คณะทำงานของ ป.ป.ช. ชุดเฉพาะกิจติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือ “ฉก.ฉลามอันดามัน” นำโดย นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง
นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผอ.กลุ่มประสานการป้องกันการทุจริตภาค 9 และเจ้าหน้าที่คณะทำงานร่วมกว่า 30 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ของ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา โดยลงพื้นที่เกาะสี่และเกาะแปด

หลังจากที่มีการประกาศให้มีการจัดเก็บรายได้ E-Ticket หรือตั๋วแบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการบุกตรวจเป็นความลับ ไม่แจ้งอุทยานฯ ให้ทราบล่วงหน้า
เมื่อ ฉก.ฉลามอันดามัน เดินทางไปถึง ได้ยื่นหนังสือต่อ นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา เพื่อขอเข้าปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ
ซึ่งคณะทำงานของ ป.ป.ช.ได้มีข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่มีการแจ้งจากผู้ประกอบการซื้อตั๋วผ่านระบบ E-Ticket ของวันที่ 25 มี.ค.2568 อยู่ในมือทั้งหมดแล้ว ก่อนจะแยกย้ายแบ่งหน้าที่กันเข้าประจำจุด
เมื่อเรือของผู้ประกอบการหลายบริษัท ทะยอยกันเดินทางเข้ามาเทียบชายหาดเพื่อส่งนักท่องเที่ยว คณะทำงานได้นำจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ที่โดยสารมากับเรือ เพื่อตรวจสอบกับไกด์นำเที่ยวประจำเรือแต่ละลำ โดยจะนำคิวอาร์โค้ดมาให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดสแกนเพื่อระบุถึงจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมากับเรือและซื้อตั๋วแบบ E-Ticket เข้ามา
อ่านข่าว : สั่งสอบย้อนหลัง ปมฉีกตั๋วอุทยานสิมิลัน

เมื่อคณะทำงานของ ป.ป.ช.เฝ้าตรวจสอบติดตามอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง พบว่า เรือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประมาณ 15 ลำ ที่เข้ามาเทียบชายหาดเพื่อส่งนักท่องเที่ยว บางลำเข้ามาส่งนักท่องเที่ยวโดยซื้อตั๋ว แบบ E-Ticket แจ้งว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเพียง 5 คน ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเห็นอย่างชัดเจนว่า มีนักท่องเที่ยวในเรือโดยสารถึง 50-60 คน
นอกจากนี้ยังพบเห็นอย่างชัดเจนว่า บางลำแจ้งซื้อตั๋วเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยมา 10-20 คน แต่ปรากฏจากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางเข้ามาด้วยเลย
รวมทั้งหมดที่พบเห็นมีเพียงไม่ถึง 50 คน ซึ่งราคาตั๋ว แบบ E-Ticket จำหน่ายในราคาคนไทย 100 บาท เด็ก 50 บาท ต่างชาติ 500 บาท เด็ก 250 บาท
ทั้งนี้ในระหว่างที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างของอุทยานฯ ที่เฝ้าประจำจุดนั้น ไม่ได้มีการนับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด มีการนับเพียงบางลำเท่านั้น โดยการนับของลูกจ้างอุทยานฯเป็นการนับแบบใช้สายตาและใช้เครื่องกดนับตัวเลข

และภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ตรวจพบอย่างชัดเจน ก่อนสอบถามว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อ ทางลูกจ้างอุทยานฯ จึงเขียนใบปรับให้กับไกด์นำเที่ยว เพื่อเปรียบเทียบปรับ โดยจะต้องส่งใบปรับให้ทางอุทยานแห่งชาติฯ ต่อไป
จากการตรวจสอบข้อมูลรอบเดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดือนละประมาณ 40,000 คน แต่ข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์พบว่า ไม่ค่อยปรากฏมีนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนมากเกือบ 100 % เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งข้อมูลและสภาพที่พบเห็นต่างต่างกันอย่างชัดเจน
นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 8 กล่าวว่า เป็นภารกิจติดตามเกี่ยวกับเรื่องรายได้ค่าเข้าอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่ง ป.ป.ช เสนอมาตรการป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าเข้าแบบ E-Ticket
ส่วนที่มาตรวจสอบอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เพราะเป็นอุทยานแห่งแรกที่ใช้ระบบการเก็บค้าเข้าอุทยานฯ แบบ E-Ticket แบบ 100 % จากการตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์แต่ละลำ ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่การจะหาแนวทางที่จะลดความคลาดเคลื่อนลง หรือหาแนวทางแก้ไขอย่างไรต้องดูอีกครั้ง

ป.ป.ช.แนะปรับระบบทั้ง E-Ticket และคน ให้สัมพันธ์กัน
“เพราะในระบบกับหน้างานจริง ๆ มันมีเรื่องจำนวนคน ประเภทของนักท่องเที่ยวต่างชาติกับคนไทย ค่าธรรมเนียมแตกต่างกันถึงเกือบ 10 เท่า เมื่อแจ้งยอดคนไทยเข้ามา ทั้งที่จริงเป็นต่างชาติเยอะ ทำให้มีความ Error อยู่ และแม้ว่าจะเข้ามาในระบบ E-Ticket แต่การตรวจนับก็ยังเป็นแบบ Manual คือ การใช้เจ้าหน้าที่ตรวจนับ ซึ่งยังมีจุดที่หละหลวมอยู่ แต่ไม่มากนัก อาจจะมีประเภทนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่ก็ได้หาแนวทางแล้วว่า จะกำชับยังไงให้ลดความคลาดเคลื่อนลง”
นายสุชาติกล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานไปทางอุทยานฯ ให้ดำเนินการไปตามกฎกติกาก่อน แต่ถึงขั้นมีการช่วยเหลือกันหรือไม่ จะต้องไปดูรายละเอียดอีกที และเมื่อพบเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะให้อุทยานฯ ไปดำเนินการตามระเบียบของกรมอุทยานฯ ในการปรับผู้ที่แจ้งมาไม่ตรงกับที่เข้าชมอุทยานฯ
จริง ๆ ตอนนี้รวบรวมมาหลายที่แล้ว แต่มีที่นี่เพียงที่เดียวที่ใช้ E-Ticket 100 % บางทีนำร่องเป็น E-Ticket แต่ใช้แบบปกติอยู่ คือฉีกตั๋วหน้างาน เราเริ่มมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกัน แม้ว่า จะพบข้อบกพร่องจริง ๆ แต่จะต้องปรับปรุงมาตรการ คือเราต้องแยกก่อนว่าในการปรับปรุงมาตรการ เพื่อให้การเก็บค่าเข้าชมอุทยานฯ ซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดินให้ครบถ้วนตามความเป็นจริง แต่กรณีที่เรายังไม่พบ ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่เองมีพฤติการณ์ในการทุจริต หรือร่วมกับเอกชน ในการที่จะแสวงหาประโยชน์ ถ้าหากพบเห็นก็จะดำเนินการให้เป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนต่อไป

ด้านนายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า วันนี้มีข้อสังเกตจากการจำหน่ายตั๋วของนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่มีการซื้อตั๋วของบริษัทต่าง ๆ ระบุว่า เป็นคนไทย 500 คน แต่จากการสังเกตของคณะทำงานฯ พบว่า น่าจะมีไม่ถึง 10 % อาจจะ 30-40 คน โดยประมาณ ซึ่งผิดปกติวิสัย
ส่วนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะเห็นว่าไม่ดำเนินการตรวจนับให้ตรงตามใบงาน หรือ E-Ticket ที่ซื้อมา ซึ่งตัวเลขแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรือบางลำบางบริษัท ซื้อมาเพียง 5 คน แต่มาจริงเต็มลำคือ 50 คน มีส่วนต่างจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ช จะติดตามเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องดำเนินการปรับหรือไม่อย่างไร
มีข้อสังเกตว่า 1 เดือนที่ผ่านมา มีเพียงรายเดียว ที่มีการเปรียบเทียบปรับ โดย ป.ป.ช จะขอข้อมูลย้อนหลังมาดู และต้องดำเนินการกับบริษัท ที่ซื้อตั๋วผิดประเภท หรือไม่ซื้อตั๋วให้ตรงกับจำนวนนักท่องเที่ยว
นายฤทธิกรณ์ นุ่นลอย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา กล่าวว่า จากการที่ได้สุ่มตรวจพบข้อผิดพลาดในบางรายที่ไม่ตรง ทุกครั้งที่ตรวจพบ จะมีการจับปรับ ครั้งแรก 5,000 บาท และมีการจ่ายเงินในใบเสร็จให้ครบ ซึ่งมีอยู่ประปรายและปรับเรื่อยไป
ขาดเกินมาก็ปรับ เพราะเราเก็บเงินต่อไม่ได้ ต้องปรับเป็นวินัยทันที กรณีปรับมีวันละ 5,000-10,000 บาท บางวันก็ไม่มี บางวันก็ 20,000 บาท ก็แล้วแต่ ระเบียบปรับเป็นวินัยกฎหมายใหม่ ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ ชำนาญการ และระดับปฏิบัติการ บางทีก็รวมถึงความผิดอื่นด้วย เช่น ทอดสมอในอุทยานฯ จับเต่า หรือความผิดทั่วไปก็อยู่ในข้อดีคือปรับ ถ้าไม่ปรับก็ดำเนินคดี ซึ่งอำนาจอยู่ที่อุทยานฯ เอง ถ้าพบมีการกระทำความผิดอยู่ บางครั้งก็มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่

มีการสุ่มตรวจและลงโทษ มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการ ไกด์ให้กวดขันไม่เช่นนั้นจะโดนค่าปรับตามจำนวน 3 ครั้ง จากนั้นต้องเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเท่าที่ทราบ ยังไม่เคยมีใครถูกเพิกถอนใบอนุญาต
นายฤทธิกรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุของการรั่วไหลของจำนวนเงินในแต่ละวัน 1.น่าจะมาจากการรวบรวมแบบ Manual หรือการสรุปตัวเลขผิดพลาด 2.นักท่องเที่ยวบางส่วนมาไม่ครบ หรืออาจจะไปเล่นน้ำจากจุดอื่นมา ซึ่งมีหลายปัจจัย แต่วันนี้ที่ได้คุยกับ ป.ป.ช มี 3-4 ปัจจัยด้วยกัน เราจึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้น และกวดขันให้มากขี้น ซึ่งเราต้องหมั่นสุ่มตรวจอยู่เรื่อยเพื่อไม่ให้มีช่องว่าง
อยากให้กรมอุทยานฯ ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฯ จุดที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาจจะบางปีมาก บางปีน้อย ถ้าปีที่น้อยก็ทำงานทัน แต่ถ้าปีไหนนักท่องเที่ยวมาก ก็ทำให้การควบคุมอาจจะรั่วไหล อาจจะไม่กวดขันในการนับจำนวน ซึ่งเราต้องเพิ่มจำนวนคนนับและใช้เครื่องมือช่วย

เท่าที่ทราบมาหลังโควิด เมื่อก่อนเก็บเงินสดหน้าหาด ซึ่งมีการรั่วไหลเป็นจำนวนมาก ถ้าเก็บหน้าหาดก็รั่วไหลจากหลายอย่าง 1.นับเงินทอนผิด 2.นับเงินไม่ทัน 3.ทำเงินตกน้ำ มีการขโมยเงินทอน หลายปัจจัย แต่พอเป็น E-Ticket ที่เกาะไม่มีเงินเลย ลดโอกาสทุจริตน้อยลง ซึ่งหลังจากมี E-Ticket แล้วมีอยู่บ้าง ก็ต้องมีการสุ่มตรวจหรือใช้เครื่องมือทันสมัย ใช้ริสแบนด์หรือใช้เครื่องมือมาแทนการนับคน เพราะการนับคนมี Error หลายอย่าง ทั้ง 3-4 ปัจจัยและเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องควบคุม
เบื้องต้นคณะทำงาน ป.ป.ช. ชุด ฉก.ฉลามอันดามัน จะตรวจสอบพยานหลักฐาน หรือเอกสารต่าง ๆ อย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ร่วมกับผู้ประกอบการ จะมีการดำเนินการยกเหตุสงสัย ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น และจะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
พร้อมทั้งให้ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่มีการเปรียบเทียบปรับกับบริษัท หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯ หรือไม่ต่อไป
อ่านข่าว : ย้ายด่วน! หัวหน้า อช.หมู่เกาะสิมิลัน สอบปมขายตั๋วส่อไม่โปร่งใส
"อนุทิน" ไม่ติดใจ "เอกราช" ย้ายซบ "กล้าธรรม" เคลียร์ใจกันแล้ว