ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปกาเกอะญอ "ทำลายป่า" วาทกรรมอคติที่ "ชาติพันธุ์" ต้องแบกรับ

สิ่งแวดล้อม
21 มี.ค. 68
11:52
174
Logo Thai PBS
ปกาเกอะญอ "ทำลายป่า" วาทกรรมอคติที่ "ชาติพันธุ์" ต้องแบกรับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อวาทกรรม "ทำลายป่า" กำลังทำลายภูมิปัญญา "ปกาเกอะญอ" ให้สูญสิ้น ทั้งๆวิถีชีวิตของบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ ผูกพันกับธรรมชาติและผืนป่ามาอย่างยาวนาน

เท่าที่มีหลักฐานสืบค้นได้ บรรพบุรุษของเราอยู่ที่นี่มา 100 กว่าปีแล้ว ผู้เฒ่าของเราปลูกต้นไม้ใหญ่เอาไว้ให้ใช้เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชุมชน

ตั้งแต่คนรุ่นพ่อของเราขึ้นไปจะมีเหรียญชาวเขาที่ได้รับพระราชทานจาก ในหลวง ร.9 เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงตัวในสมัยก่อนว่าเป็นคนที่อยู่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ซึ่งทุกคนได้เหรียญมาก่อนที่บ้านของพวกเราจะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯหลายปี

ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวปกาเกอะญอตั้งอยู่ พวกเขาเคยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน เมื่อทำเสร็จแล้วก็ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองไปอีก 7-10 ปี จึงกลับมาทำใหม่ในที่แปลงเดิม ไม่เคยต้องใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์หรือยาฆ่าแมลง พืชพรรณทั้งถูกนำมาเป็นอาหาร ใช้เป็นสีธรรมชาติในการย้อมและทอผ้า ใช้เป็นยาสมุนไพร

บ้านสันดินแดง อยู่ที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่มกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ทำให้ชุมชนปกาเกอะญอแห่งนี้ มีรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับอุทยานฯอย่างเป็นระบบ ชาวบ้านและหลายองค์กรเอกชน ช่วยกันจัดทำแผนที่เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืน ตามปรัชญา "ใช้ประโยชน์ส่วนน้อย รักษาส่วนใหญ่"

ตัวอย่างข้อมูลแผนที่ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยชาวกะเหรี่ยงบ้านสันดินแดง

พื้นที่ดูแลรักษาป่ารวม 22,255 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 190 ไร่ คิดเป็น 0.86%

  • พื้นที่ทำกิน 2,451 ไร่ คิดเป็น 10.9% (เป็นไร่หมุนเวียน 1,284 ไร่)
  •  พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 19,600 ไร่ คิดเป็น 88.0% ผืนป่าส่วนใหญ่ล้วนถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์อย่างแยบยลผ่าน “ความเชื่อ” ที่เป็นมรดกตกทอดกันมา ดังนี้
  •  ป่าตูตะเออ / ที่ไม่ถูกโฉลก ห้ามใช้ 66 ไร่
  • ป่าตะหมือเบอ / มีลักษณะหลังเต่าคล้ายเกาะ ไม่ใช้ 14 ไร่
  •  ป่าหมือเอปู / อยู่ใกล้ตาน้ำ 14 ไร่
  •  ป่าฮอ / ทำพิธีไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา 30 ไร่
  •  ป่ามอปู / ดินโป่ง แหล่งอาหารสัตว์ 0.6 ไร่
  •  ป่าช้า 177 ไร่

แผนที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านสันดินแดง เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ลงไปได้อย่างมาก ทั้งความขัดแย้งที่เกิดจากข้อกฎหมาย ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่อุทยาน จนถึงความขัดแย้งระหว่างพวกเขากับคนพื้นราบที่อยู่ปลายน้ำซึ่งเคยทะเลาะกันก็คลี่คลายลงไปด้วย

หนึ่งในกลุ่มผู้นำชุมชน อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด เราจึงทำเครือข่ายลุ่มน้ำดอยอินทนนท์ขึ้นมา นำระบบจัดทำแผนที่เข้ามาระบุพิกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนต่างๆ ให้ชัดเจน ผลที่ได้ คือ เราสามารถระบุแนวที่ชาวบ้านจะสามารถทำไร่หมุนเวียนเป็นแปลงรวมได้ และให้เทศบาลใช้เทศบัญญัติออกทะเบียนประวัติ การใช้ที่ดินของแต่ละครอบครัวให้ชัดเจน

ดังนั้น ชาวบ้านทุกครอบครัวก็จะทำไร่หมุนเวียนวนอยู่แปลงของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถขยายหรือเปิดพื้นที่ใหม่ได้ และเรายังคืนพื้นที่อีก 400 กว่าไร่ ให้กลับไปเป็นป่า จนหมู่บ้านนี้ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม

แม้บ้านสันดินแดง จะถูกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อปี 2560 และได้รางวัลพื้นที่ตัวอย่างในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ... แต่พวกเขาก็ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ที่ดินตั้งแต่ก่อนหน้านั้นอยู่ดี

ไร่หมุนเวียน "ภูมิปัญญาเกษตร" ถูกทำให้หายไป ?

"เมื่อก่อนเราทำไร่หมุนเวียน ก็จะหมุน 1 รอบ ประมาณ 7-10 ปี อธิบายง่ายๆ คือ สมมติปีนี้เราทำแปลงที่ 1 เสร็จแล้ว เราก็จะทิ้งมันไว้ตามธรรมชาติเลย เพื่อปล่อยให้ดินและต้นไม้ฟื้นตัว จนครบ 10 ปี เราถึงจะกลับมาทำที่แปลงเดิมอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ยา สารเคมีอะไรเลย เพราะที่ดินแปลงนั้นกลับเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ... แต่ปัจจุบัน เราหมุนได้แค่รอบละประมาณ 3-4 ปีเท่านั้น ... บางคนมีที่ทำไร่เหลือน้อยมาก เขาก็หันไปปลุกพืชเชิงเดี่ยว เพราะนโยบายของรัฐเขาต้องการให้พวกเราใช้ที่ดินแปลงเดิม ต้องทำแปลงเดิมต่อเนื่องทุกปี"

ปฏิภาณ วิริยะวนา มีชื่อในภาษากะเหรี่ยงของเขาคือ "ติ๊เกลอ" ที่แปลว่า "มั่นคง" อธิบายแปลงไร่หมุนเวียนของเขา เพื่อชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เริ่ม "ไม่มั่นคง" ของชาวบ้าน

"ถ้าเป็นส่วนของผม ใช้ที่ดิน 3 ไร่ ต่อ 1 ปี และหมุนเวียนไปได้ 4 รอบ ก็ต้องกลับมาเริ่มรอบที่ 1 ใหม่แล้ว ก็ได้ข้าวพอกินเองในครอบครัวแต่ละปี แม้จะหมุนได้น้อยลง แต่ผมก็จะยังพยายามรักษาองค์ความรู้นี้ไว้"

"สาเหตุที่แปลงไร่หมุนเวียนมันหายไป เพราะชาวกะเหรี่ยงพอใช้วิธีหมุนเวียนต่อรอบโดยทิ้งไว้หลายปี เวลาที่เขามาทำแผนที่สำรวจ ก็เหมารวมเอาแปลงที่เราทิ้งไว้นานที่ฟื้นตัวเต็มที่แล้วว่าเป็นป่า ไม่ใช่ ที่ทำกิน...พอจะกลับเข้าไปทำ มักถูกกล่าวหาว่าไปบุกเบิกที่ใหม่ พวกเราก็เสียแปลงเหล่านั้นไปเลย"

สิ่งที่ ติ๊เกลอ ไม่เข้าใจแนวนโยบายของหน่วยงานรัฐ คือ ชาวปกาเกอะญอทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่ช่วยให้ป่าฟื้นตัว ทำวนอยู่ที่เดิม แต่ละปีใช้ที่ดินน้อยมาก ไม่เคยต้องใช้สารเคมีมาทำให้ดินเสีย แต่ทำไมหน่วยงานของรัฐจึงพยายามกดดันให้พวกเขาเปลี่ยนไปทำเกษตรที่ต้องทำต่อเนื่องในที่ดินแปลงเดิมทุกปี

"คนที่เปลี่ยนไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว บางคนเขาไม่ได้ต้องการทำแบบนั้น แต่ต้องยอมจำนน เพราะมีแรงกดดันมาจากนโยบาย ซึ่งอีกไม่นานก็อาจจะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนไปทำแปลงเดิมต่อเนื่องอีกจากการใช้กฎหมายลูกของอุทยานฯ (พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ย่อว่า พรฎ.ป่าอนุรักษ์) ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว การปลูกพืชเชิงเดี่ยวมันเพิ่มต้นทุนมาก ต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยากำจัดศัตรูพืช ใช้ยาฆ่าแมลง และมันทำลายดินด้วย...จากที่ไม่เคยใช้ ก็ต้องมาใช้....แบบไหนมันดีต่อป่ามากกว่ากันแน่"

"ถ้า พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์ ประกาศใช้ที่เขตบ้านเรา นอกจากจะบังคับให้เหลือครอบ ครัวละ 1 แปลง ไม่เกิน 20 ไร่ ต้องทำกินในแปลงเดิมต่อเนื่องทุกปี ยังจะมีหลักเกณฑ์เพิ่มด้วยว่า เขาให้เราทำกินชั่วคราวแค่ 20 ปีเท่านั้น ... เท่ากับ ชุมชนเราที่อยู่อาศัยมานานกว่าร้อยปี ต้องกลายเป็นคน "ขอยืม" ที่ทำกินจากอุทยาน มาประทังชีวิตไปอีกแค่ 20 ปี ... จากนั้นก็คงสูญสิ้นวิถีดั้งเดิมไปหมด" ชายผู้ซึ่งมีชื่อที่มีความหมายว่า มั่นคง แสดงความกังวลต่อความไม่มั่นคงของครอบครัวและชุมชนของเขา

อุทยานฯทับที่ "สูญสิ้น" วิถีหลากหลาย ภูมิปัญญา-วัฒนธรรม

สถานการณ์เช่นเดียวกันกับที่บ้านสันดินแดง กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันกับอีกหลายชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในที่ดินที่ต่อมาถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของพวกเขาทั่วประเทศ

จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกผลักดันผ่านร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในวาระการพิจารณาของรัฐสภา คือ "ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่จะให้มี "พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" สำหรับชุมชนที่มีความพร้อมและผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาด้วย

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในฐานะหน่วยงานที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยอมรับว่า ในระหว่างการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้างเกี่ยวกับการให้มีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในตัวร่างกฎหมาย ซึ่งอาจจะเกิดจากความเป็นห่วงในประเด็นเรื่องความมั่นคงและประเด็นการอนุรักษ์ป่า

จึงต้องอธิบายเพิ่มเติมให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้เกิด "การบริหารจัดการพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ร่วมกัน" ระหว่าง "รัฐ" กับ "กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ป่ามานานแล้ว" คือ ชุมชนที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ จะต้องคุยกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เพื่อกำหนดกติการ่วมกันให้ชาวบ้านอยู่ได้และต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาป่าด้วย

"สิ่งที่ต้องย้ำ คือ การประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่การให้เอกสารสิทธิ์กับชุมชนที่อยู่ในป่า ไม่มีการเพิกถอนสถานะอุทยานหรือเขตป่าใดๆ พื้นที่ทั้งหมดจะยังคงมีสถานะเป็นเขตป่าอนุรักษ์เหมือนเดิม เพียงแต่เราต้องการทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีสิทธิเช่นเดียวกับคนทั่วไป ทั้งในแง่สิทธิชุมชน การรักษาวิถีวัฒนธรรมประเพณี เพื่อให้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของพวกเขา"

อภินันท์ บอกว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาฯพร้อมกับการเปิดให้มีพื้นที่คุ้มครองฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกชุมชนที่อยู่ในป่าจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ เพราะการจะประกาศให้ชุมชนใดเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ ยังมีขั้นตอนที่ต้องผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาอีกหลายมาก และมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย

การมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีผลต่อทั้งความมั่นคงและไม่ใช่การเปิดช่องให้ทำลายป่าอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน จะทำให้มีชุมชนที่เข้มแข็งมาช่วยดูแลรักษาป่าได้เป็นอย่างดีมากกว่า

ทำลายป่า "วาทกรรม" ความเข้าใจผิดที่ต้องแบกรับ

"สิ่งที่พวกเราต้องแบกรับมาตลอดก็คือ ความเข้าใจผิด" ปฏิภาณ หรือ ติ๊เกลอ ชาวปกาเกอะญอบ้านสันดินแดง เปรยขึ้นมา

"ตอนที่เรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.3 หรือ ป.4 ผมต้องทำข้อสอบเพื่อเก็บคะแนนในห้องเรียน ...

มีข้อหนึ่ง โจทย์ถามว่า ... "ใครเป็นผู้ทำลายป่า?

คำตอบที่ให้เลือกก็มี ก.ชาวเขา ส่วน ข. ค. ง. ก็เป็น นายกอ นายขอ อะไรก็ว่าไป ...ถ้าตอบข้ออื่น ผมก็จะไม่ได้คะแนนในข้อนี้

แต่ถ้าตอบว่า ชาวเขา ก็เท่ากับผมทรยศชนเผ่าตัวเอง เพราะจริงๆเราทำไร่หมุนเวียน

สุดท้ายถ้าอยากได้คะแนน ผมก็ต้องตอบว่า ชาวเขา เป็นผู้ทำลายป่า

จากห้องเรียนที่เด็กทุกคนต้องเรียนก็ถูกปลูกฝังกลายเป็นอคติจนถึงวันนี้ และส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐด้วยใช่หรือไม่? ... ชายชาวปกาเกอะญอ ตั้งคำถามทิ้งท้าย

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา สื่อมวลชนอิสระ : รายงาน

อ่านข่าว : แนวกันไฟ "ดอยช้างป่าแป๋" นวัตกรรมใหม่นักสื่อสาร "ปกาเกอะญอ" 

ไหม้ซ้ำซาก 4 ผืนป่าอนุรักษ์ วาระชาติแก้จุดเกิด “ควันไฟ-PM 2.5”

วันนี้ นายกฯลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ 1 ใน 25 จังหวัดปัญหายาเสพติดรุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง