เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2568 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ในโอกาสวันวาเลนไทน์ปี 2568 ภายใต้แนวคิด "The Love เลือกได้ รักให้เป็น" พร้อมการเสวนาในหัวข้อ "เลือกที่จะรัก เรียนรู้ที่จะออกจากความสัมพันธ์อย่างเข้าใจ" โดยมีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเยาวชนเข้าร่วมอย่างคึกคัก
สสส. ชูแนวคิด "รักให้เป็น" สร้างสัมพันธ์ที่ดี
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องในวันแห่งความรัก สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระแสให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ "เลือกได้ รักให้เป็น" โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนรู้ ทั้งนี้ การใช้ชีวิตห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า ยาเสพติด การพนัน เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเยาวชนและเป็นตัวเร่งให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1,900,000 คน หรือ ร้อยละ 20.9 ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ขณะที่ ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 ระบุว่า เยาวชน 15-25 ปี ราว ร้อยละ 32.3 หรือ 2,900,000 คน เล่นพนันออนไลน์ และในจำนวนนี้ 1 ใน 4 หรือ 739,000 คน เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ นอกจากนี้ ข้อมูลจาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี 2566 พบว่า มีรายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวและคู่รักถึง 1,086 ข่าว โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 29.1 (316 ข่าว) เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ร้อยละ 26.1 (283 ข่าว) เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
"เทศกาลแห่งความรักปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ขอส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ดูแลกันและกัน ไม่เพียงแต่ในความสัมพันธ์เชิงคู่รัก แต่รวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ลูกหลาน ญาติสนิท เพื่อนพี่น้อง และเพื่อนร่วมโลก ทุกคนควรให้เกียรติกัน ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และรู้เท่าทันสัญญาณเตือนของความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง" นายวิเชษฐ์ กล่าว
คู่รักวัยรุ่น 41.4% ทะเลาะกันบ่อยถึงบ่อยมาก
น.ส.ปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เปิดเผยผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จากกลุ่มตัวอย่าง เยาวชนอายุ 13-25 ปี จำนวน 2,200 คน ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดบางพื้นที่ พบว่า ร้อยละ 49.6 ทะเลาะกับคู่รักบ้างเป็นครั้งคราว ขณะที่ ร้อยละ 41.4 ทะเลาะกันบ่อยถึงบ่อยมาก โดยสาเหตุหลักของปัญหาความขัดแย้งในคู่รักวัยรุ่น ได้แก่
- การสื่อสารไม่เข้าใจ
- พฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่ใส่ใจกัน
- พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม
- ความหึงหวง
- การติดเพื่อน
- การนอกใจหรือคบซ้อน
เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรง วัยรุ่นเลือกจบความสัมพันธ์เป็นอันดับแรก โดยผลสำรวจระบุว่า ร้อยละ 48 ตัดสินใจเลิกทันที ขณะที่ ร้อยละ 14.5 พูดคุยปรับความเข้าใจ ร้อยละ 13.5 ให้โอกาสอีกฝ่ายปรับตัว ร้อยละ 8.7 แจ้งตำรวจ และมีเพียง ร้อยละ 0.6 เท่านั้น ที่เข้าปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของวัยรุ่นมากที่สุด ได้แก่
- ยาเสพติด ร้อยละ 46.1
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 24.5
- การพนัน ร้อยละ 22.1
- บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 7.3
สิ่งที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 85.7 ของเยาวชนเห็นด้วยกับการจัดให้มีพื้นที่รับฟังและให้คำปรึกษาปัญหาวัยรุ่นในสถานที่ที่พวกเขาเข้าถึงได้ง่าย เช่น หอศิลป์ กทม.
น.ส.บี (นามสมมติ) เล่าว่า เคยมีประสบการณ์ถูกควบคุมจากแฟนหนุ่ม หลังคบกันได้เพียง 4 เดือน ฝ่ายชายเริ่มห้ามไม่ให้เธอออกไปเที่ยวกับเพื่อน ควบคุมการแต่งกาย ห้ามทำงานวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และข่มขู่จะเลิกหากไม่ทำตาม เมื่อเธอไปสังสรรค์กับเพื่อน ถูกด่าด้วยคำหยาบคาย และเมื่อขอเลิก ฝ่ายชาย ทำลายข้าวของและใช้มีดกรีดคอตุ๊กตา จนเธอต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน แต่ถูกแย่งโทรศัพท์และขว้างทิ้ง สุดท้ายเธอเลือกเดินออกจากความสัมพันธ์นี้
เราต้องรักตัวเองให้มาก ๆ เพราะถ้าเรารักเขามากจนยอมทุกอย่าง สุดท้ายเราคือคนที่เจ็บที่สุด การออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แม้ว่าจะยากก็ตาม
น.ส.อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ (แนท Miss Universe Thailand 2015) กล่าวเสริมว่า "ความรักมีได้ แต่ต้องรักตัวเองก่อน" การเลือกอยู่ในความสัมพันธ์ต้องยอมรับผลที่จะตามมา และหากมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งแรก ครั้งต่อไปย่อมเกิดขึ้นอีก จึงควรออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษให้เร็วที่สุด
อ่านข่าวอื่น :
ชาวบ้านผวา! ชายอุ้มเด็กเล็กขึ้นรถทิ้งกลางทาง พลเมืองดีช่วยทัน