ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วิปวุฒิสภา" ถกด่วน ปม "ดีเอสไอ" จ่อรับคดีฮั้วเลือก สว.

การเมือง
24 ก.พ. 68
10:46
211
Logo Thai PBS
"วิปวุฒิสภา" ถกด่วน ปม "ดีเอสไอ" จ่อรับคดีฮั้วเลือก สว.
อ่านให้ฟัง
05:51อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิปวุฒิสภา นัดถกด่วนรับมือดีเอสไอจ่อรับคดีฮั้วเลือก สว. ขณะที่ “มงคล” ย้ำ รมว.ยุติธรรม-ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมาย ชี้ข้อกล่าวหา “อั้งยี่-ม.116” ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยันผ่านกระบวนการเลือก สว. ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (24 ก.พ.2568) คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) นำโดยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 หารือกรณีการฮั้วเลือก สว. ที่อาคารรัฐสภา โดยมี สว.ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 21 คณะ ร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ เป็นการหารือภายในแบบลับ โดยจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง และไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพหรือติดตามการประชุม ขณะที่บรรยากาศภายนอกห้องประชุมมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวดแตกต่างจากทุกครั้ง

หลังประชุมเสร็จนายมงคล แถลงว่า หลังได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมในวันที่ 25 ก.พ. เพื่อมีมติในคดีเกี่ยวกับการตรวจสอบเลือก สว.เป็นคดีพิเศษ โดยมีการหารือกับรองประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา จึงขอแถลงข่าวอีกครั้ง

ทั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 การจัดการเลือกตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ต่อมามีความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ว่าการจัดตั้งของฝ่ายบริหาร จะเอื้ออำนวยการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิยุติธรรม จึงได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้มีการตั้งองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งชี้ว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์และความมุ่งหมายให้การเลือกตั้งให้การได้มาซึ่งผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมหรือแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.โดยเฉพาะ

นายมงคล กล่าวว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นอำนาจ กกต.แล้ว แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แถลงข่าวเตรียมรับคำร้อง และให้บอร์ดดีเอสไอรับคดีอั้วการเลือก สว. เป็นคดีพิเศษ ทั้งที่ กกต. ยังไม่ได้นำดำเนินการหรือมอบหมายให้ดีเอสไอดำเนินการ ถือเป็นการกระทำด้วยอำนาจที่ไม่ชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“การตั้งข้อหาอั้งยี่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 และ 116 ที่จะใช้กับสมาชิกสภาเป็นการตั้งข้อหาและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ก่อการร้ายและกระทบความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยอำนาจ หรือชอบด้วยกฎหมายเป็นองค์ประกอบความผิดแต่อย่างใด"

นายมงคล กล่าวอีกว่า หากสมาชิกวุฒิสภาที่ถูกกล่าวหา สมัครเข้ารับการเลือกและผ่านกระบวนการเลือกมาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งได้รับการรับรองจาก กกต. เข้ามาปฎิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความพยายามเชื่อมโยงให้เป็นไปตามข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและองค์กรในฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือโดยสอดแทรกเจตนาทำลายองค์กรวุฒิสภา ด้วยการเผยแพร่ข่าวและเอกสารลับ อันจะทำให้สมาชิกวุฒิสภาถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เพื่อล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ

ประธานวุฒิสภา กล่าวต่อว่า สมาชิกวุฒิสภาไม่ได้กลัวการตรวจสอบ และพร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่ง กกต.มีอำนาจหน้าที่ และได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด ทั้งการเรียกเอกสารหรือการเรียกเข้าให้ถ้อยคำ แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่พยามเข้ามาแทรกแซงตรวจสอบเป็นเรื่องที่มติที่ประชุมวุฒิสภาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และหลังจากนี้จะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายต่อไป

สว.แถลงโต้ เชื่อเกมการเมือง คดีฮั้วเลือก สว.67 

10 โมงวันนี้ สว.แถลง ดีเอสไอรับเรื่องคดีฮั้วเลือก สว.67

ชำแหละ "คำพิพากษา" คดี "พิรงรอง" ทำไมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง