คลิปที่แชร์กันในโลกโซเชียลเมื่อไม่นานมานี้ สร้างความตกใจให้กับคนที่เล่นโซเชียลไม่น้อย พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ เมื่อเด็กน้อยวัยประมาณ 1 ขวบเกิดอาการเกร็ง ตัวแข็ง หน้าคล้ำ ตาเหลือก ดูเหมือนกำลังจะชัก ขณะที่แม่และญาติพยายามช่วยชีวิตทั้งเขย่าตัว ราดน้ำใส่หัว และเป่าลมใส่หน้า
ก่อนที่เด็กจะฟื้นสติกลับมา ท่ามกลางเสียงดีใจและโล่งใจจากครอบครัว แต่จากแคปชั่นในคลิปที่โพสต์ลงโซเชียลก็เผยว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกของเด็ก เพราะน้องเคยมีอาการแบบนี้มาแล้ว 2-3 ครั้ง

หลังจากคลิปดังกล่าวถูกแชร์ไปมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น บางคนแชร์ประสบการณ์การช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การเป่าลมใส่หน้าเด็ก และหากอาการไม่ดีขึ้น ก็แนะนำให้ใช้ผ้าที่ชุบน้ำเย็นมาวางบนหน้าผาก เพื่อให้เด็กค่อยๆ ฟื้นตัว อีกคนบอกว่า "ที่บ้านก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ตัวอ่อน ตัวเขียว ปากเขียว เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะเอาน้ำมาลูบหน้า จนเด็กกลับมามีสติ"
ยังมีอีกหลายความคิดเห็นที่แชร์ประสบการณ์คล้ายกัน เช่น "บางครั้งเด็กร้องกลั้นจนเกินไป จนตัวอ่อนและเขียว แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็อาการดีขึ้นแล้ว บ้านนี้ก็ใช้วิธีเป่าลมใส่หน้าและใช้น้ำลูบตัว" ต่อมาเจ้าของโพสต์ก็อัปเดตว่า เด็กน้อยฟื้นฟูได้ดี และตอนนี้กำลังเล่นสนุกอยู่ ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งเข้ามาผ่านโซเชียล
แต่ยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า "ร้องกลั้น" คืออะไร วันนี้จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจถึงอาการ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมเรียนรู้วิธีรับมือเมื่อเด็กเกิดอาการดังกล่าว จะรู้ได้อย่างไรขั้นไหนถึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์
ร้องกลั้น คือ อะไร
การร้องกลั้น หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า breath-holding spells เป็นภาวะที่เด็กกลั้นหายใจขณะหายใจออกชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงในสมองไม่เพียงพอ จนทำให้หน้าเขียวหรือหมดสติไปชั่วขณะ
ภาวะนี้พบในเด็กตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยเด็กโต เมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาถูกขัดใจ
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า อาการร้องกลั้นสามารถพบได้ในเด็กอายุ 6 เดือน - 6 ปี โดยพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุประมาณ 2 ปี ขณะที่ข้อมูลจากโรงพยาบาลสินแพทย์ระบุว่า อาการนี้พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุ 6-18 เดือน โดยมีอัตราการเกิดประมาณร้อยละ 5 หรือคิดเป็น 5 คน ใน 100 คน
ภาวะร้องกลั้นในเด็ก แบ่งตามอาการ ได้อย่างไร
อาการร้องกลั้นนานประมาณ 1-2 นาที และหลังจากที่อาการเด็กตื่นรู้ตัวภายใน 1 นาที แบ่งตามอาการได้ 2 แบบ ดังนี้
- แบบกลั้นเขียว : 85% มักสัมพันธ์กับการโกรธ ไม่ได้ดั่งใจ
- แบบกลั้นซีด : อาจเกิดจากความเจ็บปวด เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องกลั้นนั้นเกิดจากการที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยความโกรธหรือถูกขัดใจ
อาการ ร้องกลั้นในเด็ก
ร้องไห้หนัก - หยุดหายใจชั่วขณะ - ปากเขียว ตัวเขียว - หมดสติแต่ไม่นาน
พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรรับมืออย่างไร
- ตั้งสติ : พ่อแม่ หรือผู้ดูแลไม่ควรตื่นตระหนก
- จัดท่าทางที่เหมาะสม : วางเด็กให้นอนราบ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากที่สุด
- ปลอบโยน : หากลูกร้องกลั้นให้กอดลูกไว้เบา ๆ แต่ไม่ควรเขย่าตัวแรง
- ตรวจสอบภายในปาก : หากมีสิ่งแปลกปลอมต้องรีบนำออกเพื่อป้องกันการสำลัก
- วางผ้าเปียกหรือเย็นบนหน้าเด็ก (ไม่ปิดทางเดินหายใจ) อาจทำให้อาการสั้นลง
- กลับสู่ภาวะปกติ : เมื่อเด็กเริ่มหายใจปกติ ให้กอดและพูดคุยเหมือนสถานการณ์ปกติ
การป้องกันการร้องกลั้น
- อย่าปล่อยให้ลูกโกรธจนสุด พยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปหาสิ่งอื่น
- ให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ฝึกเด็กโตให้รู้จัก ผ่อนคลายเมื่อเกิดอาการโกรธ หรือขัดใจ ส่วนเด็กเล็กใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจแทน
ร้องกลั้นแบบไหน ที่ต้องพบแพทย์
- หากอาการร้องกลั้นเกิดขึ้นบ่อยหรือเป็นเวลานาน
- เด็กมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ
- เมื่อสงสัยว่ามีอาการชักเกร็งร่วมด้วย
ทั้งนี้ ไม่ควรตามใจเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการรู้สึกขัดใจ เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ว่าหากต้องการสิ่งใดการร้องไห้กลั้นจะเป็นเงื่อนไขในการได้ในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นเมื่อลูกมีอาการร้องไห้แล้วกลั้น พ่อ แม่อาจพิจารณาปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติอย่างอื่น เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก
แต่ในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด หากมีอาการร้องจนเขียว ควรปฏิบัติตัวเบื้องต้นในท่านอนคู้ เอาเข่าชิดหน้าอกและปลอบให้สงบ หากไม่ดีขึ้นใน 5-10 นาที หรือไม่มีการตอบสนองให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันทีหรือ โทร.1669
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, รพ.สินแพทย์
อ่านข่าว : รู้จัก “บุหรี่ไฟฟ้าเด็ก” มหันตภัยร้าย ทำลายปอดเด็ก ทำลายสังคมไทย