วันนี้ (30 มี.ค.2568) นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อาการเวียนหัว ขณะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งแผ่นดินไหวหยุดไปแล้ว เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง หรือเป็นโรคสมองเมาแผ่นดินไหว คือ กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว จึงทำให้รู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าร่างกายยังต้องการการปรับตัว
วิธีบรรเทาอาการเวียนหัว มีดังนี้รีบพักผ่อนอย่าฝืนทำงาน หากรู้สึกเวียนหัวให้หยุดเดินแล้วนั่งพัก ดื่มน้ำให้มาก ๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงหน้าจอที่เป็นแสงสะท้อนเข้าตาเพราะจะกระตุ้นอาการเวียนหัว หากอาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
ส่วนระยะยาวต้องคอยสังเกตว่าความเครียดความกังวลต่าง ๆ ว่ายังอยู่หรือไม่ เช็กตัวเองว่า มีพฤติกรรมอารมณ์อะไรที่เปลี่ยนไป กำลังกลัวอะไรอยู่ เพราะอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่ากำลังปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
ด้าน นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังคงอยู่กับความหวาดกลัว วิตกกังวล จนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ หากรู้สึกมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แนะให้เข้าไปที่แอปพลิเคชัน Here to Heal และอาสานักจิตวิทยา บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชท เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้ที่ http://here2healproject.com /โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)
อ่านข่าว“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3” ส่งกำลังใจ เมียนมายอดตายพุ่ง 1,600 คน

รู้จักโรคสมองเมาแผ่นดินไหว-โรคสมองหลอนแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ว่า หลังแผ่นดินไหวจบ นอกจากสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังมีอาการตอบสนองต่อร่างกายยังไม่จบเป็นอาการต่อเนื่องด้วย เอาจริง ๆ อาจ ยังรู้สึก หวั่น ๆ โยกๆ อยู่นิดนึง
กลุ่มอาการเหล่านี้ ที่ญี่ปุ่นรู้ดีเพราะแผ่นดินไหวบ่อย ไทยเรา รู้ไว้ด้วยจะได้ สังเกตตัวเอง อาการอะไรบ้าง เกิดต่อร่างกาย จิตใจหลัง แผ่นดินไหว
สมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk)
สมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือ PEDS)
ผู้คนมักอธิบายว่ารู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ คล้ายกับความโคลงเคลงที่รู้สึกหลังจากลงจากเรือ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อาการป่วยจากแผ่นดินไหว” หรือ “จิชิน-โยอิ” (แปลตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว” ในภาษาญี่ปุ่น) การศึกษาชี้ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล

การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า
ระยะเวลาของอาการทางร่างกายเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายคน อาการวิงเวียนจะค่อย ๆ หายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุ ในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016
พบว่าบางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42% ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ
อ่านข่าว
เข้าสู่ 48 ชม.ตึกถล่ม ผู้ว่าฯ กทม.เผยยังพบสัญญาณชีพ เร่งค้นหา
แผ่นดินไหวทิพย์
ส่วนอาการ “สมองหลอนแผ่นดินไหว“ หรือ “แผ่นดินไหวทิพย์” “earthquake illusion" เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือนทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นเพราะความตื่นตัวที่สูงขึ้นหรือความทรงจำจากเหตุการณ์อาการทางจิตสั่นไหว
แผ่นดินไหวสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลัน เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว แพนิก บางคนนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการเช่น การย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ความตื่นตัวเกินเหตุ หรือการนอนหลับยาก กลัวการอยู่ในตึก หรือขึ้นรถไฟฟ้าไปเลย
สาเหตุของอาการเหล่านี้ซับซ้อน น่าจะเป็นสมองพยายามประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่ขัดแย้งกัน ตาบอกว่าพื้นดินนิ่ง แต่ระบบการทรงตัวบอกว่าเคลื่อนไหว จนเกิดการพุ่งขึ้นของคอร์ติซอล และอะดรีนาลีนระหว่างและหลังเหตุการณ์สามารถเพิ่มความไวต่อความรู้สึกในร่างกาย ทำให้อาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้รู้สึกหนักขึ้น
คนที่เป็นภาวะนี้ ได้แก่ คนมีโรควิตกกังวลหรือประวัติปวดไมเกรน ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับอาการหลังแผ่นดินไหว แต่สามารถใช้วิธีจากอาการเมารถและการจัดการความเครียดได้ การมองไปที่จุดไกล ๆ (เช่น เส้นขอบฟ้า) การนอนลง หรือการจิบน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนในระยะสั้นได้
สำหรับผลกระทบทางจิตใจ การพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์กับผู้อื่น จะช่วยระบาย หรือหลีกเลี่ยงการดูสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์มากเกินไป นอกจากนี้ กินยาแก้เวียนได้ 2-3 วัน หากใจสั่นจิตตก ทำสมาธิ ไม่ดูข่าวมาก หากมียาช่วยนอน ทานได้ ปรึกษาแพทย์ หากเป็นมากจนแพนิก
อ่านข่าว
รอคอยอย่างมีหวัง! ตึกสตง.ถล่มสูญหาย 80 คน-เฝ้ารอปาฏิหาริย์