เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2568 ศาลสูงสุดของอังกฤษ มีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าคำจัดกัดความของ "ผู้หญิง" ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมซึ่งใช้ทั่วอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์ หมายถึง บุคคลที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น โดยปฏิเสธข้อโต้แย้งของรัฐบาลสกอตแลนด์ที่พยายามให้รวมผู้หญิงข้ามเพศไว้ในคำนิยามดังกล่าว
คำตัดสินนี้หมายความว่า ผู้หญิงข้ามเพศที่มีใบรับรองการยอมรับเพศสภาพ (Gender Recognition Certificate-GRC) จะไม่ถือเป็นผู้หญิงตามกฎหมายอีกต่อไป ขณะที่คำว่า "เพศ" ในพระราชบัญญัตินี้ จะหมายถึง เพศทางชีวภาพหรือเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเท่านั้นด้วย
ตัวแทนจากกลุ่มสิทธิสตรี For Women Scotland (FWS) ซึ่งเป็นแกนนำยื่นฟ้องรัฐบาลสกอตแลนด์ในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าการคุ้มครองตามเพศควรใช้กับผู้ที่เกิดมาเป็นผู้หญิงเท่านั้น ระบุว่า ทุกคนรู้ว่าเพศคืออะไรและรู้ว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และหวังว่าตอนนี้ทุกคนจะกลับมาสู่ความเป็นจริงอีกครั้ง
ขณะที่ผู้สนับสนุนบางส่วน ระบุว่า ยินดีอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่หวังไว้ว่าศาลฎีกาจะยอมรับว่าผู้หญิงก็คือผู้หญิงเป็นผู้หญิงโดยกำเนิด ไม่ใช่ผู้ชายที่กรอกแบบฟอร์มและได้ใบรับรอง

นักรณรงค์เฉลิมฉลองหลังจากฟังผลการตัดสินของศาลฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดนิยามของ
นักรณรงค์เฉลิมฉลองหลังจากฟังผลการตัดสินของศาลฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดนิยามของ "ผู้หญิง" ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2025
ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ทางกฎหมายที่ดำเนินมายาวนาน และถือเป็นจุดสิ้นสุดของความกำกวมในกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ให้บริการเฉพาะเพศหญิง เช่น สถานพักพิง หอผู้ป่วยหญิง รวมถึงการแข่งขันกีฬาประเภทหญิง ซึ่งจากนี้ไปจะสามารถจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงของผู้หญิงข้ามเพศได้อย่างถูกกฎหมาย
แม้ว่าคำตัดสินจะระบุอย่างชัดเจนถึงขอบเขตของคำว่าผู้หญิง แต่ศาลระบุด้วยว่าไม่ควรมีการตีความว่าคำตัดสินนี้หมายถึงชัยชนะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมทั้งระบุว่า บุคคลข้ามเพศจะยังคงได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมายความเท่าเทียมในฐานะผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงเพศ
อย่างไรก็ตามมีผู้คนจำนวนมากผิดหวังต่อการตัดสินครั้งนี้รวมถึง Heather Herbert นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อคนข้ามเพศ ระบุว่า ผิดหวังและรู้สึกเหมือนว่าตอนนี้อังกฤษกำลังเดินตามรอยสหรัฐอเมริกาในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมทั้งระบุว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนไหนจะมาบอกได้ว่าตนเป็นใคร และรู้สึกราวกับว่าคนข้ามเพศกำลังถูกโจมตี ด้าน Amnesty International เตือนว่าคำตัดสินนี้อาจทำให้ผู้หญิงข้ามเพศถูกกีดกันมากขึ้น
ขณะที่ Helen Belcher นักการเมืองระดับภูมิภาคของอังกฤษ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อคนข้ามเพศด้วย ระบุว่า การเป็นคนข้ามเพศในอังกฤษกำลังเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ และคำตัดสินเช่นนี้ทำให้คนข้ามเพศจำนวนมากตกใจและสิ้นหวัง นอกจากนี้มีความกังวลว่าการตัดสินใจกำหนดขอบเขตของคำว่าผู้หญิงลักษณะนี้อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในการจ้างงาน ขณะที่ชาวลอนดอนหลายคนแสดงความผิดหวังเช่นกัน พร้อมทั้งระบุว่าอังกฤษกำลังเดินถอยหลัง
ความเป็นมาของคดีที่นำไปสู่การตัดสินในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกฎหมายของรัฐสภาสกอตแลนด์ในปี 2018 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการขององค์กรสาธารณะในสกอตแลนด์ต้องมีสัดส่วนผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 50 โดยรวมถึงผู้หญิงข้ามเพศที่มีใบรับรองเพศตามกฎหมายด้วย ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องจากกลุ่ม FWS
อ่านข่าว : ปิดตำนานตลกดัง "อาฉี เสียงหล่อ" เจ้าของวลี "บัดซบจริงๆ เลย"