วันนี้ (12 ก.พ.2568) นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวในรายการอุตุนิยมวิทยารับใช้ประชาชน เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า เกณฑ์การประกาศเข้าสู่ “ฤดูร้อน” ของไทย มีปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย คืออุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่มากกว่า 35 องศาเซลเซียสขึ้นไปบริเวณประเทศไทยตอนบนโดยทั่วไปก็จะร้อนขึ้น อุณหภูมิตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียส ปกคลุมบริเวณทางภาคเหนือ ภาค อีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำให้เราพิจารณาเป็นเกณฑ์แรกอาจจะ 1 วันหรือ 2 วันต่อเนื่อง ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป
นายสมควรกล่าวอีกว่า ส่วนเกณฑ์ในเรื่องของลม ทิศทางของลม จากเดิมที่เรามีลมหนาวหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนลงมา แต่ต่อจากนี้ไปเมื่อเปลี่ยนเป็นฤดูร้อนจะเป็นลมทิศใต้ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ลมฝ่ายใต้พัดเข้ามาแทนที่
อากาศร้อนเข้าฤดูร้อนคือ 2 เกณฑ์ใหญ่นี้ และอากาศร้อนก็จะพิจารณาจากอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส คือจะอยู่ที่ 39.5 องศาเซลเซียส เพราะถ้าเกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เราจะเรียกว่าเป็นอากาศร้อนจัด หรือตั้งแต่ 40.1 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ฤดูร้อนมาช้า 2 สัปดาห์แต่มาแน่ 43 องศาฯ
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยปี 2568 ประมาณปลายเดือน ก.พ.ถึงกลางเดือนพ.ค.2568
สำหรับ “ฤดูร้อน” ของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มช้ากว่าปกติ (ประมาณปลายเดือนก.พ.) ซึ่งช้าปกติประมาณ 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพ.ค.นี้
โดยลักษณะอากาศร้อนจะร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆสลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะคลายความร้อนลงได้และจะมีอากาศร้อยจัดบางพื้นที่ในบางวัน ส่วนมากช่วงปลายเดือนมี.ค.-กลางเดือนเม.ย.นี้
โดยอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-36 องศาเซลเซียสซึ่งจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา(ช่วงฤดูร้อนปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ย 37.5 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10-20
![คาดหมายจังหวัดที่มีอากาศร้อนจัดในบางช่วง (กรมอุตุนิยมวิทยา)](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDj0spz8dxF5LOIhs4iZ1q3re.jpg)
คาดหมายจังหวัดที่มีอากาศร้อนจัดในบางช่วง (กรมอุตุนิยมวิทยา)
คาดหมายจังหวัดที่มีอากาศร้อนจัดในบางช่วง (กรมอุตุนิยมวิทยา)
ลักษณะอากาศทั่วไป
บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นและกลางเดือนมี.ค. จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ แต่จะมีกำลังอ่อน
ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.จนถึงกลางเดือนเม.ย.จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 42–43 องศาเซลเซียส และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง
ส่วนในช่วงกลางเดือน เม.ย.ถึงกลางเดือนพ.ค.ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆ กับมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ สำหรับอากาศรายภาคช่วงฤดูร้อน ดังนี้
ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
จะมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไปและมีอากาศร้อนจักหลายพื้นที่ในบางช่วงแต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่เป็นระยๆ รวมทั้งอาจมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้
อุณหภูมิสูงที่สุด 41-43 องศาเซลเซียส บริเวณจ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยาลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลางและตะวันออกรวมทั้งชายฝั่ง
จะมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่บางช่วง ส่วนมากทางตอนบนของภาค แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่เป็นระยะๆ รวมทั้งอาจมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง
อุณหภูมิสูงที่สุด 40–42 องศาเซลเซียส บริเวณ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานีชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีและสระแก้ว
ภาคใต้
ช่วงเดือน มี.ค.ถึงกลางเดือน เม.ย.จะมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค กับมีฝนตกร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมในทะเลสูง 1 เมตร จากนั้นจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และคลื่นลมแรงในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงคลื่นสูง 2-3 เมตร
อุณหภูมิสูงที่สุด 37-39 องศาเซลเซียสป บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิ 37-39 องศาเซลเซียส
![อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อนสูงสุดของปี 2567](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDj0spz8dxF5HaBYAulQNSGCl.jpg)
อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อนสูงสุดของปี 2567
อุณหภูมิเฉลี่ยฤดูร้อนสูงสุดของปี 2567
คาดหมายอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยปี 2568
ภาคเหนือ
- มี.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35-37 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 36.1 องศาเซลเซียส
- เม.ย.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 36-38 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 37.2 องศาเซลเซียส
- พ.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34-36 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- มี.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34-36 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 35.2 องศาเซลเซียส
- เม.ย.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35-37 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 36.2 องศาเซลเซียส
- พ.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34-36 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 34.9 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง
- มี.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 36-38 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 36.5 องศาเซลเซียส
- เม.ย.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 36-38 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 37.5 องศาเซลเซียส
- พ.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35-37 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 35.8 องศาเซลเซียส
ภาคใต้
- มี.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33-35 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 34.3 องศาเซลเซียส
- เม.ย.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33-35 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 34.2 องศาเซลเซียส
- พ.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32-34 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 33 องศาเซลเซียส
กรุุงเทพมหานคร
- มี.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34-36 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 34.6 องศาเซลเซียส
- เม.ย.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34-36 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 35.6 องศาเซลเซียส
- พ.ค.68 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34-36 องศาเซลเซียส ค่าปกติ 34.8 องศาเซลเซียส