รถแบ็กโฮ SK1000 หรือที่รู้จักกันในวงการก่อสร้างในนาม "จอมมารบู" คือเครื่องจักรที่ทรงพลังที่สุดในวงการรื้อถอนของประเทศไทย ด้วยน้ำหนักตัว 120 ตัน และความสามารถในการยกน้ำหนักได้ถึง 1,000 ตัน
SK1000 ผลิตโดยบริษัท Kobelco จากญี่ปุ่น ออกแบบมาเพื่อภารกิจหนัก เช่น การรื้อถอนตึกสูง โรงงานเก่า หรือโครงสร้างขนาดใหญ่ ฉายา "จอมมารบู" มาจากพลังทำลายล้างอันมหาศาล คล้ายตัวละครในตำนานการ์ตูน ผสานกับสีชมพูสะดุดตาที่ทำให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ในทุกไซต์งาน และแน่นอนยืนยันตัวตนด้วยสติกเกอร์ "จอมมารบูร่างเด็ก" ตัวร้ายบริสุทธิ์จากการ์ตูน ดราก้อนบอล Z
SK1000 จุดเด่นไม่เหมือนใคร แต่เหมือน "บู"
- แขนยาวพิเศษ ยืดได้กว่า 40 เมตร ช่วยให้เข้าถึงจุดสูงหรือลึกของโครงสร้างได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเครื่อง
- พลังยกมหาศาล จัดการแผ่นคอนกรีตหรือโครงเหล็กหนักได้อย่างง่ายดาย
- ความแม่นยำ ระบบไฮดรอลิกทันสมัย ควบคุมได้แม่นยำแม้ตัวเครื่องจะใหญ่
- ความทนทาน ทนต่องานหนัก เช่น การตัดเหล็กหรือทุบคอนกรีต
ในงานทั่วไป ค่าจ้าง SK1000 สูงถึงวันละ 100,000 บาท (ไม่รวมค่าน้ำมันและค่าบำรุงรักษา) และการเคลื่อนย้ายแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายร่วมครึ่งล้านบาท เนื่องจากต้องใช้รถเทรลเลอร์พิเศษและถอดประกอบชิ้นส่วน
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ถล่มลงมาจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 8.2 จากเมียนมา เหตุการณ์นี้ทิ้งซากคอนกรีตหนักกว่า 20,000 ลบ.ม. และมีผู้สูญหายจำนวนมากติดอยู่ในซากอาคาร

SK1000 ถูกนำเข้ามาในวันที่ 9 เม.ย. เพื่อช่วยทลายปูนและเปิดทางเข้าสู่ชั้นบนของอาคาร โดยใช้แขนยาวกว่า 40 เมตร เจาะผ่านโครงสร้างที่พังทลายอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ทีมกู้ภัยเข้าถึงพื้นที่เป้าหมาย
การทำงานของ SK1000 ในภารกิจนี้ต้องอาศัยความชำนาญสูง เนื่องจากพื้นดินเปราะบางจากฝนตกหนัก และกองคอนกรีตที่ไม่มั่นคงอาจเสี่ยงถล่มซ้ำ ความสามารถในการยกชิ้นส่วนหนักและเคลื่อนย้ายอย่างแม่นยำทำให้ SK1000 กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเร่งภารกิจและเพิ่มความหวังในการค้นหาผู้รอดชีวิต
เป็นถึงจอมมาร แต่ก็ไม่พ้นดรามา
การเข้ามาของ SK1000 ในวันที่ 9 เม.ย.2568 กลับจุดกระแสวิจารณ์ว่าทำไม "จอมมารบู" ถึงมาช้า เรื่องนี้ นายสิริโรจน์ สิริพลากิจ หรือ "โจ้ ทุบตึก" ผู้บริหารบริษัท ปิยะมิตร กรุ๊ป เจ้าของ SK1000 ออกมาชี้แจงผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อขจัดข้อสงสัยและความเข้าใจผิดว่า
ในช่วงสัปดาห์แรก ผู้ควบคุมภารกิจไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรหนัก ด้วยความกังวลว่ากองคอนกรีตอาจถล่มทับเจ้าหน้าที่กู้ภัย นอกจากนี้ การเคลื่อนย้าย SK1000 ต้องเตรียมพื้นที่ฐานรองรับน้ำหนัก 120 ตัน และการถอดประกอบเครื่องใช้เวลาหลายวัน ค่าขนย้ายต่อครั้งสูงถึง 500,000 - 600,000 บาท

ซึ่งในวันที่เกิดเหตุตึก สตง.ถล่ม SK1000 ติดภารกิจที่ รพ.กรุงเทพคริสเตียน และ บริษัท มาเทีย เมดิคอล ขณะนี้ทั้ง 2 แห่งยินยอมให้หยุดงานเพื่อช่วยภารกิจกู้ซากตึก สตง. นายสิริโรจน์ ยังระบุว่าการขนย้าย SK1000 ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทพันธมิตร เช่น บมจ. อิตาเลียน-ไทย และรถเทรลเลอร์ที่ให้ราคาพิเศษ
เจ้าของแบ็กโฮสีชมพู ไม่ยืนยันว่า จะต้องใช้เวลานานเพียงใด แต่จะพยายามช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ แต่สิ่งที่ยืนยันได้คือ จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ในภารกิจนี้ และย้ำว่าภารกิจการกู้ซากตึก สตง. ต่อจากนี้ ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง ยังมีทีมจิตอาสาจากหลายบริษัทมาร่วมด้วย
รู้หรือไม่ รถแบ็กโฮและรถแม็คโคร (Excavator) คือรถคันเดียวกัน คำว่า "แบ็กโฮ" ถูกเรียกเพี้ยนจนกลายเป็น "แม็คโคร" ในภาษาไทย และสติกเกอร์ จอมมารบูที่ติดรถ คือ จอมมารบูร่างเด็ก (Kid Buu) เป็นร่างที่ร้ายกาจที่สุด มีแต่พลังทำลายล้าง ปรากฏตัวช่วงท้ายใน Dragon Ball Z

อ่านข่าวเพิ่ม :
"อนุทิน" เผย ปภ.เร่งปรับค่าช่วยงานศพเหตุตึกถล่มคนละ 100,000
อุตฯ-ดีเอสไอ-สอบสวนกลาง บุกค้น "ซิน เคอ หยวน" ที่ระยอง
จนท.นำ 4 ร่างผู้เสียชีวิต ออกจากซากอาคารถล่ม ยังคงเร่งค้นหาต่อเนื่อง