารที่พังถล่ม ทีมกู้ภัยไทย และกู้ภัยนานาชาติ ยังเดินหน้าค้นหาผู้สูญหาย 76 คน เสียชีวิต 11 คน ผู้ประสบเหตุขณะทำงานมี 96 คน เป็นการรายงานข้อมูลเป็นทางการของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์
- ผู้ว่าฯ กทม. เพิ่มเครื่องมือหนักเข้าพื้นที่ รวมถึงประเมินสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา อาจไม่มีผลต่อการค้นหา โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยกันตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา

- น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมพูดคุยกับทีมกู้ภัยจากนานาชาติ และมี นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ร่วมกับทีมกู้ภัยจากอิสราเอลด้วย
- ผ่าน 74 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่พบร่างผู้เสียชีวิตอีก 1 คน ออกจากซากตึกถล่ม นับเป็นศพที่ 12 ที่นำออกมาจากที่เกิดเหตุ

- 22.00 น. ผ่าน 80 ชั่วโมง การค้นหาท่ามกลางความหวัง ยังเดินหน้าต่อ ตลอดข้ามคืน
- 23.15 น. มีรายงานด่วน จาก ก.อุตสากรรม เกี่ยวกับผลตรวจเหล็ก ตึก สตง. พบเหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ต่ำกว่ามาตฐาน มอก. จากผลทดสอบเหล็ก 7 ประเภท

อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ 1 เดือน หลัง “แผ่นดินไหว” เกิดอะไรขึ้นกับ “ซากตึก สตง.”

วันที่ 1 เม.ย.

- 09.30 น. ผ่านแล้ว 90 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ ยังเร่งค้นหาผู้สูญหาย 74 ราย ผู้เสียชีวิต เพิ่มเป็น 13 ราย จากจำนวนผู้ทำงานในขณะเกิดเหตุ มี 96 ราย
- การระดมเครื่องมือ ยังใช้ทั้งรถเครื่องจักรหนัก ทีมกู้ภัยไทยและนานาชาติ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแสกนใต้ซากตึกถล่ม ได้มีระยะไกลมากขึ้นประมาณ 20 เมตร เพื่อเร่งค้นหาผู้ติดค้าง

วันที่ 2 เม.ย.

- 05.00 น. เป็นวันแรก ที่ ถ.กำแพงเพชร 2 ฝั่ง JJ Mall ตรงข้ามจุดเกิดเหตุ ถูกเปิดให้กลับมาสัญจรได้ตามปกติ หลังปิดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.เป็นต้นมา / ส่วน ถ.กำแพงเพชร 2 ฝั่งเดียวกับตึกถล่ม ยังคงปิดการจราจร เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

- ปรับอำนาจพื้นที่ศูนย์บัญชาการ จากระดับจังหวัด กทม. ลดลงเป็นระดับเขตจตุจักร
- ผ่านไปกว่า 115 ชั่วโมง พบผู้เสียชีวิตจาก 13 คน เพิ่มเป็น 26 คน และยังค้นหาอีก 72 คน
- มีเอกสารเผยแพร่ จาก สตง. ที่ถูกสังคมวิจารณ์หนัก เมื่อผู้ว่าฯ สตง.สื่อสารถึงภายในระบุหัวเอกสาร “สูดลมหายใจหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อม ๆ กัน” และเป็นการสื่อสาร ที่ยังไม่เคยแถลงเป็นทางการต่อสื่อมวลชนหรือสังคม เพื่อให้ได้ซักถามข้อเท็จจริง

- อุปสรรคความยากของตึกที่ถล่ม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งแยกชิ้นส่วนซากตึก ที่ทับถมกันสูงเท่ากับตึก 4-5 ชั้น เพื่อเปิดออกทีละชั้น จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจยังโพรงที่ถูกเปิดออกได้ ซึ่งปฏิบัติการแบบนี้ ทีมกู้ภัยไทย และกู้ภัยนานาชาติ ต่างสะท้อนว่า

เป็นงานค้นหาที่ยากระดับโลก เนื่องจากซากตึกพังซ้อนกันเป็นแนวดิ่ง ทำให้ตึกทับผู้สูญหายจำนวนมาก และยากต่อการเข้าถึงตัวผู้สูญหาย โดยเฉพาะที่ประเมินกันว่าผู้สูญหาย จำนวนมากอยู่ชั้น 20-28 ใกล้บันไดหนีไฟ และช่องลิฟต์

- มีข้อกังวลจากเครือข่ายแรงงานเมียนมา องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) ที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ สะท้อนข้อกังวลใจเกี่ยวกับการค้นหา และข้อมูลผู้ประสบเหตุ ทั้งกลุ่มที่เสียชีวิตและสูญหาย ยังไม่ชัดเจน ทำให้ติดตามเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปโดนยาก รวมถึงข้อกังวลของกลุ่มแรงงานเมียนมา ที่รอดชีวิต แต่อาจต้องเสี่ยงตกงาน จากสถานการณ์ที่ยังค้นหากันไม่เสร็จ และตึก สตง.พังถล่มไปแล้ว

- 16.00 น.ผู้ว่าฯ กทม.แถลงสรุปภาพรวม ผ่านแล้ว 124 ชั่วโมง พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 15 คน ที่นำร่างออกไปจากพื้นที่เกิดเหตุได้แล้ว รวมถึงยังพบร่างผู้เสียชีวิตกลุ่มใหม่เพิ่มอีก 14 คน ที่อยู่ระหว่างการเตรียมนำร่างออกมาจากกองซากปรักหักพัง

- เน้นการใช้อุปกรณ์หนักเพิ่มขึ้น เน้นการใช้รถกระเช้า และเน้นเป้าหมายบนยอดซากปรักหักพัง เพื่อเน้นเข้าถึงจุดที่คาดว่า จะพบร่างผู้เสียชีวิตด้านหลังของตึก สตง. (โซน B)
- กทม.ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามแรงงานที่รอดชีวิต เพื่อติดตามว่า ในวันเกิดเหตุ มีแรงงานทำงานอยู่บริเวณชั้นไหนกันมาก เพื่อจะได้ติดตามค้นหาผู้สูญหายได้ชัดเจนตรงจุดมากขึ้น

- ทีมเจ้าหน้าที่ สตง.เกือบ 20 คน เข้าพื้นที่จุดเกิดเหตุ เพื่อสนับสนุนข้อมูล ให้เจ้าหน้าที่ที่ติดตามคดี รวมถึงการส่งมอบพิมพ์เขียวการออกแบบโครงสร้างตึก เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยังพิกัดและเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น

- ทีม กทม.ส่ง ทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) เข้าถึงกลุ่มญาติให้มากขึ้น เพื่อพูดคุยในช่วงสถานการณ์ที่บีบหัวใจของกลุ่มญาติ ที่อาจพบความสูญเสียเพิ่มขึ้น

วันที่ 3 เม.ย.

- ครบ 7 วัน เหตุตึก สตง.ถล่ม ผ่าน 140 ชั่วโมง เร่งค้นหาอีก 72 คน
- 11.20 น. เจ้าหน้าที่ระดมถังออกซิเจน ที่ใช้สำหรับการงานตัดเหล็กโดยเฉพาะเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน 128 ถัง เน้นรื้อซากเป้าหมายจุดบันไดหนีไฟ ที่คาดว่า คนงานหนีไปรวมตัวกันจำนวนมาก

วันที่ 4 เม.ย.

- ผู้ว่าฯ กทม.ขอโทษ ที่การค้นหาเข้าไม่ถึงจุด ที่ได้ยินเสียงคล้ายคนร้องขอความช่วยเหลือตามพิกัดที่เครื่องสแกนแสดงผล และยังไม่พบแรงงานที่ติดค้างเพิ่มเติม เร่งค้นหาอีก 77 คน

- กทม.เปิดรับบริจาค ถุงมือหนัง ถุงมือเชื่อม สำหรับการขนหิน ออกจากจุดเกิดเหตุ หน้ากาก N95 สำหรับป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก สำหรับทีมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ตึกถล่ม
- มีข้อมูลจาก ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ น้ำหนักซากตึก สตง.ถล่ม คาดมีมากถึง 40,000 ตัน วันที่ 8 ของเหตุการณ์ตึกถล่ม ยังไม่สามารถช่วยเหลือใครออกมาได้เพิ่มเติม
- การค้นหายังเดินหน้ากันทั้งวัน และตลอดข้ามคืน

วันที่ 5 เม.ย.

- จำนวนผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นเป็น 31 คน อุปสรรคใหญ่ที่เกิดกับทีมกู้ภัย คือ ซากปูนแผ่นใหญ่ หลายขนาด บางแผ่นหนักกว่า 10 ตัน และเหล็กเส้นที่ยึดเกี่ยวพันระโยงระยาง ทำให้ปิดกั้นการเปิดโพรง เพื่อเข้าค้นหายังพื้นที่ลึกขึ้น ประกอบกับความสูงและลาดชันของซากตึก 30 ชั้น ที่พังถล่ม ทำให้ยากในการเข้าถึงเป้าหมายผู้สูญหาย ที่ยังค้นหากันอยู่

อ่านข่าว : DSI ชี้พบเอกสารสำคัญในตู้คอนเทนเนอร์ไซต์งานตึก สตง.

วันที่ 6 เม.ย.

- ในระหว่างการค้นหาที่เดินหน้า ปรากฎว่า มีกลุ่มผู้รับเหมาช่วง นัดรวมตัวกันที่บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ เพื่อเรียกร้องทวงเงินค่าจ้างข้ามปีที่ยังไม่ได้จาก บริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ที่ได้งานไป รวมกว่า 7 ล้านบาท โดยมีกลุ่มผู้รับเหมาช่วงโดนเชิดเงินไปร่วม 10 บริษัทย่อย

- การค้นหา ที่เดินหน้า ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า ปรับโหมดการทำงาน จากแบบวิ่งแข่ง 100 เมตร มาเป็นวิ่งมาราธอนแทน เพราะยังต้องทำงานกันอีกยาว ในขณะที่พบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย และมีรายงานว่า อาจพบเพิ่มได้อีก 10-20 ราย

วันที่ 7 เม.ย.

- ทีมสุนัขกู้ภัย K9 USAR Thailand ประกาศยุติภารกิจ หลังร่วมปฏิบัติการมา 11 วัน
- ทีมกู้ภัยนานาชาติ บางประเทศยุติการค้นหา และบางประเทศทยอยมาสมทบเพิ่มอีก

- ภารกิจการค้นหา ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ทีมกู้ภัยหลักทั้งจากมูลนิธิร่วมกตัญญู, มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิเพชรเกษม ฯลฯ รวมถึง ทีมสุนัขกู้ภัย United SAR K9 สุนัขกู้ภัยทหาร สุนัขกู้ภัยตำรวจ ที่ยังปักหลักกันมาตั้งแต่ช่วงแรก ก็ยังไม่ถอนกำลัง

- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.มหาดไทย รายงานสอบเหตุตึก สตง.ถล่ม ครบ 7 วัน ให้นายกรัฐมนตรี ก่อนประชุม ครม. 8 เม.ย.2568 ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย และสูญหายอีก 77 ราย

วันที่ 8 เม.ย.

- กลุ่มญาติ พบความสูญเสียเพิ่มขึ้น จากร่างไร้วิญญาณของแรงงาน ที่เจ้าหน้าที่ทยอยค้นหาพบ ในช่วงเวลา ที่หลายครอบครัวเตรียมนัดเฉลิมฉลองกินข้าวพบหน้ากันช่วงสงกรานต์ แต่กลายเป็นการพบร่างและรับศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาแทน

วันที่ 9 เม.ย.

- พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 22 รายแล้ว สูญหายอีก 73 ราย ผู้ว่าฯ กทม.สั่งเจ้าหน้าที่เดินหน้าค้นหาต่อ ไม่ให้หยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนกลุ่มอาสาให้เป็นไปตามความสมัครใจ
- การค้นหา ยังใช้เครื่องมือหนัก และเน้นทั้งการ ค้นหาแบบเดินสำรวจ - การโรยตัว และพยายามเปิดทางด้านยอดซากตึกถล่มต่อเนื่อง
- ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จัดพิธีทำบุญใหญ่ตามความเชื่อ ให้ผู้เสียชีวิต และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่

วันที่ 10 เม.ย.

- ครบ 2 สัปดาห์เต็ม เหตุตึก สตง.ถล่ม พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดเสีย 23 คน สูญหาย 71 คน และมีผู้ประสบเหตุ 103 คน
- 21.15 น. เจ้าหน้าที่พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ราย บริเวณด้านหลังตึก สตง. (ฝั่งโซน B)

วันที่ 11 เม.ย.

- 07.00 น. ทีมสุดซอย ของกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วม DSI กรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบและเก็บหลักฐานเหล็กเพิ่มเติมล็อตสองไปตรวจสอบ หลังพบว่าเหล็กล็อตแรก ต่ำกว่ามาตรฐาน

- 08.30 น. ความหวังท่ามกลางการรอคอย เมื่อทีมกู้ภัยมูลนิธิเพชรเกษม พบแสงในโพรง ที่คล้ายโทรศัพท์ และได้รับการตรวจสอบซ้ำจากทีม ปภ. กทม. USAR Thailand เข้าสำรวจ พร้อมกล้องงู คาดเป็นแสงไฟจากมือถือผู้รอดชีวิต และเปิดปิดแสงนั้นได้ตามคำสั่งของทีม USAR

ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งระดมหาทางเข้าถึงเป้าหมาย โซน B โดยยังไม่แน่ใจว่า มีผู้รอดชีวิตบริเวณนั้นหรือไม่ แต่กลายเป็นประเด็นที่ทำให้สังคม ให้ความสนใจกันอีกครั้ง บนความหวังริบหรี่

แต่อุปสรรคความยากคือ เป้าหมายอยู่ลึกไป 3 เมตร แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงจุดนั้นได้ง่าย เนื่องจากติดอุปสรรคเหล็กจำนวนมาก และโพรงที่มีแผ่นปูนขนาดใหญ่ปิดทับ ทำให้ยังต้องพยายามเปิดทางเข้ากันทั้งวัน และต่อเนื่องข้ามคืน

วันที่ 12 เม.ย.

- จำนวนผู้เสียชีวิต พบเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ใกล้ “จุดพบแสง” แต่ยังเข้าไม่ถึง “จุดพบแสง”

อ่านข่าว : "ตึกสตง.ถล่ม-ศรัทธาพัง" คำถามที่ไร้คำตอบ 1 เดือน ใครรับผิด ?

วันที่ 13 เม.ย.

- 07.00 น. ทีมคดี เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุตึกถล่มอีก เพื่อเก็บหลักฐาน นับเป็นครั้งที่ 7 ในรอบสัปดาห์ / การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะต้องปีนไต่ระดับความลาดชันของ กองซากตึกถล่มไปยังโซนต่าง ๆ ที่ต้องการเก็บหลักฐาน โดยมี เจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมือง ตำรวจ สน.บางซื่อ และตัวแทน จาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเม้นต์ (ITD) และ บริษัท ไชน่า เรียลเวย์ นัมเบอร์10 บริษัทร่วมทุน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

- 08.00 น. เจ้าหน้าที่ ทีมค้นหา ยังเดินหน้าต่อเนื่อง และยังเข้าไม่ถึง “จุดพบแสง” ในโพรง

- 11.00 น. ผู้ว่าฯ กทม.ยืนยันเจ้าหน้าที่เข้าถึง “จุดพบแสง” แล้วเมื่อไม่นานมานี้ แต่ไม่พบใครตรงเป้าหมายที่เข้าค้นหา ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้ทั้งเครื่องมือและสุนัขค้นหา แต่ก็ไม่พบใคร "เราทำซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า “เราทำเต็มที่แล้ว จะพยายามเร่งค้นหาให้เสร็จทัน สิ้นเดือน เม.ย.2568”
- ย่างเข้า วันที่ 17 ของเหตุการณ์ตึกถล่ม พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 37 คน ส่วนผู้สูญหาย ยังมี 57 คน

วันที่ 14 เม.ย.

- ยังมีผู้สูญหายอีก 57 ราย และผู้เสียชีวิต 37 ราย
- ทีมทำคดีเข้าเก็บตัวอย่างซากเหล็ก และเก็บปูน ไปตรวจสอบเพิ่มเติม

วันที่ 15 เม.ย.

- พบผู้เสียชีวิต 44 คน สูญหาย 50 คน

วันที่ 17 เม.ย.

- จำนวนผู้เสียชีวิต 44 คน ผู้สูญหาย 50 ราย
- การตัดยอดซากตึกที่ สูงประมาณ 27 เมตร ขณะนี้ตัดออกได้แล้ว 6 เมตร แต่ยังสูงราว ๆ ตึก 4 ชั้น ของอาคารจอดรถสตง.( ที่ไม่ได้ถล่ม) / อุปสรรค ยังเป็นเหล็กเส้น และปูน ทำให้ต้องใช้แก๊สมาช่วยตัดเหล็ก

วันที่ 22 เม.ย.

- พบผู้เสียชีวิต 53 รายแล้ว สูญหายอีก 41 ราย
- ถ.กำแพงเพชร 2 ฝั่ง ตึก สตง.ถล่ม เปิด 2 ช่องจราจร (ฝั่งติดเกาะกลาง) เพิ่มให้รถสัญจรปกติ ตั้งแต่ 21 เม.ย. ส่วนอีก 2 ช่องจราจร ฝั่งติดทางเท้า ยังปิดเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

อ่านข่าว : "เอกนัฏ" เผยถอนสิทธิบีโอไอ "ซิน เคอ หยวน" ปิดโอกาสเปิดโรงงานใหม่

วันที่ 23 เม.ย.

- ผลตรวจเหล็ก ตึก สตง.ล็อตสอง ที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเก็บตรวจ พบว่าเหล็กข้ออ่อย 20 มม. ตกมาตรฐานเหมือนรอบแรก โดยผลตรวจทั้งรอบแรก และรอบสอง กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำเอกสารส่งให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่นายอนุทินตั้งขึ้น และส่งไปที่ ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน รวมถึง ส่งไปที่ DSI ด้วย

- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยข้อมูล พบผู้เสียชีวิตเหตุการณ์นี้ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก และมีภาคเหนือ, ภาคกลางบางส่วน รวมถึง กรุงเทพมหานคร

วันที่ 24 เม.ย.

- DSI แถลง ทิศทางคดีพิเศษ เหตุตึก สตง.ถล่ม นัยนะสำคัญเรื่องหนึ่งคือ พบเอกสารการแก้แบบ 9 ครั้ง แต่มีอยู่ 4 ครั้ง ที่สงสัยว่า เกี่ยวข้องกับการควบคุมงานทิพย์ และปลอมลายเซ็นหรือไม่ อยู่ระหว่างการขยายผลตรวจสอบ รวมถึงรอผลตรวจปูน ตึก สตง. ที่เก็บตัวอย่างไปก่อนหน้านี้ ว่าได้มาตรฐานหรือไม่
- พบผู้เสียชีวิต 60 ราย / สูญหาย 34 ราย / ย้ำเดินหน้าตามแผน ปิดจ็อบการค้นหา สิ้น เม.ย.2568

วันที่ 25 เม.ย.

- สถานการณ์ค้นหาร่างผู้เสียชีวิต ในช่วงอุณหภูมิร้อนจัด ส่งผลให้ น้ำแข็ง ในจุดปฏิบัติงานและพื้นที่เกี่ยวเนื่องขาดแคลนมา 3-4 วัน จนทีมกู้ภัยแจ้งผ่านไทยพีบีเอส และนำมาสู่การประกาศระดมขอรับบริจาคน้ำแข็ง ซึ่งมีประชาชน บริษัท ที่ทราบข่าว ต่างช่วยกันนำมาบริจาคให้เจ้าหน้าที่ไว้ใช้คลายร้อนจำนวนมาก

วันที่ 27 เม.ย.

- เข้าสู่วันที่ 30 ของเหตุการณ์ตึกถล่ม พบผู้เสียชีวิต เพิ่มเป็นอย่างน้อย 62 คน ผู้สูญหายยังค้นหาอีก 32 คน
- เจ้าหน้าที่เร่งตัดยอดซากตึกถล่ม และเร่งเคลื่อนย้ายซากปักหักพังตลอดสัปดาห์ ทำให้รื้อซากได้จนเหลือระดับ 8 เมตรสุดท้ายแล้ว และยังต้องเร่งเพื่อเข้าสู่ใต้ดินที่มีความลึกอีก 4 เมตร

วันที่ 28 เม.ย.

- ครบ 1 เดือนเต็ม เหตุตึก สตง.ถล่ม มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 63 คน สูญหายอีก 31 คน
- ปฏิบัติการ ยังเน้นทะลวงฐานล่างเพื่อเข้าสู่พื้นที่ชั้นใต้ดิน ที่คาดว่าจะมีกลุ่มคนงานติดค้างอยู่อีกจำนวนมาก ในช่วงที่วิ่งหนีออกมาจากตึกขณะเกิดเหตุถล่ม แต่หนีไม่ทัน

บันทึกเบื้องหลัง : ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ทีมข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ญาติผู้สูญหาย สตง. ถล่ม ร้องสภาทนายความหวังเยียวยาเป็นธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง