ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

20 ปี เตือนภัยพิบัติ SMS ไม่เวิร์ค CellBroadcast ยังไม่เกิด

ภัยพิบัติ
1 เม.ย. 68
15:16
89
Logo Thai PBS
20 ปี เตือนภัยพิบัติ SMS ไม่เวิร์ค CellBroadcast ยังไม่เกิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังคงไล่บี้เรื่องส่งเอสเอ็มเอสเตือนภัยแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ (28 มี.ค.) ล่าช้า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เปิดทำเนียบ ประชุมติดตามร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) รัฐมนตรีดีอีเอส และโอเปอเรเตอร์ บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ ทั้งเอไอเอส ทรู และ เอ็นที

ในการซักถามและรับฟังคำตอบ น.ส.แพทองธาร ได้คำตอบที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ มีไม่น้อยกว่า 4 ขั้นตอน ตั้งแต่จากกรมอุตุนิยมวิทยา ไปยัง ปภ.หรือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จาก ปภ.ไปยัง กสทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แล้วจึงไปที่โอเปอเรเตอร์ ก่อนส่งข้อความ (SMS) ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

แต่ละขั้นตอน ยังมีการตรวจสอบ กำหนดหมายเลข และอื่น ๆ มิหนำซ้ำ ค่ายมือถือส่งข้อความแต่ละรอบได้สูงสุดเพียง 2 แสนเลขหมาย รอบต่อไปต้องใช้เวลาอีก 15 นาที จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การส่งเอาเอ็มเอสในวันเกิดแผ่นดินไหว ล่าช้า ไม่ทันการ และมีจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับข้อความ

เป็นความล่าช้าเทอะทะที่เริ่มต้นจากส่วนราชการ ที่ยังติดอยู่กับขั้นตอนมากมาย โดยเฉพาะข้อความที่จะส่ง ทาง ปภ.จะเป็นผู้กำหนด ถือเป็นต้นตอของปัญหา ขณะที่เอกชน คือโอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ อ้างว่า สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาเรื่องส่งข้อความได้เฉพาะระบบแอนดรอยด์ 70 ล้านเลขหมาย ส่วนระบบไอโอเอส 50 ล้านเลขหมาย ยังมีปัญหาเรื่องรับส่งข้อความ

ส่วนกรณีระบบเตือนภัย หรือ Cell Broadcast ที่เปรียบเป็นเทคโนโลยีเวอร์ชั่นใหม่ของเอสเอ็มเอส ก็ไม่ต่างกัน ปภ.เป็นตัวหลักในการจัดทำระบบ จัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ ขณะที่ กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ และโอเปอเรเตอร์ หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ยืนยันว่าพร้อมแล้ว รอเพียงระบบจาก ปภ.เท่านั้น

กรอบเวลาที่วางไว้สำหรับ เซล บรอดแคสท์ คือใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม 2568 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก่อนถึงวันกำหนด จึงตั้งความหวังเอาไว้ที่เอสเอ็มเอส ผลที่ตามมา จึงเป็นอย่างที่เห็น ส่งข้อความล่าช้ามาก คนไม่ได้รับข้อความ จึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และควรต้องปฏิบัติหรือรับมือกับสถานการณ์อย่างไร จึงเกิดความสับสนอลหม่าน

ทางราชการปล่อยเจ้าหน้าที่กลับบ้านก่อนเวลา ส่วนทางเอกชน และโรงเรียนสถานศึกษา ต้องสั่งปิดเร็ว ให้นักเรียนกลับบ้านก่อน จึงเกิดการออกันเต็มท้องถนน ยิ่งทางด่วนขั้นที่ 2 ไม่สามารถใช้ผ่านได้ ทั้งที่หลักการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินในต่างประเทศ ถนนต้องโล่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยกู้ภัย สามารถลำเลียงส่งผู้ได้รับอันตรายจากภัยพิบัติ ไปยังโรงพยาบาลได้อย่างสะดวก

แม้สุดท้าย นายกฯ จะย้ำว่า ต้องตัดให้เหลือขั้นตอนน้อยที่สุด ระหว่างนี้หากมีเหตุต้องเตือนภัยเกิดขึ้น ให้ปภ.ส่งข้อความที่ได้รับจากกรมอุตุฯ ไปยังโอเปอเรเตอร์ได้ทันที ไม่ต้องผ่าน กสทช. และไม่ต้องวิเคราะห์เพิ่มเติม แต่ให้วางรูปแบบข้อความไว้ล่วงหน้า แต่ในทางปฏิบัติ ใช่ว่าจะคล่องตัวอย่างที่คาดหวัง ตราบใดระบบและส่วนราชการ รวมทั้ง ปภ.ยังมีกรอบความคิดแบบเดิม ๆ

จึงเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสม ที่นายกฯ จะย้ำว่า ระบบเตือนภัย SMS หรือ Cell Broadcast เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแจ้งเตือนภัย แต่รัฐบาลต้องมีการสื่อสารกับประชาชนผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก แพลทฟอร์มออนไลน์อื่น รวมถึงช่องทางทีวี แต่ก็ต้องเตรียมพร้อม ซักซ้อม ไว้ก่อนเช่นกัน

สำหรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติเร่งด่วน ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างจริงจังหลังเกิดภัยสึนามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน ปี 47 ครั้งนั้น เริ่มจากการสร้างหอกระจายข่าว ไซเรน ตั้งศูนย์เตือนภัยพิภัยในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งเริ่มพูดถึงการส่งช็อต แมสเสส ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่การส่งเอสเอ็มเอสยังไม่ได้ใช้จริงจัง สาเหตุสำคัญคือ คนทั่วไปยังไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือใช้ทุกคน

จากนั้นมา ในเหตุการณ์สำคัญ เช่น น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ได้มีการทดสอบการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนอีกครั้ง แต่ยังขาดความพร้อมเช่นเคย กระทั่งปี 2562 ได้ข้ามขั้นพูดคุยเรื่องเซล บรอดแคสท์ แต่มาเริ่มตั้งคณะกรรมการเตือนภัยพิบัติฯ จริง ในปี 2565 และ 2 ปี

ต่อมา ปี 2567 รัฐบาลได้มอบหมายให้ ปภ. เป็นหน่วยงานหลัก สำหรับดำเนินการในส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) และให้กระทรวงดีอีเอส รับผิดชอบด้านการเชื่อมต่อและระบบ Cloud Server

ส่วนงบประมาณ บอร์ด กสทช.เป็นผู้อนุมัติเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการ 3 ปี รวม 1,031 ล้านบาท ให้กับโอเปอเรเตอร์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง เอไอเอสและทรู ส่วนเอ็นทีก็ยื่นขอเช่นกัน

ความจริง เรื่องการเตือนภัยพิบัติ รัฐบาลหลายชุดให้ความสำคัญเสมอมา แม้อุปกรณ์เครื่องมืออาจยังไม่พร้อม ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม เมื่อเดือนตุลาคม 2565 “บิ๊กตู่” บอกว่า หากไฟดับ ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทางวิทยุทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ใกล้ชิดกับประชาชนมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งกลายเป็นไวรัลและมีเสียงวิพากษ์หลากหลายตามมาขณะนั้น

ตาสะท้อนถึงการให้ความสำคัญ และใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ต้องมุ่งหวังใช้ของดีเฟอร์เฟ็คท์ อย่างเซล บรอดแคสท์ ที่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่เป็นจริง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง