วันนี้ (1 เม.ย.2568) นายปรยุษณ์ ไวว่อง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายปิยะ ภิญโญ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ว่า กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera traps) ได้บันทึกภาพแม่เสือโคร่ง พร้อมลูกน้อย 2 ตัว อย่างชัดเจน นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งของประเทศไทย ในการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกมาอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปในปี 2565 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ได้ร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย ในการสำรวจประชากรเสือโคร่งและสัตว์ที่เป็นเหยื่อ โดยใช้เทคโนโลยีกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติติดตั้งตามจุดต่าง ๆ ในผืนป่าอุ้มผาง ซึ่งในปีนั้นนักวิจัยได้ค้นพบเสือโคร่งเพศเมีย ที่ได้รับการกำหนดรหัส F22 เป็นครั้งแรก ทำให้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้น และมีความหวังว่าจะสามารถดำรงชีวิตและสืบทอดพันธุกรรมในผืนป่าแห่งนี้ได้

วิถีชีวิตของเสือโคร่ง F22 ยังคงเป็นปริศนาจนกระทั่งเดือน ธ.ค.2567 เมื่อเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนลึกเข้าไปในป่าและได้พบรอยเท้าของเสือโคร่งแม่ลูก เจ้าหน้าที่รายงานพบรอยเท้าขนาดใหญ่และรอยเท้าเล็ก ๆ อีกสองคู่บริเวณป่ารอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
นายปิยะ กล่าวว่า การพบรอยเท้าแม่เสือและลูกเสือในครั้งนั้น ทำให้ทีมงานต้องรีบติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพิ่มเติมในบริเวณดังกล่าวทันที ทีมงานได้ดำเนินการติดตั้งกล้องตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2568 เพื่อติดตามและรวบรวมหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของเสือโคร่งครอบครัวนี้
กระทั่งได้เก็บข้อมูลจากกล้องดักถ่ายในช่วงปลายเดือน มี.ค.2568 โดยพบภาพเสือโคร่งเพศเมีย รหัส F22 ปรากฏตัวพร้อมลูกเสือโคร่งอีก 2 ตัว ในภาพที่บันทึกได้เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ.2568
กล้องดักถ่ายภาพที่ได้ชัดเจนมาก เราเห็นแม่เสือกำลังนำทางลูกน้อยทั้งสองเดินตามกันเป็นแถว สภาพร่างกายของทั้งแม่และลูกดูแข็งแรงสมบูรณ์ดี สันนิษฐานว่าลูกเสือมีอายุ 4-6 เดือน

กล้องดักถ่ายภาพชุดเดียวกัน ยังบันทึกภาพสัตว์ป่าอีกหลายชนิดในบริเวณเดียวกัน เช่น เสือดาวที่กำลังเดินสำรวจอาณาเขต หมาในที่เคลื่อนไหวเป็นฝูง กระทิงที่แสดงความแข็งแกร่ง กวางป่าและเก้งที่กำลังเล็มหญ้า รวมถึงฝูงหมูป่าที่กำลังคุ้ยหาอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่าแห่งนี้
นายปรยุษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การพบเสือโคร่งเพศเมีย พร้อมลูกเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ เพราะแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศในพื้นที่มีความสมบูรณ์มากพอที่จะรองรับการเติบโตของประชากรเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร
อ่านข่าว : "คุณปู่เป้แดง" 8 ปีที่รอคอยว่ายน้ำ 5 วัน 200 กม. กลับบ้านสิมิลัน
สัตวแพทย์ช่วย "กระทิงตาอักเสบ" เดินวนกลางป่า