ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ซิน เคอ หยวน” สตีล บริษัทผลิตเหล็กก่อสร้าง “ทุนจีน-หุ้นไทย”

เศรษฐกิจ
1 เม.ย. 68
16:32
782
Logo Thai PBS
“ซิน เคอ หยวน” สตีล บริษัทผลิตเหล็กก่อสร้าง “ทุนจีน-หุ้นไทย”
อ่านให้ฟัง
10:33อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะลงพื้นที่ตรวจโรงงาน ซิน เคอ หยวน ต.หนองละลอก จ.ระยอง ซึ่งถูกสั่งปิด ในวันที่ 2 เม.ย.2568 หลัง นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ พบว่าโรงงานดังกล่าว ยังมีความเคลื่อนไหว เจอรถบรรทุกขนฝุ่นแดง ทั้งถูกสั่งปิดตั้งแต่ปี 2567 โดยตั้งข้อสังเกตว่าจะมีการลักลอบผลิตเหล็กอยู่หรือไม่

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สูง 33 ชั้น ถล่มลงมาเมื่อ 4 วันที่แล้ว และทีมสุดซอยของรมว.อุตสาหกรรม ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กจาก 3 บริษัท คือ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (จีน) , บริษัททาทา สตีล จำกัด (อินเดีย) และบริษัท ที วาย สตีล จำกัด (บริษัทร่วมทุนไทยและจีน) 7 ประเภท จำนวน 28 เส้น

ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น ,เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น , เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น , เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น และลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น

และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แถลงผลการตรวจแบบ อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ จนทำให้ รมว.อุตสาหกรรม ต้องออกมาโพสต์ เฟซบุ๊ก ว่า

ฟังแถลงแล้ว ยังงงเอง...ขอสรุปที่ได้รับรายงานว่า มีตัวอย่างเหล็กสองประเภทที่ตรวจสอบแล้วต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด คือเหล็กข้ออ้อย ไซส์ 20 และ ไซส์ 32 ที่เป็นของยี่ห้อเดียวกัน

แม้นายเอกนัฏ ไม่ได้เปิดเผยว่า เหล็กดังกล่าวเป็นของบริษัทใด แต่มีรายงานข่าวระบุว่า เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสตง. ส่วนใหญ่ผลิตจากบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ซึ่งเคยเกิดปัญหาเพลิงไหม้ เมื่อปี 2567 จนกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบเหตุ และพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงยึดอายัดเหล็กไว้และตรวจสอบพบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2,441 ตัน มูลค่า 49.2 ล้านบาท และดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าว พบว่า ได้รับใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จำนวน 3 ฉบับ คือ เหล็กเส้นกลม มอก. 20-2559, เหล็กข้ออ้อย มอก. 24-2559 ชั้นคุณภาพ SD 40 และชั้นคุณภาพ SD 50

ทั้งนี้ผลการทดสอบ เหล็กข้ออ้อย โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประ เทศไทย พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 2 รายการ คือ ในรายการส่วนสูงของบั้งที่มีผลทำให้ความสามารถในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อคอนกรีตลดลง เมื่อนำไปใช้งาน และรายการธาตุโบรอน มีผลทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ความเหนียวของเนื้อเหล็กลดลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรับแรงดึงได้ตามที่มาตรฐานกำหนด

ในครั้งนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้แจ้งเตือนให้บริษัทฯ แก้ไขกระบวนการผลิตในระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้นจะสั่งพักใบอนุญาต และ อายัดเหล็กข้ออ้อยขนาด 16,25 และ 32 มิลลิเมตร รุ่นการผลิตช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2567 ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีโทษฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และสั่งให้บริษัทฯ เรียกคืนเหล็กที่ได้จำหน่ายออกไปแล้วกลับคืนมา

สำหรับบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SIN KER YUAN STEEL COMPANY LIMITED ) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ 170 หมู่ที่ 3 ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2554 ทุนปัจจุบัน 1.53 พันล้านบาท มีคนจีนถือครองหุ้นใหญ่กว่า 73%

กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 คน ประกอบด้วย นายเจี้ยนฉี เฉิน นายสู้ หลงเฉิน และนายสมพัน ปันแก้ว มีการนำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2567
โดยนายเจี้ยนฉี เฉิน (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 64.91% ,นายจิโรจน์ โรจน์รัตนวลี ถือ 10%

นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล ถือ 8% , นายซู่หยวน หวัง (สัญชาติจีน) ถือ 6% ส่วนอีก 8 คน ถือหุ้นลดหลั่นตามลำดับ โดย 1 ใน 8 เป็นคนไทย คือ นายสันติ เกษมอมรกิจ ถือ 2%

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในเครือคือ ซิน เคอ หยวน จำกัด เลขทะเบียน 0215562006497 จดทะเบียน 19 ก.ค.2562 ประกอบธุรกิจการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น  (Manufacture of other basic iron) มีทุนจดทะเบียน 6,000 ล้านบาท  ตั้งอยู่เลขที่ 666 หมู่ 2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

มีกรรมการ 3 คนคือ นายสู้ หลงเฉิน นายเหลินจง เฉิน นายสมพัน ปันแก้ว (สัญชาติลาว) และมีการนำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ ม.ค.2568 มี นายฉิน เจี้ยนฉี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 73.63% นาย ชวู้หยวน หวง (สัญชาติจีน) ถือ 5.12% นาย จิโรจน์ โรจน์รัตนวลี ถือ 5% นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล ถือ 5% นายจื่อเจีย เฉิน (สัญชาติจีน) ถือ 2% นายสันติ เกษมอมรกิจ ถือ 1.67%

และนายสมพัน ปันแก้ว (สัญชาติลาว) ถือ 0.33% ที่เหลืออีก 11 คนเป็นชาวจีนที่ถือหุนลดหลั่นกันไป บริษัทได้นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 14,887,406,423 บาท หนี้สินรวม 9,196,465,411 บาท รายได้รวม 320,797,654 บาท รายจ่ายรวม 86,470,444 บาท กำไรสุทธิ 234,327,210 บาท

ข้อมูลของ "เฉิน เจี้ยนฉี" หรือ "เจี้ยนฉี เฉิน" ผู้ถือหุ้นใหญ่ 73.63% ในเครือ ซิน เคอ หยวน ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทอีกอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด ,บริษัท เจิ้นหวา อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริซึ่ม และเทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท ไทยอินเตอร์สตีล จำกัด (เสร็จชำระบัญชี)

นายเอกนัฏ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงผลตรวจการสุ่มตรวจคุณภาพเหล็กตัวอย่าง ที่เก็บมาจากอาคารสตง.ว่า อึ้งเหมือนกัน เพราะโรงงานที่พบว่าผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน เป็นโรงงานที่เคยไปตรวจ และสั่งปิดไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่การก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 สร้างมาแล้ว 5 ปี

"การตรวจเหล็กจะตรวจ 2 ส่วน คือ คุณสมบัติด้านการกล และคุณสมบัติทางเคมี ซึ่งครั้งแรกที่ไปตรวจตกทางเคมี และล่าสุดที่ตรวจเมื่อวานคือตกทางกล ที่ผ่านมาสั่งให้หยุดและอายัดของกลาง เรียกเก็บสินค้ามา และให้หยุดเพื่อปรับปรุง ...ที่ผ่านมาได้ตรวจและปิดโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 โรงงาน ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 3 แห่ง"รมว.อุตสาหกรรม ตั้งข้อสังเกตว่า

อุตสาหกรรมธุรกิจศูนย์เหรียญ ที่มาอยู่ในประเทศแล้ว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับไทย เป็นทุนต่างชาติ 100% จ้างงานต่างด้าว 100% ไม่ต้องจ่ายภาษี และได้รับ BOI ด้วย ซึ่งจากที่ทำมา 6 เดือน บางเรื่องมีลักษณะการดำเนินงานเป็นกระบวนการ

นับจากนี้ คงต้องรอผลการตรวจพิสูจน์อย่างเป็นทางการ จากหน่วยงานของรัฐ หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้มอบหมายให้กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เร่งสืบสวน ก่อนรับเป็นคดีพิเศษ

ขณะที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตเหล็ก ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (จีน) , บริษัททาทา สตีล จำกัด (อินเดีย) และบริษัท ที วาย สตีล จำกัด (บริษัทร่วมทุนไทยและจีน) ในฐานะผู้ผลิตเหล็ก ยังไม่ได้ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้เหล็กชานอ้อยในการก่อสร้างอาคารสตง. 

อ่านข่าว:

ขุมทรัพย์ “ไชน่า เรลเวย์” แกะรอยผู้ถือหุ้นจีน-ไทย สร้างอาคารสตง.

เดินทางแนวนอนปลอดภัย “แผ่นดินไหวเกิดอีก” แต่ไม่ใช่ภัยพิบัติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง