วันพรุ่งนี้ (22 ก.พ.2568) จะครบรอบ 2 ปี หลัง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566
แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว แต่ก็ยังมีคำถามจากญาติของเหยื่อผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายว่า กฎหมายฉบับนี้ มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม การเยียวยาสภาพจิตใจของครอบครัวหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้จริงหรือไม่
เสียงสะท้อนจากครอบครัว "เหยื่อถูกอุ้มหาย"
"แม้พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่มุมมองของ "ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์"ภรรยาของ "สุรชัย แซ่ด่าน" ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบมองว่า ยังไม่ตอบโจทย์"

นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน
นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน
สุรชัย เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ต้องลี้ภัยหลังถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) เรียกไปรายงานตัว โดยหลบหนีออกไปทาง ประเทศลาวหลังรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2557 ก่อนที่นายสุรชัย จะสูญสญหายพร้อมผู้ติดตามอีก 2 คน คือ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 จนถึงขณะนี้ ไม่มีใครสามารถติดต่อทั้ง 3 คนได้อีกเลย
มีรายงานว่าช่วงเวลาที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวหายไป เป็นจังหวะเดียวกับบุคคลสำคัญของไทยจะเดินทางไปประเทศลาว กระทั่งวันที่ 27 ธ.ค.2561 มีผู้พบร่าง "สหายภูชนะ" และ "สหายกาสะลอง" เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2561 ถูกฆาตกรรมและกระทำอย่างทารุณ ลอยแม่น้ำโขงมาติดฝั่งที่ จ.นครพนม
และยังมีรายงานอีกว่า ร่างต้องสงสัยอีกร่างหนึ่ง อาจเป็น "สุรชัย" ซึ่งอยู่ในกระสอบลอยมาติดบนตลิ่งริมแม่น้ำโขง บริเวณบ้านท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม แม้ภายหลังร่างดังกล่าวหายไปและปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม
เบื้องต้นมีข้อสันนิษฐานว่า อาจมีการทำให้ "สุรชัย"สูญหายเพราะเกรงว่าจะไปสร้างความวุ่นวาย ขณะที่คณะคนสำคัญในรัฐบาลของประเทศเดินทางไปเยือนประเทศลาว
"การอุ้มหายเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป กับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เพราะกรณีของผู้ที่กระทำความผิดในข้อหาฆ่าคนตายหรือค้ายาเสพติด ยังสามารถพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่กับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นการแสดงออกทางความคิดกลับถูกทำให้หายสาบสูญไป" ปรานี พูดด้วยสีหน้าเรียบเฉย
ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ที่สามีหายสาบสูญ ความหวังที่จะได้กลับมาพบหน้ากันอีกครั้ง ค่อย ๆ เลือนลางไป จากที่เคยคาดหวังในช่วงระยะ เวลา 1-3 ปีแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทำให้มั่นใจว่าสามีได้เสียชีวิตแล้ว แม้จะยังไม่มีใครพบศพ
"เหตุที่ต้องทำให้สถานะของสุรชัย เป็นผู้สูญหาย...หากพบศพในช่วงนั้นจะเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มมวลชนที่ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร เพราะก่อนหน้านั้นมีกระแสความไม่พอใจกรณีที่อากง ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อีก 1 คน เสียชีวิตขณะถูกคุมขังในเรือนจำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว"

นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน)
นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน)
หลังกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ปราณี เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ที่ศูนย์ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการเข้าตรวจสอบค้นหาความจริง และสอบสวนกรณีการสูญหายของสามี เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2566
โดยอัยการได้รับคำร้องไว้เสนอต่ออธิบดีสำนักงานอัยการสูงสุดให้พิจารณาว่าสามารถดำเนินการสอบสวนได้หรือไม่ต่อไป หากพิจารณาแล้วว่าสามารถสอบสวนข้อเท็จจริงได้ จะมีการตั้งทีมสอบสวนและติดต่อกับผู้เสียหายต่อไป
3 พ.ค. 2566 ปราณี พร้อมทนายความผู้รับมอบอำนาจและเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เดินทางไปศูนย์ป้องกันและปราบ ปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเข้าให้การเพิ่มเติม โดยพนักงานอัยการที่รับผิดชอบคดีดังกล่าวอนุญาตให้เพียงทนายความผู้รับมอบอำนาจเข้าร่วมฟังนัดให้การเพิ่มเติมพร้อมกับปราณีเพียงคนเดียวเท่านั้น ภายหลังปราณียืนยันขอให้ผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังพร้อมกับทนายความตามสิทธิของผู้เสียหาย
13 มี.ค. 2567: ปราณี เข้าให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานอัยการครั้งที่ 2
23 ธ.ค. 2567: ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา จากศูนย์ฯ ว่า มีคำสั่งให้ยุติคดีและไม่รับทำการสอบสวน อ้างเหตุหลักฐานไม่พอให้เชื่อได้ว่าเป็นการอุ้มหายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ อีกทั้งยังไม่มีความแน่ชัดว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวหรือไม่

สยาม ธีรวุฒิ อดีตผู้ลี้ภัยทางการเมือง
สยาม ธีรวุฒิ อดีตผู้ลี้ภัยทางการเมือง
"สยาม ธีรวุฒิ" หรือที่รู้จักกันในนาม สหายข้าวเหนียวมะม่วง อีก 1 เป็นอดีตผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศลาว หลังจัดแสดงละครเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ทำให้เขากับพวกตกเป็นจำเลยในข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
สยาม มีหมายจับข้อมาตรา 112 เขาหายไปพร้อมกับ "ชูชีพ ชีวะสุทธิ์" หรือลุงสนามหลวง และ "กฤษณะ ทัพไทย" หรือ สหายยังบลัด
กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ทราบข่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ว่า ตำรวจเวียดนามจับกุมและส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้ง 3 คนกลับมาไทย แต่จากนั้นไม่มีใครพบตัวพวกเขาอีกเลย โดย 3 คน เป็น 1 ใน 9 ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ขอลี้ภัยออกนอกประเทศหลังคสช.รัฐประหารและหายไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563

กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม
กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม
"เล่นละครเวทีแค่นี้ มันไม่รู้ว่าผิดอะไรมากมาย" กัญญา เล่าความรู้สึกที่ลูกชายคนเดียวสูญหายไป ก่อนหน้าที่สยามจะสาบสูญไป เมื่อปี 2559 เธอเดินทางไปพบลูกที่ประเทศลาว และยังพบ "ชูชีพ ชีวะสุทธิ์", "วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ" หรือ โกตี๋ อาศัยอยู่ที่นั่น
แม้ผู้ลี้ภัยคนอื่น จะทำเรื่องขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศที่ 3 แต่สยามไม่ได้ทำเรื่องขอเดินทางต่อ เพราะอยากอยู่ใกล้ครอบครัว หลังเธอเดินทางกลับ ลูกชายได้แจ้งข่าวร้ายว่า ระหว่างที่แม่ไปเยี่ยมเขา มีคนจากฝั่งไทยตามไป และพบแหล่งที่อยู่ของกลุ่มผู้ลี้ภัย ส่งผลให้ทั้งหมด ต้องแยกย้ายเพื่อหาที่อยู่ใหม่หลบซ่อนตัวจาก
โดยสยาม เลือกที่จะย้ายไปที่เวียดนาม เหลือเพียงโกตี๋ ที่ยังคงอาศัยอยู่ที่เดิม ก่อนหนึ่งปีหลังจากนั้น เขาก็ได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2560
มันเกินกว่าเหตุ เกินกว่าอุปนิสัยของมนุษย์ด้วยกัน เหตุใดจึงใจร้ายขนาดนี้ กว่า 5 ปีที่ ครอบครัวของเราเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียลูกชายเพียงคนเดียวไป" หลังเกิดเรื่อง กัญญา ได้ทวงถามความคืบหน้ากับตำรวจ และสถานทูต แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ

ต่อมาได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่ออัยการ ที่ ศูนย์ป้องกัน และปราบ ปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 เช่นเดียวกับ ปรานี ภรรยาของ สุรชัย
8 พ.ค. 2567 : กัญญา เข้าพบผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อติดตามความคืบหน้ารายงานและผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีอุ้มหาย 9 กรณี
27 มิ.ย. 2567: หนังสือแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งไปถึง กัญญา โดยหนังสือแจ้งผลปฏิเสธรับทำการสอบสวนและมีคำสั่งยุติเรื่อง ด้วยเหตุผลว่า พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ไม่เพียงพอจะให้รับฟังได้ว่า กรณีการหายตัวไปของ สยาม ธีรวุฒิ มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน – อุ้มหาย และยังไม่ได้ความแน่ชัดว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องอย่างใดกับการกระทำดังกล่าวหรือไม่
20 ธ.ค. 2567: ศาลจังหวัดสมุทรสาคร มีคำสั่งยกคำร้อง “สยาม”ไม่เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 ส่วนหนึ่งของคำสั่งศาลระบุว่า สยามอาจไม่ได้อาศัยอยู่ที่ลาวถาวร
และจากที่กัญญา เบิกความว่าสยามถูกออกหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 และหลังเดินทางออกจากไทยแล้ว บางครั้งมีเหตุการณ์ที่สยามต้องหลบซ่อนจากภัยอันตราย แต่พยานหลักฐานของผู้ร้องก็ยังไม่เพียงพอให้รับฟังเป็นยุติ ได้ว่า นายสยามเป็นคนสาบสูญ

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
แนะรัฐปรับ "รับเรื่องร้องเรียน" คนสูญหาย
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผ.อ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ไทย เป็นประเทศผู้นำในภูมิภาค ที่มีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และกฎหมายดังกล่าวมีมาตรฐานสากลสูง ให้การคุ้มครองทุกคนที่อาศัยอยู่ในไทย
และที่ผ่านมาพบหน่วยงานเกี่ยวข้อง นำเอามาตรการนี้ ปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ตำรวจก็ออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น การเริ่มใช้กล้องติดตามตัวมาบันทึกภาพขณะตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหา, อัยการและศาลมีการออกหนังสือเวียน ให้รับข้อร้องเรียนหากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมายื่นเรื่อง
ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ก็ยังพบประเด็นที่เป็นปัญหาร้องเรียน กรณีที่มีเหตุทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหาย ถ้าอยู่ในกระแสข่าว หน่วยงานราชการ มักจะตื่นตัวในการให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบ แต่หากไม่เกิดเป็นข่าว การเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบค่อนข้างล่าช้า
2 ปี ยังเร็วเกินไปในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและควรปรับปรุง คือ การรับเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับให้สูญหาย
กฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า แม้ว่าเหตุการณ์การบังคับให้สูญหายจะเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน สามารถรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมของผู้สูญหายได้
ด้วยความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญหาย การหายตัวไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ขอเพียงแค่ครอบครัวได้รับรู้ ก็สามารถก้าวต่อได้ โดยหวังเพียงว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้สูญหาย หรือคนที่ยังอยู่ จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายตามที่ควรจะเป็น
รายงานโดย : พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมไทยพีบีเอส
อ่านข่าว:
ชะตากรรม “บิ๊กโจ๊ก” ภาพใหญ่สะท้อน ปฏิรูป (ลูบ) องค์กรสีกากี