ทั้งโลกเป็นหนี้บุญคุณประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะเขาเป็นผู้ทำลายระบบพหุภาคีนิยม (multilateralism) อย่างเลือดเย็น ระบบที่เคยเป็นแกนหลักของระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาทำสำเร็จภายในเวลาเพียงเจ็ดสัปดาห์หลังกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระที่สอง
ทรัมป์ใช้นโยบาย "America First" หรือ "อเมริกาต้องมาก่อน" หรือ "อเมริกาเท่านั้น" เป็นกลไกสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศและตัวเขา ทำลายความร่วมมือพันธมิตรระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ เคยสนับสนุนมากว่าเจ็ดสิบปี และยังขู่ขึ้นภาษีอย่างไร้ยางอายกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก
ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีระหว่างประเทศอ่อนแอลง นอกจากนี้ เขายังถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2018 ทำให้การเมืองตะวันออกกลางยิ่งไร้เสถียรภาพ และกระตุ้นให้อิหร่านกลับมาเสริมสร้างศักยภาพด้านนิวเคลียร์
โดยส่วนตัว ทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือภายใต้องค์การสหประชาชาติ เขาถอนตัวจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งผลให้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและสาธารณสุขโลกลดความสำคัญลง นอกจากนี้ ทรัมป์ยังทำให้พันธ มิตรของสหรัฐฯ หมดความศักดิ์สิทธิ์และอ่อนแอลง
เขาโจมตีนาโต้และขู่ถอนตัวจาก NATO ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อีกทั้งยังตั้งกำแพงภาษีกับพันธมิตร เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ
ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ส่วนด้านการเมือง เกิดความไม่แน่นอนทางการทูตและแนวคิดการโดดเดี่ยวตัวเอง (Isolationism)

ทรัมป์มีความใกล้ชิดกับผู้นำเผด็จการ เช่น วลาดิเมียร์ ปูติน (รัสเซีย) คิม จอง-อึน (เกาหลีเหนือ) และมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน (ซาอุดีอาระเบีย) และยังพยายามทำลายองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การการค้าโลก (WTO) โดยให้เหตุผลว่าองค์กรเหล่านี้ "ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ"
ไทยต้องวางตัวให้ดีในโลกหลายขั้ว ยุคหลังการถอนตัวของสหรัฐฯ จะเป็นช่วงที่จีนมีบทบาทสูงขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า ผ่านความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปแข็งแกร่งขึ้นและกลายเป็นมหาอำนาจอิสระที่ไทยต้องเข้าหาทั้งในด้านการค้าและความมั่นคง
นอกจากนี้ ยังมีประเทศนอกภูมิภาค เช่น อินเดีย ตุรกี บราซิล รวมถึงมหาอำนาจระดับกลางอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก

โลกหลายขั้วเปิดโอกาสให้ไทยแสดงบทบาทในการเสริมสร้างกรอบความร่วมมือในเวทีการ เมืองโลกที่มีความสมดุลและยุติธรรมมากขึ้น แต่ไทยต้องมีผู้นำที่มีความรู้และภาวะผู้นำเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายในระเบียบโลกใหม่ เพราะแต่ละประเทศต้องดูแลผลประโยชน์ของตนเอง เนื่องจากโลกที่แบ่งขั้วแบบเดิมไม่มีอีกแล้ว
ไทยเคยเอาตัวรอดในอดีตได้ด้วยปัญญาและการทูตที่สามารถรักษาผลประ โยชน์ของชาติได้ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก มหา อำนาจยังคงแข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เช่น การขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากจีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ท้าทายอำนาจของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องไม่เคยมีมาก่อน
เพื่อความอยู่รอด ผู้นำไทยต้องตระหนักถึงผลประโยชน์แห่งชาติอย่างถ่องแท้ และต้องสามารถจับกระแสแนวโน้มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ปัจจุบันไม่มีมหาอำนาจใดสามารถควบคุมสถานการณ์โลกได้อย่างเบ็ดเสร็จ เช่น หากเกิดภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ศักยภาพด้านการต่างประเทศและนักการทูตของไทยถูกบั่นทอนโดยนักการเมืองที่มองเพียงผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกในระยะสั้น ตัดสินนโยบายต่างประเทศโดยใช้ความรู้สึกส่วนตัว มากกว่าการพิจารณาผลประโยชน์ของชาติในระยะยาว
จุดที่เป็นสัญญาณดีคือ คนไทยเริ่มให้ความสนใจในเรื่องการต่างประเทศมากขึ้น แม้ว่าจะยังมองในแง่ของการแข่งขันและการแย่งชิงอำนาจแบบพระเอก-ผู้ร้ายในภาพยนตร์
ในขณะนี้ ประเทศไทยต้องเสริมสร้างภูมิปัญญาของประชาชนเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติ ว่ามิใช่เรื่องส่วนตัว และไม่สามารถตัดสินใจแบบ "ฟาสต์ฟู้ด" ได้ เพราะการทูตมีผลผูกพันกับประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ชั่วลูกชั่วเหลน
มองเทศคิดไทย : กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส
อ่านข่าว:
"ปูติน" เสนอ "ยูเครน" ตั้งรัฐบาลชั่วคราวปูทางเลือกตั้ง-ยุติสงคราม
เงินเยนอ่อน ต่างชาติเดินทางพุ่ง ญี่ปุ่นเจอวิกฤตนักท่องเที่ยวล้นเมือง