วันนี้ (13 เม.ย.2568) "ครูปุ๊" หรือ นางกัลยา ทาสม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พร้อมกับสภาทนายความ และ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือ ไม่มีสัญชาติ กระทรวงศึกษาธิการปี 2548

เดินทางไปยัง สภ.ป่าโมก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พาเด็กนักเรียน 126 คน ไม่มีสัญชาติไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวอาข่า ไปเรียนหนังสือที่ จ.อ่างทอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ทั้งครุปุ๊ และ จำเลยคนอื่น ๆให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาทุจริต หวังผลประโยชน์จาการพาเด็กนักเรียน มาเรียนหนังสือ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาแก่คนไม่มีสัญญาติ ระบุว่า หากครุปุ๊ ถูกศาลสั่งฟ้องจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงของ กระทรวงศึกษาธิการ จากพฤติการณ์ของครูปุ๊ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการ หรือ เป็นการแสวงหา ผลประโยชน์ ยืนยันว่า นโยบายของรัฐเปิดโอกาสให้บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร เข้ารับการศึกษาได้จนจบระดับการศึกษาสูงสุดปริญญาเอก

ด้านสภาทนายความยืนยันว่า จากการสอบข้อเท็จจริงไม่พบการทุจริต จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด และวันที่ 1 พ.ค.นี้ พนักงานสอบสวนได้ นัดหมายส่งตัวครุปุ๊ พร้อมกับจำเลย คนอื่น ๆ ไปยังอัยการแผนกคดีป้องกันและปราบปรามการทุจริต จ.สระบุรี
ย้อนที่มาครูปุ๊พา 126 เด็กเข้าเรียน
ในปี 2566 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งมี น.ส.กัลยา ทาสม หรือ "ครูปุ๊" เป็นผู้อำนวยการ ได้รับเด็กนักเรียนไร้สัญชาติ 126 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอาข่าจากเมียนมาเข้าเรียน ตามนโยบายการศึกษาของไทยที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาโดยไม่จำกัดสัญชาติ ตามมติ ครม. 2548
อย่างไรก็ตาม การรับเด็กจำนวนมากทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณและการนำพาเด็กเข้าเมือง ส่งผลให้หน่วยงานราชการตรวจสอบและดำเนินคดีกับครูปุ๊และคณะผู้บริหารโรงเรียน 5 คน ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

หน่วยงานราชการไทย รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ตำรวจ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้ผลักดันเด็ก 126 คนกลับไปยังจ.เชียงรายเพื่อส่งต่อไปเมียนมาในเดือน ก.ค.2566 โดยอ้างว่าเด็กเหล่านี้เข้าเมืองผิดกฎหมาย
การกระทำนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการและองค์กรสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเด็กต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน และเมียนมามีสถานการณ์สู้รบที่อาจไม่ปลอดภัย ขณะที่ครูปุ๊และทีมงานถูกตั้งข้อหาทั้งทางอาญาและวินัย โดยครูปุ๊ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาทุจริต แต่ต้องการให้เด็กได้เรียนหนังสือตามนโยบายรัฐ
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2566 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาจนะจิตรา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิกระจกเงา เดินทางไปเป็นพยานที่ สภ.ป่าโมก เพื่อยืนยันว่าการกระทำของครูปุ๊สอดคล้องกับมติ ครม. 2548 และไม่ผิดกฎหมาย

สภาทนายความเข้ามาช่วยเหลือด้านคดี โดยชี้ว่ากรณีนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการศึกษาที่รัฐต้องคุ้มครอง การส่งเด็กกลับโดยไม่จัดหาที่เรียนใหม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทบทวนนโยบายเพื่อปกป้องโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกคน
อ่านข่าวอื่น :
แผ่นดินไหวเมียนมาขนาด 5.9 แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย รู้สึกสั่นไหว
สธ.เผยผลตรวจน้ำประปา อ.แม่อาย ยันไม่พบสารหนู-ตะกั่วเกินมาตรฐาน