สิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทผู้ผลิต บุหรี่ไฟฟ้า ทุนใหญ่ข้ามชาติ หวังผลที่เด็กอายุกี่ขวบ จึงออกแบบผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ออกมาขาย และการถูกส่งเข้ามาขายในไทยได้เสมือนเปิดเสรีทั้ง ๆ ที่ “บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกระบุเป็นสินค้า ห้ามนำเข้า, ห้ามจำหน่าย, ห้ามครอบครอง และ ห้ามสูบ ในไทย
แต่เราจะเห็นการตามจับแทบวันเว้นวัน กลับเป็นคำถามใหญ่ของสังคมไทย ว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงปราบไม่หมด

“บุหรี่ไฟฟ้าเด็ก” ไม่ใช่รูปทรง “บุหรี่มวน” มีกลิ่นเหม็นฉุน แบบภาพจำของผู้ใหญ่ แต่บุหรี่ไฟฟ้าเด็ก มีสีสันสดใส ชวนดึงดูด มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นลูกอม, ขนม,นม, น้ำหวาน และอาหารที่เด็ก ๆ คุ้นเคย อย่างภาพตัวอย่าง กล่องนมสีเขียวเป็นบุหรี่ไฟฟ้า “กลิ่นแตงโม” ส่วนอีกภาพกล่องนมสีเหลืองเป็นบุหรี่ไฟฟ้า “กลิ่นไอติมมะม่วง”
การออกแบบผลิตภัณฑ์ เห็นชัดถึงการพุ่งเป้าหมายไปที่เด็กวัยประถมชัดเจน ทั้งผลิตภัณฑ์นมกล่อง, ตัวตุ๊กตา, อาร์ตทอย เป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง และบอกต่อกับเพื่อนๆ ได้ไม่ยาก
หากมองผิวเผินดูเหมือนแค่กล่องนม กลิ่นผลไม้ น่ารัก ไม่มีพิษภัยแต่หายนะที่แฝงมาคือ สารนิโคติน และ สารอื่น ๆ ที่อยู่ในกลิ่นผลไม้เคมี ที่ทำให้เด็ก ๆ ติด จนกลายเป็นความเคยชิน หล่อหลอมด้วยความไม่รู้สึกผิดทางใจ จากการรู้สึกว่าที่ถืออยู่คือ กล่องนม ไม่ใช่ถือมวนบุหรี่
การออกแบบที่ยั่วยวนในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ ทำให้เด็กชั้นประถมเข้าถึงได้ง่าย อยากมีอยากได้ อยากครอบครองออกแบบมาเพื่อตบตา ผู้ปกครองครูโดยเฉพาะ และเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่ไม่รู้จัก ก็พาลนึกว่าเป็นร้านขายขนม ขายนม ของกินเล่น ล้วนถูกออกมาให้ง่ายต่อการขายในตลาดและง่ายในการเข้าถึงเด็ก หวังเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

อย่างกล่องนม ที่เห็น 1 กล่องนี้ เป็นบุหรี่ไฟฟ้า ที่ดูดได้ ถึง 5,000 ปื้ด หรือ 5,000 ครั้ง หรือเดี๋ยวนี้ ในไทย มีข้อมูลจาก สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ระบุว่า มีกลิ่นมากถึงกว่า 10,000 กลิ่นแล้วในไทย จากการสำรวจเมื่อต้นปี 2567
และเมื่อปลายปี 2567 ทาง ยท.ยังสำรวจพบว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยปี 2565 ด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.3 % เป็น 17.6 % หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า จากปี 2558, เด็กและเยาวชน สูญเสียเงินซื้อบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยเดือนละ 2,245 บาท
ขณะเดียวกัน เข้าใจว่านิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลดีต่อร่างกาย 51.19 % มีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2 % เข้าใจว่า น้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน 26.28 % และเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายถึง 23.28 % สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนการรับรู้บุหรี่ไฟฟ้าในมิติที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

ก่อนหน้านี้ ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ที่ติดตามปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเด็กมานานแล้ว ระบุว่า สถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของไทยขณะนี้ เปรียบเสมือนสึนามิที่กำลังทำลายล้างเด็กไทย
ขณะนี้พบเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันแล้ว เพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่ลวงตาของบุหรี่ไฟฟ้าที่ดึงดูดเด็ก ๆ เป็นรูปการ์ตูน มีกลิ่นหอม โดยไม่รู้เท่าทันว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีสารนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดสูงเทียบเท่าเฮโรอีน และยังออกฤทธิ์ทำลายสมองเด็ก ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียนรู้ คิดช้าลง ความจำแย่ลง ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาบกพร่อง และควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ซ้ำยังเสี่ยงต่อการไปใช้สิ่งเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชา ยาบ้า
บุหรี่ไฟฟ้าเด็ก 1 ชิ้น มีสารนิโคติน เทียบเท่าได้กับการการสูบบุหรี่มวนถึง 20 ซอง ซึ่งมาตรการที่ชัดเจนคือ ขอให้รัฐบาลเข้มกับกฎหมายห้ามนำเข้า, ห้ามจำหน่าย และห้ามลักลอบซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า
หลังมีกระแสมาอย่างต่อเนื่องว่า จะให้การขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย การห้ามตั้งแต่ต้นทาง จะเป็นมาตรการที่ดีที่สุด เหมาะสมกับประเทศไทย ที่จะป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนต่อมหันตภัยบุหรี่ไฟฟ้า

ผู้ปกครอง-ครู จึงควรช่วยกันหันซ้ายแลขวา สอดส่องห้องนอนลูก ดูกระเป๋านักเรียนลูกว่า มีบุหรี่ไฟฟ้าแบบนี้ซ่อนอยู่บ้างหรือไม่ ชวนลูกหลาน ถามไถ่ว่าเคยเห็น เคยสัมผัสกล่องนมหรือผลิตภัณฑ์รูปทรงต่าง ๆ ลักษณะดูดได้มีกลิ่นแบบนี้กันไว้บ้าง
บางครั้งเด็ก ๆ วัยประถม อาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่กิน ที่ดูดเข้าไป เป็นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะคำพูดที่ชวนต่อ ๆ กันว่า มันคือ นม คือขนมนั่นเอง
รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานเรา เพราะบุหรี่ไฟฟ้าแบบนี้ ทำลายปอดลูกหลาน วัยเปราะบาง พังง่ายกว่าวัยผู้ใหญ่ แถมพังทั้งตัวสุขภาพเด็ก พังทั้งค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง พังทั้งระบบสาธารณสุขไทยต่อการรักษาเด็ก ๆ ที่มีผลต่อบุหรี่ไฟฟ้า และพังต่อประเทศไทย ถ้าคุณภาพชีวิต สังคมไทย เติบโตมาด้วยเด็ก ๆ ที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า
เรียบเรียง : ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ไทยพีบีเอส
อ่านข่าว : สมาคมนักบินทั่วโลก ต้านแนวคิด "นักบินคนเดียว"