หนึ่งในความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ถูกจับตามองมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ คือมิตรภาพที่ไม่มีใครคาดคิดระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ กับ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก และบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 21
เพียง 6 เดือนหลังจากที่เคยเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์อย่างรุนแรง มัสก์เปลี่ยนบทบาทมาเป็นหัวหอกในการผลักดันแนวทางปฏิรูประบบราชการแบบฝ่ายขวา โดยมีอำนาจในรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

จากซ้ายสู่ขวา การเปลี่ยนจุดยืนของ "มัสก์"
อีลอน มัสก์ และ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่พันธมิตรกันตั้งแต่ต้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 มัสก์เคยลาออกจากที่ปรึกษาทำเนียบขาวเพื่อต่อต้านการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสด้านสิ่งแวดล้อม และแสดงความไม่พอใจต่อหลาย ๆ นโยบายของทรัมป์
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ โจ ไบเดน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเลือกสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสหภาพแรงงานเป็นฐาน แทนที่จะให้ความสำคัญกับ Tesla ของมัสก์ ทำให้เขาเริ่มเบนเข็มไปทางขวา โดยแสดงความไม่พอใจผ่านแพลตฟอร์ม X และเริ่มมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากขึ้น
ในช่วงต้นของการเลือกตั้งปี 2024 มัสก์เคยสนับสนุน รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา แต่เมื่อเดอซานติสพ่ายแพ้ มัสก์ก็เริ่มเข้าใกล้ทรัมป์มากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรัมป์รับฟังมากที่สุดในเรื่องเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้มัสก์สนับสนุนทรัมป์อย่างเต็มตัวคือ เหตุลอบยิงทรัมป์ในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งทำให้เขาเร่งสนับสนุนแนวทางรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้ช่วยเหลือแค่ด้านการเงิน แต่ยังเสนอแนวคิดปฏิรูปรัฐบาลที่ไม่เคยมีมาก่อน

"มัสก์" คุมระบบราชการอย่างไร้ขีดจำกัด
หลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มัสก์ได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency - DOGE) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิรูประบบราชการตามแนวคิด "ลดขนาดรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพ"
ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง มัสก์เดินหน้า ใช้ AI แทนข้าราชการจำนวนมาก ลดจำนวนพนักงานภาครัฐ และนำแนวคิดแบบซิลิคอนแวลลีย์มาใช้ในรัฐบาล ทำให้เกิดทั้งเสียงชื่นชมจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากข้าราชการ
หนึ่งในมาตรการที่รุนแรงที่สุดของมัสก์คือ การรื้อ USAID (หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ) ภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ เว็บไซต์ของ USAID ถูกปิด โซเชียลมีเดียถูกลบ เจ้าหน้าที่หลายร้อยคนถูกปลด และงบประมาณถูกโอนกลับมาใช้ในประเทศ
มัสก์ประกาศว่า USAID เป็น "องค์กรอาชญากรรม" ที่ใช้เงินภาษีอเมริกันไปสนับสนุนต่างชาติอย่างไม่จำเป็น ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากฝ่ายซ้ายและองค์กรสิทธิมนุษยชน ขณะที่ฝ่ายขวายกย่องว่าเขาคือ "วีรบุรุษที่คืนอำนาจให้ประชาชน"

"Tesla Culture" กับระบบราชการอเมริกัน
สไตล์บริหารของมัสก์ในรัฐบาลทรัมป์เหมือนกับที่เขาใช้ใน Tesla และ SpaceX เขาต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ไม่ทนต่อข้อแก้ตัว และพร้อมไล่คนออกหากทำงานไม่ได้ตามเป้า ข้าราชการหลายคนเริ่มเผชิญกับแนวคิด "Move Fast, Break Things" หรือ "ขยับให้เร็ว พังแล้วแก้ไข" ซึ่งเป็นแนวทางที่อาจใช้ได้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ไม่มีใครแน่ใจว่าจะได้ผลกับรัฐบาลหรือไม่
หลายคนเล่าว่าเขาสามารถไล่พนักงานออกกลางที่ประชุม หรือแม้กระทั่งเพราะโต๊ะทำงานของพวกเขาดูไม่เป็นระเบียบ
หลายหน่วยงานต้องรายงานผลการทำงานแบบ Data-Driven เหมือนที่มัสก์ใช้ใน Tesla และ SpaceX ทำให้เกิดทั้งแรงกดดันและแรงต้านจากข้าราชการจำนวนมาก

มัสก์ "ผู้เล่นอิสระ" ในรัฐบาลทรัมป์
แม้ว่ามัสก์จะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ใกล้ชิดทรัมป์ที่สุด แต่เขากลับ ไม่ต้องรายงานโดยตรงต่อทรัมป์ และมักทำงานร่วมกับที่ปรึกษาระดับสูงของทรัมป์ เช่น สตีเฟน มิลเลอร์ และ รัสเซล โวห์ต์ มากกว่าทรัมป์เอง แม้ทรัมป์จะให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่มัสก์ทำจะต้องได้รับการอนุมัติจากเขาก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนว่าอภิมหาเศรษฐีรายนี้ กำลังบริหารงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ "ตามความพอใจของตนเอง" และไม่มีมาตรการควบคุมใดที่สามารถบังคับใช้กับเขาได้จริง ๆ
อิทธิพลของมัสก์ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อ X Æ A-12 (X) ลูกชายวัย 4 ขวบของมัสก์ ปรากฏตัวในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ของทำเนียบขาว ระหว่างการประชุมระดับสูงกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มัสก์กำลังส่งสัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับอนาคต

"เด็ก 4 ขวบ" ในห้องทำงานรูปไข่ สัญญาณของอำนาจใหม่ ?
แหล่งข่าวระบุว่า มัสก์สามารถพาลูกชายเข้าไปใน Oval Office ได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นกับบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัวของประธานาธิบดี เหตุการณ์นี้ถูกเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมการเมืองของเผด็จการ ที่มักนำครอบครัวเข้าสู่เวทีอำนาจเพื่อปูทางในระยะยาว
มัสก์ มักแสดงออกถึงแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตของ X ลูกชายของเขา ในอดีต มัสก์เคยพูดถึง X ว่าเป็น "เด็กอัจฉริยะ" และมักพาเขาเข้าร่วมการประชุมสำคัญของบริษัท เช่น SpaceX และ Tesla แต่การที่เด็กวัยเพียงไม่กี่ขวบ ปรากฏตัวใน Oval Office ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองของสหรัฐฯ ทำให้หลายคนสงสัยว่า มัสก์อาจกำลังปูทางให้ X มีบทบาทสำคัญในอนาคต
บางฝ่ายมองว่า นี่เป็นเพียงความเป็นพ่อที่ต้องการให้ลูกชายสัมผัสประสบการณ์สำคัญ แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า มัสก์อาจกำลังใช้โอกาสนี้สร้างภาพลักษณ์ "ทายาทแห่งอำนาจ" ที่อาจมีบทบาทในอนาคต
"มัสก์" ความเสี่ยงของทรัมป์-สหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก และ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ กำลังก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการผสมผสานระหว่างอำนาจทางธุรกิจและอำนาจทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่มัสก์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาแก่ทรัมป์ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างรัฐบาลและการตัดลดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของภาคเอกชนที่มีต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า มัสก์กำลังพยายามขยายอิทธิพลของตนเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม และอาจมีเป้าหมายทางการเมืองที่สูงขึ้นในอนาคต แม้ว่าตามกฎหมายสหรัฐฯ จะมีข้อจำกัดสำหรับบุคคลที่เกิดนอกประเทศ (มัสก์เกิดในแอฟริกาใต้) แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามัสก์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เหล่านั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์และมัสก์ที่ดูเหมือนจะแน่นแฟ้น อาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากบุคลิกที่แข็งแกร่งและความต้องการควบคุมของทั้ง 2 ฝ่าย อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการแยกทางกันในอนาคต และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันยุคใหม่
รู้หรือไม่ : Resolute Desk โต๊ะทำงานเก่าแก่อายุ 125 ปี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ พระราชทานเป็นของขวัญให้แก่ รัทเธอร์ฟอร์ด เฮย์ส ปธน.คนที่ 19 ของสหรัฐฯ เมื่อปี 1880 เป็นโต๊ะตัวเดียวกันกับที่ X ลูกชายมัสก์ แคะขี้มูกแล้วแปะไว้
ที่มา : BBC, The New York Times
อ่านข่าวอื่น :