บ่ายวันที่ 28 มี.ค.2568 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมาที่ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย รับรู้ได้ในจังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ประชาชนไม่ได้รับ SMS แจ้งเตือนล่วงหน้า
กลับได้รับข้อความหลังเผชิญเหตุ ทิ้งช่วงนานหลายชั่วโมง บางคนผ่านไปหนึ่งวัน และจนถึงขณะนี้ (1 เม.ย.) ก็ยังมีอีกหลายคนไม่ได้รับ SMS เตือนภัย
ร้อนถึงนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ออกอาการไม่พอใจ จี้ถามกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประชุมของกองบัญชาการและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. เกี่ยวกับการแจ้งเตือน SMS ล่าช้าและไม่ครอบคลุม
แผ่นดินไหวปุ๊บ สิ่งแรกที่ควรเกิดขึ้นประชาชนควรได้รับรู้อะไรบ้าง ใช่เรื่อง SMS หรือไม่ ถ้าใช่หน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องนี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากทำเนียบรัฐบาล)
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากทำเนียบรัฐบาล)
นายกฯ ระบุว่า ได้สั่งการตั้งแต่เวลา 14.00 น. ให้ส่ง SMS แจ้งเตือน แต่ระบบไม่ออก
อธิบดี ปภ. แจ้งว่า ส่งข้อมูลให้ กสทช. 4 ครั้ง ครั้งแรกเวลา 14.20 น. แจ้งเตือนประชาชนสามารถเข้าอาคารได้เท่าที่จำเป็น เพราะยังมีอาฟเตอร์ช็อก ส่งครั้งที่ 2 เวลา 16.07 น. ครั้งที่ 3 เวลา 16.09 น. เกี่ยวกับข้อปฏิบัติตนขณะเกิดแผ่นดินไหว และส่งครั้งสุดท้ายเวลา 16.44 น. แจ้งให้ประชาชนกลับเข้าอาคารได้
แต่รองเลขาธิการ กสทช. บอกว่า ได้รับข้อมูลให้ส่ง SMS ครั้งแรกในเวลา 14.44 น. แต่มีข้อจำกัดส่งได้ครั้งละ 1-2 แสนหมายเลขและใช้เวลา 15 นาทีในการส่ง Cell Broadcast เพื่อส่งไปยังสถานีฐานโทรศัพท์มือถือส่งข้อความถึงผู้ใช้ รวมแล้วส่งไป 10 ล้านหมายเลข
นอกจากนี้ยังย้ำถึงข้อจำกัดของระบบ SMS ที่ทำให้การแจ้งเตือนไม่ครอบคลุมประชาชนพื้นที่เกิดภัยพิบัติ และช้ากว่าระบบเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service (CBS) ซึ่งระบบนี้ยังไม่รองรับการใช้งาน
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์แผ่นดินไหว 8.2 เมียนมา สะเทือนถึงไทย 28 มี.ค.-1 เม.ย.68

ประชาชนได้รับ SMS หลังเผชิญเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568
ประชาชนได้รับ SMS หลังเผชิญเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568
ปัญหาความยุ่งยากของขั้นตอนการแจ้งเตือนภัยในระบบราชการ ที่เริ่มจาก กรมอุตุนิยมวิทยาส่งข้อมูลแผ่นดินไหวให้ ปภ. จากนั้น ปภ.กำหนดข้อความเตือนภัยส่งไปยัง กสทช. เพื่อให้ประสานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่ง SMS ถึงผู้ใช้งาน กลายเป็นความล่าช้าไม่ทันการณ์กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แต่หากมีการใช้ระบบ CBS ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมี ปภ.เป็นเจ้าภาพ จะทำให้สามารถส่งข้อความเตือนภัยโดยใช้โครงข่ายมือถือ ส่งถึงผู้ใช้ทุกคนในพื้นที่ที่กำหนด
ไทม์ไลน์เกือบ 3 ปี Cell Broadcast
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว ThaiPublica นำเสนอข้อมูลเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2568 ระบุว่า ในปี 2565 คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) มีมติให้ ปภ.ทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเป็นหน่วยงานหลักใช้ Cell Broadcast แจ้งเตือนสาธารณภัย
ปี 2566 หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงในห้างกลางกรุงฯ มีรายงานว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือกับ กสทช.วางแนวทางทำงานในการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ทั้งในระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนด้วยระบบ SMS และระยะปานกลางโดยใช้ระบบ Cell Broadcast และมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดแนวทางบริหารจัดการระบบ
ก่อนที่ในปี 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม ที่มอบอำนาจให้กระทรวงดิจิทัลฯ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งเตือนประชาชนตามกฎหมาย

การประชุมของกองบัญชาการและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2568 ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว (ภาพจากทำเนียบรัฐบาล)
การประชุมของกองบัญชาการและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2568 ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว (ภาพจากทำเนียบรัฐบาล)
นอกจากนี้ยังเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายและเห็นชอบให้ กสทช.สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ ในการพัฒนาระบบแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม โดยรัฐบาลคาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568
จากนั้น กสทช.อนุมัติงบให้ ปภ.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) และให้กระทรวงดิจิทัลฯ รับหน้าที่เชื่อมต่อระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง CBE และ Cell Broadcast Center (CBC)
รวมทั้งอนุมัติงบกว่า 1,000 ล้านบาทในการจัดทำและบำรุงรักษาระบบแจ้งเตือนภัยดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS, TRUE และ NT
อ่านข่าว : รู้ทันที! "Cell Broadcast" เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยพิบัติใช้กันทั่วโลก
ขณะที่นายกฯ แพทองธาร สั่งการให้ ปภ.เร่งรัดระบบเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service (CBS) โดยมีรายงานว่าในไตรมาส 1 ของปี 2568 จะทดสอบระบบ วิเคราะห์ข้อมูลและสามารถส่งถึงผู้ใช้งานทุกหมายเลขที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ และพร้อมใช้งานจริงไตรมาส 2 แต่ในบางพื้นที่เท่านั้น
การเร่งรัดให้ใช้ระบบ Cell Broadcast ยังเกิดขึ้นหลังมีเหตุการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2567 กระทั่งถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568

จุดเกิดเหตุอาคาร สตง.แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหว
จุดเกิดเหตุอาคาร สตง.แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหว
ปรับระบบส่ง SMS รอ Cell Broadcast เต็มรูปแบบ
หากภัยแผ่นดินไหว เป็นเหตุเดียวที่ไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้และระบบ CBS ในประเทศไทยยังล่าช้า แล้วในช่วงที่ประชาชนยังรอระบบเตือนภัยฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ หากมีอะไรเกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างไร?
นายกฯ แพทองธาร ระบุว่า ระบบ Cell Broadcast เต็มรูปแบบจะสามารถใช้งานได้ช่วงเดือน ก.ค.นี้ เพราะฉะนั้นยังมีความจำเป็นต้องใช้ SMS แต่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบ Standard Operating Procedure (SOP) ส่งข้อความได้เลยจากที่รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ โดย ปภ.ไม่ต้องวิเคราะห์ข้อความ ใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง ข้อความกระชับ ถูกต้องและเข้าใจง่าย
นอกจากนี้ระหว่างรอ Cell Broadcast ระบบเต็ม ให้ใช้เป็นระบบ Virtual Cell Broadcast ก่อนที่จะถึงเดือน ก.ค. สำหรับระบบ Android จำนวน 70 ล้านเลขหมาย ปภ.จะส่งข้อความตรงไปที่โอเปอเรเตอร์ได้ทันที ส่วนในระบบ iOS จำนวน 50 ล้านเลขหมาย ให้ใช้การส่ง SMS ไปก่อน โดยให้ ปภ.ส่งข้อความตรงไปที่โอเปอเรเตอร์เพื่อกระจายข้อความสู่ประชาชน
อ่านข่าว : 20 ปี เตือนภัยพิบัติ SMS ไม่เวิร์ค CellBroadcast ยังไม่เกิด
กสทช.ถก Apple-Line เดินหน้าระบบเซลบอร์ดแคส
วิเคราะห์ลดขั้นตอนเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast รวดเร็ว-ป้องกันโกลาหล
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน
- ระบบเตือนภัย
- เซลล์ บรอดคาสต์
- เตือนภัยพิบัติ
- แจ้งเตือนสาธารณภัย
- Cell Broadcast
- Cell Broadcast Service
- Cell Broadcast Center
- Cell Broadcast Entity
- SMS
- SMS เตือนภัย
- ปภ.
- กสทช.
- แผ่นดินไหว
- แผ่นดินไหวกรุงเทพ
- แผ่นดินไหวกทม
- แผ่นดินไหวประเทศไทย
- แผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568
- แผ่นดินไหวเมียนมา
- ตึกถล่ม
- อาคารถล่ม
- ข่าววันนี้
- ข่าวล่าสุด