ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทุนใหญ่ญี่ปุ่น" ตกขบวน "เทคโนโลยี" สะเทือน "ดุลแห่งอำนาจโลก"

ต่างประเทศ
2 ก.พ. 68
19:31
126
Logo Thai PBS
"ทุนใหญ่ญี่ปุ่น" ตกขบวน "เทคโนโลยี" สะเทือน "ดุลแห่งอำนาจโลก"

"ญี่ปุ่น" ในความทรงจำของทั่วโลก ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องนึกถึงการเป็นมหาอำนาจของโลกในด้านกองทัพ การทำศึกสงคราม และยุทธภัณฑ์ หลังจากนั้นในยุคสงครามเย็น ต้องนึกถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ด้วยอุตสาหกรรมหนัก การพัฒนายานยนต์และสินค้าคุณภาพดีราคาถูก สมกับการขนานนามว่า "The Miracle of Japan"

แต่สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ คือ การเป็นผู้นำและผู้บุกเบิก "อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์" บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ หรือกระทั่งเครื่องเล่นเกม เชื่อได้เลยว่า ในช่วงปี 1980 เป็นต้นมา หลาย ๆ บ้านต้องมี "แบรนด์ญี่ปุ่น" ของสินค้าเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

กระนั้น เมื่อเข้าสู่ยุค "เซมิคอนดักเตอร์" และ "AI" บรรดา "ทุนญี่ปุ่น" ด้านเทคโนโลยีที่เราคุ้นหู กลับหายหน้าหายตาไปจากสารบบเสียอย่างนั้น กลายเป็นว่า บรรดาประเทศที่คาดไม่ถึง เช่น ไต้หวัน นำโดย TSMC เกาหลีใต้ นำโดย Samsung หรือ จีน ที่นำโดย SMIC กลับครองส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันไปมากกว่าร้อยละ 85 ที่เหลือเป็นประเทศโลกตะวันตกประปราย

อ่านข่าว: "DeepSeek" สะเทือนวงการ "AI" และ "สถานภาพ" การเมืองโลก

เกิดอะไรขึ้น? ทุนใหญ่ญี่ปุ่น "ตกขบวน" ในวงการที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้แก่ประเทศในระดับสูงสุดนี้ได้อย่างไร? และจะสะเทือนสถานะ "มหาอำนาจ" ของลูกหลานอาทิตย์อุทัยในการเมืองโลกหรือไม่? ทางออกของปัญหานี้จะเป็นอย่างไร?

"ประชาธิปไตย" บอนไซทุนใหญ่ "ชี้นำรัฐบาล"

ThaiPBS Online สัมภาษณ์ ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นดังกล่าว

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ระบุว่า เรื่องภายในเราไม่อาจทราบได้อย่างครบถ้วน แต่หากพิจารณาตามหลักเศรษฐกิจการเมือง พบว่า เป็นผลมาจาก การที่บรรดาทุนใหญ่ หรือในศัพท์ญี่ปุ่นเรียกว่า "เคเรตสึ (Keiretsu: 系列)" ไม่สามารถที่จะ "ชี้นำ" รัฐบาลในเชิง "นโยบาย" ได้อย่าง "เบ็ดเสร็จ" อีกต่อไป

ไม่เหมือนกับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะตอนนี้ญี่ปุ่นใช้ระบอบการปกครอง "เสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democracy)" ที่รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ทำอะไรประเจิดประเจ้อ เอื้อนายทุนแบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนตอนที่ปกครองแบบ "จักรพรรดิราช" ไม่ได้

เคเรตสึ หรือสมัยก่อนเรียก ไซบัตสึ (Zaibatsu: 財閥) มีอำนาจต่อรัฐบาลมาก ถึงขนาดชี้นำให้เกิดนโยบายรุกรานเพื่อขยายดินแดน หรือที่เรียกว่า วงศ์ไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา ในช่วงปี 1930-40 เลยทีเดียว

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวว่า ไซบัตสึนั้น มีการดำเนินกิจการแบบ "ตระกูลใหญ่" หลัก ๆ มีสามตระกูล หรือที่เรียกว่า "Big Three" คือ มิตซูอิ (Mitsui) มิตซูบิชิ (Mitsubishi) และ ซูมิโตโมะ (Sumitomo) มีบริษัท "ในเครือ" มากมาย เช่น ธนาคาร ประกัน หรือสินค้าปฐมภูมิ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแบบ "ครบวงจร" ขนาดที่มีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจใหญ่กว่ากิจการของรัฐบาลเสียอีก

ทำให้ฝ่ายบริหารหวังพึ่งพาทุนใหญ่เหล่านี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอาวุธยุทธภัณฑ์และเศรษฐกิจของประเทศ

ภายหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้ชนะสงคราม ได้ดำเนินนโยบาย "3D" คือ การทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratisation) การกระจายอำนาจการเมือง (Decentralisation) และ กระจายอำนาจทุนใหญ่ (Deconstruction) เหตุผลมาจากสหรัฐฯ "กลัวทุนใหญ่ญี่ปุ่น" มีอำนาจมากจนเกินไป หากปล่อยไว้จะกลับมาทำสงครามอีกในอนาคต ทำให้บรรดา Big Three ถูก "ซอยธุรกิจ" ออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ มากมาย

สหรัฐฯ กลัวทุนใหญ่ก็จริง แต่กลัวคอมมิวนิสต์มากกว่า จึงเห็นว่า ควรรวมตัวทุนใหญ่กลับมาพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้ประชาชนหันไปหาคอมมิวนิสต์ จึงทำการเพิ่มตระกูลเข้ามาในทุนใหญ่ กลายเป็น เคเรตสึ ในที่สุด

จาก Big Three ในไซบัตสึ พอเป็น เคเรตสึ กลายเป็น "Big Six" คือเพิ่มตระกูล คือ ไดอิชิ (Daiichi) ซันวา (Sanwa) และ ฟุโย (Fuyo) เข้ามารวมกับสามตระกูลเดิม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของทุนญี่ปุ่นไปอีกขั้น ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมให้รุดหน้า ตามคติพจน์ "Fukoku Kyohei" หมายถึง "ประเทศมั่งคั่ง กองทัพเข้มแข็ง" ที่ใช้มาอย่างช้านาน เพียงแต่เน้นประเด็นเศรษฐกิจมากกว่าการทหาร

เรียกได้ว่า อำนาจแทบจะสมน้ำสมเนื้อกับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองก็ว่าได้ แต่ที่ต่างออกไป คือ ระบอบการปกครองเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่รัฐบาลมาจาก "ตัวเลข" คะแนนเสียงของประชาชน บรรดาทุนใหญ่จึงชี้นำอะไรทางนโยบายได้ไม่มากนัก

เรื่องความสัมพันธ์เคเรตสึกับรัฐบาล ยังคงแนบแน่น แต่กลายเป็นว่า รัฐบาลเป็นผู้กำหนดแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมแทน คือ ฝ่ายบริหารจะบอกว่า ทุนใหญ่ควรผลิตสิ่งใด จึงจะเหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป้าหมายในการแข่งขันได้บนเวทีโลก เรียกได้ว่า บทบาทสลับกัน

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ เพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์นี้ เพิ่มตัวแสดงเข้ามาอีกหนึ่ง คือ "ข้าราชการประจำ" ที่จะรับลูก นำนโยบายรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับทุนใหญ่ เพื่ออำนวยตความสะดวกทางเอกสาร การนำเข้า-ส่งออก หรือภาษี จึงเรียกความสัมพันธ์ของสามตัวแสดง รัฐบาล-ข้าราชการ-ทุนใหญ่ นี้ว่า "สามเหลี่ยมเหล็ก (Iron Triangle)"

ข้าราชการ สามารถนั่งในบอร์ดบริหารทุนใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน หรือที่เรียกว่า หุ้นลม ไม่เพียงแต่เป็นหน่วยงานที่รับลูกนโยบายอย่างเดียว ทำให้สามกลุ่มนี้ มีความคุ้นเคยกันมาก จนไม่อาจแยกขาดจากกันในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ แม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองญี่ปุ่น จะระบุว่า ทุนใหญ่สามารถ "ให้เงินบริจาค" แก่พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนได้ แต่หากจำนวนผิดสังเกต ย่อมเข้าข่าย "ทุจริต" ซึ่งข้าราชการเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ทำให้สามเหลี่ยมเหล็กเกิดความสั่นคลอน ดังนั้น ทุนใหญ่จึงใช้ "สมาพันธ์ธุรกิจ" หรือ "Keidanren" เป็นเครื่องมือประสานพลังแทน

จริง ๆ Keidanren มีมานานแล้ว ประมาณปี 1946 ในระบอบประชาธิปไตย ใช้มากเป็นพิเศษ โดยทำหน้าที่ที่รัฐบาลหรือทุนใหญ่ทำอย่างเปิดเผยไม่ได้ เช่น การเปิดความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ บริจาคเงินให้พรรค LDP หรือชี้แนะข้าราชการตามสมควร เป็นเครื่องมือ ประสานสิบทิศ ก็ว่าได้

เศรษฐกิจ "ฟองสบู่" ทุนญี่ปุ่น "ตกขบวน" เทคโนโลยี

เห็นได้ว่า ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยทำให้ทุนใหญ่ญี่ปุ่นไม่สามารถชี้นำนโยบายต่าง ๆ แก่รัฐบาลได้มากนัก แต่หาทางออกร่วมกัน โดยใช้ช่องทางการรวมกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อทำงานในลักษณะ "ไม่เป็นทางการและกึ่งทางการ" เพื่อให้ประสบผลสำเร็จโดยง่าย แม้จะมีคำครหาประเด็น "คอร์รัปชัน" ก็ตาม

เมื่อไม่สามารถชี้นำรัฐบาลได้แบบเต็มสตรีม หมายความว่า การพัฒนาเทคโนโลยี แม้จะเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่สมควรเข้าไปข้องเกี่ยวเพื่อทำกำไรมหาศาลกลับสู่ประเทศ ใช่ว่าจะโน้มน้าวรัฐบาลได้โดยง่าย เพราะ ผลพวงจากการให้รัฐบาลเป็นผู้ชี้นำนโยบาย หรือที่เรียกว่า "State-led Industrailisation" หากรัฐบาลไม่ตามน้ำ คือ จบเกม ญี่ปุ่นในตอนนี้ กำลังประสบปัญหาดังกล่าว

ส่วนที่รัฐบาลมีท่าที "แหยง" เทคโนโลยีนั้น ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ชี้ว่า เป็นผลมาจาก "การพัฒนาเทคโนโลยีของญี่ปุ่น" ในตนเอง เนื่องจาก ด้วยความที่ญี่ปุ่นก้าวหน้ากว่าใครในด้านนี้ ได้ดุลการค้ามหาศาล ส่งผลให้เกิด "เศรษฐกิจฟองสบู่" เมื่อทั้งระบบพังทลายลงมา ทำให้ประเทศเกิด "Lost Decade" หรือ "ทศวรรษที่สาบสูญ" เงินฝืด เศรษฐกิจไม่เติบโต กระตุ้นเท่าไรก็ไม่อาจกลับมาจุดเดิมได้

ญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านคอมพิวเตอร์ เพราะรับองค์ความรู้ทางวิศวกรรมเทคโนโลยีของตะวันตก จากการแปลตำราและหนังสือมายาวนาน อย่าเข้าใจผิดว่าญี่ปุ่นปิดประเทศ ปิดจริง แต่เปิดรับความรู้ ไม่เปิดรับศาสนาคริสต์ ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะ นักรบ ที่ไม่มีศัตรูจากต่างแดน มีเวลาเรียน เลยมีปัญญามากกว่าประเทศในเอเชียอื่น ๆ

เรื่อยมาถึงสมัยเมจิ ที่ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย (Modernisation) เยี่ยงตะวันตก ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำนำสมัย จะส่งผลให้อุตสาหกรรมและกองทัพเติบโต เป็นมหาอำนาจได้โดยง่าย เห็นได้จาก การมีชัยเหนือจีน และรัสเซีย รวมไปถึงทำอันตรายสหรัฐฯ ที่สงครามเพิร์ลฮาร์เบอร์มาแล้ว

แม้จะพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง องค์ความรู้และพัฒนาการทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นไม่ได้สูญหายไป มิหนำซ้ำ สหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เทคโนโลยีจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่เป็น "ชาตินิยม (Nationalism)" ของญี่ปุ่น ก็ว่าได้

ญี่ปุ่นใช้วิธี Reverse-engineering หมายถึง ซื้อ License สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะ IBM มาแยกชิ้นส่วน และศึกษาวิธีการผลิตและระบบ Circuit เพื่อสร้างสินค้าที่มีราคาต้นทุนถูกกว่าหลายเท่าตัว ส่งผลให้สินค้าเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ดุลการค้าต่อสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ เพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ เมื่อเสียเปรียบดุลการค้า จึงบีบบังคับญี่ปุ่นให้ "แข็งค่าเงินเยน" หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ "Plaza Accord" ส่งผลทำให้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ วงการเทคโนโลยี ที่กำลังไปได้สวย ร่วงหล่นลงในทันที จากที่เก็งกันว่าญี่ปุ่นจะเจิรญเติบโตมากขึ้นไปหายเท่าตัว กลับกลายเป็นว่าชะงักงัน ดุลการค้าแทบจะไม่ได้เปรียบอีกต่อไป

เมื่อเงินเยนแข็งค่า ส่งออกลำบาก รัฐบาลจึงแก้ไขปัญหาโดยปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อกระตุ้นการลงทุน แต่ผลผิดคาด ผู้กู้นำเงินไปเก็งกำไรในตลาดหุ้น มากกว่านำไปลงทุนจริง ๆ ทำให้ Real Sector ไม่กระเตื้อง แต่ Financial Sector เติบโตอย่างก้าวกระโดด ฟองสบู่ทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ชี้ว่า หลังจากนั้นรัฐบาลจึงปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้บรรดาผู้กู้ถึงคราวเคราะห์กันเป็นแถบ ไม่มีผู้เข้าตลาดมาลงทุนต่อ หรือภาษาวัยรุ่นเรียกว่า "ติดดอย" จากปริมาณเงินในระบบที่ลดลง กลายเป็นหนี้เสีย เกิดสภาวะ "เงินฝืด (Deflation)" ประชาชนไม่กล้าใช้เงิน กังวลอนาคต กลายเป็น Lost Decade มามากกว่า 20 ปี

เมื่อเกิดเงินฝืด เท่ากับงบประมาณวิจัยและพัฒนา (R&D) ลดลง ความเจริญทางเทคโนโลยีย่อมลดลงตามไปด้วย รัฐบาลช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เอกชนก็ไม่อาจแข่งขันได้ อีกทั้ง คู่แข่งใหม่ ๆ ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์มีเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จาก ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน ทำให้ญี่ปุ่นตกรถไฟขบวนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ถึงแม้ว่าจะตกขบวนตอนนี้ แต่ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ เสนอว่า เงื่อนไขที่ทำให้ตกขบวน ต้องพิจารณาเพิ่มอีกสองอย่าง คือ "Aging Society" และ "Disruptive" ประการแรก สังคมญี่ปุ่นมีแต่ผู้สูงอายุ ไม่มีแรงงาน ทำให้ผลิตผลปรับตัวได้ช้ากว่าคู่แข่งไปมาก ประการต่อมา เทคโนโลยีสมัยนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพียงข้ามปีก็สามารถเปลี่ยนสถานะ "เจ้าตลาด" ได้โดยง่าย

ตัวอย่าง เราก็เห็นกันอยู่ DeepSeek ของจีน เปิดตัว AI สร้างความวิตกให้กับสหรัฐฯ อย่างยิ่ง ทำให้คู่แข่งสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้แทบจะในทันที

อย่าประมาท "เลือดซามูไร" ประสาน "แนวร่วม" คือทางออก

แม้ว่าญี่ปุ่นจะตกขบวนเทคโนโลยีในตอนนี้ แต่ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ย้ำเตือนว่า ยังไม่อาจประมาทลูกหลานจักรพรรดิได้ เพราะการสูญเสียสถานะผู้นำทางเทคโนโลยี หมายถึง ดุลแห่งอำนาจ และสถานะมหาอำนาจในการเมืองโลกของญี่ปุ่น ย่อมสั่นคลอนไปด้วย

อย่าประมาทญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นไม่ทราบถึงจุดนี้ ปี 2014 บุคลากรทางเทคโนโลยีญี่ปุ่นยังได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ จากการคิดค้นหลอดจอภาพ LED อยู่เลย เชื่อว่า ญี่ปุ่นต้องหาวิธีกลับมาผงาดแน่นอน

"เพียงแต่ทำได้ยากกว่าปกติ นอกจากปัญหา Aging หรือ Disruptive แล้ว ยังมีปัญหา สมองไหล (Brain Drain) จากระบบธุรกิจที่เป็นลำดับอาวุโส (Hierarchy) การคิดริเริ่มจากหนุ่ม ๆ สาว ๆ เช่น Start Up จึงมีอุปสรรคมาก จึงหันไปดำเนินการอย่างอื่นที่อื่นง่ายกว่า"

ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ยกหลักวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาอธิบาย โดยกล่าวว่า ในสมุดปกขาวของญี่ปุ่น จีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในทุกเรื่อง แต่ไม่อยากเผชิญหน้าโดยตรง เพราะญี่ปุ่นทราบดีว่า จะเป็นมหาอำนาจคนเดียวโดด ๆ ในสมัยนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทางออกที่สำคัญ คือ ต้อง "ผนึกกำลัง" หลายฝ่าย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อสากลโลก รวมถึงจีนเอง และจะรักษาสถานะมหาอำนาจต่อไปได้

"ญี่ปุ่นแบ่งรับแบ่งสู้ เป็นทั้งศัตรูและพึ่งพากันและกัน นักท่องเที่ยวจากจีนมายังญี่ปุ่นมีจำนวนมหาศาลในแต่ละปี สร้างความขัดแย้งไม่ได้ แต่ไม่ได้ยอมทุกอย่าง ต้องหาแนวร่วม นอกเหนือจากเกาหลีใต้ ยังมี อินเดีย รวมถึง AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) เพื่อถ่วงดุลจีน รวมถึงร่วมมือกับจีนเสียด้วยซ้ำไป" ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ทิ้งท้าย

อ่านบทสัมภาษณ์ Exclusive 

"Soft Power" เกาหลีใต้ "รัฐหนุน-นายทุนนำ" เคล็ดลับความสำเร็จ

สัญญะการเมือง "พิธีสาบานตน" ทรัมป์ เกมมหาอำนาจ "เขย่าโลก"

ลอกคราบ "ทรัมป์" สมัยสอง "เอเชียตะวันออก-ไทย" กระอัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง