ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด - โอมิครอน JN.1 ไทยพบ 64.97%

สังคม
4 เม.ย. 68
12:29
17,633
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด - โอมิครอน JN.1 ไทยพบ 64.97%
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 พบโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลักในไทย สัดส่วนสะสม 64.97%

วันนี้ (4 เม.ย.2568) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด 19 ว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการติดตามโอมิครอน จำนวน 8 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ JN.1* เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง และมีสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง จำนวน 7 สายพันธุ์ ได้แก่ KP.2*, KP.3*, KP.3.1.1, JN.1.18*, LB.1*, XEC (สายพันธุ์ลูกผสมของ KS.1.1 และ KP.3.3) และ LP.8.1 (สายพันธุ์ย่อยของ KP.1.1.3)

ทั้งนี้ สายพันธุ์ LP.8.1 มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเทียบเท่ากับสายพันธุ์ XEC ที่เป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากที่สุดในปัจจุบัน โดยสายพันธุ์ LP.8.1 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมในตำแหน่งโปรตีน Spike ได้แก่ S31-, F186L, R190S, R346T, V445R และ K1086R โดยการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง V445R นั้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการจับกับโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ ซึ่งทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้เร็วขึ้น และอาจเพิ่มความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อของสายพันธุ์นี้

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด 19 ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์นี้

นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.2567 ถึง 2 ก.พ.2568 พบว่า สายพันธุ์ XEC* มีแนวโน้มลดลง โดยมีอัตราการพบมากที่สุดในสัดส่วน 46.80% ส่วนสายพันธุ์ KP.3.1.1* และ JN.1* มีอัตราการพบลดลงเล็กน้อย ขณะที่ LP.8.1* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย JN.1* ยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก พบจำนวน 1,454 คน คิดเป็นสัดส่วนสะสม 64.97% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในไทย ส่วนสายพันธุ์ XEC* และ LP.8.1* สัดส่วนที่พบยังคงน้อยกว่า 10% สายพันธุ์ KP.2, KP.3.1.1 และ LB.1 เริ่มพบตั้งแต่ช่วงต้นปีและมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัดส่วนที่พบของแต่ละสายพันธุ์ยังน้อยกว่า 10% เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงร่วมมือกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันประเทศไทยเผยแพร่จีโนม จำนวนสะสม 47,494 คน นับตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเดือน ม.ค.2563 ถึง 31 มี.ค.2568

อ่านข่าว : "ไปรษณีย์ไทย" รับข้อมูลผู้ใช้หลุดขายเว็บมืด ยืนยันปิดกั้นแล้ว 

เปิดเงื่อนไข ขั้นตอนขอรับเงินช่วยเหลือ เหตุแผ่นดินไหว 

8 เม.ย.ปิดการจราจร 4 ทุ่ม - ตี 4 "สะพานกรุงเทพ" ทดสอบระบบหลังเหตุแผ่นดินไหว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง