ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในสิงคโปร์ โดยเฉพาะในช่วงปี 2556 ที่เกิดวิกฤตหมอกควันครั้งใหญ่ ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงถึง 401 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินระดับอันตรายอย่างมาก ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตรายมากตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 25 มค.ก./ลบ.ม. ในช่วง 24 ชั่วโมง
หมอกควันดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากการเผาป่าในอินโดนีเซียเพื่อการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันและไม้เยื่อกระดาษ วิกฤตนี้ส่งผลให้ประชาชนในสิงคโปร์ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ตั้ง THPA ก้าวสำคัญจัดการปัญหาฝุ่นยั่งยืน
เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศใช้ กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน (Transboundary Haze Pollution Act - THPA) ในปี 2557 กฎหมายนี้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยให้อำนาจในการลงโทษบริษัทหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน แม้ว่าบริษัทหรือบุคคลนั้นจะอยู่นอกเขตแดนสิงคโปร์ก็ตาม
กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินคดีกับบริษัทต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาป่าหรือการก่อมลพิษ บทลงโทษสูงสุดคือการปรับเงิน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/วัน หรือประมาณ 2,500,000 บาท/วัน และสามารถปรับได้สูงสุดถึง 2,000,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หากการกระทำก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง สิงคโปร์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศเพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีบูรณาการกับการบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังขอความร่วมมือกับประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย ผ่านข้อตกลง "ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution" เพื่อป้องกันและควบคุมมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน
รัฐบาลสิงคโปร์สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการใช้ระบบขนส่งสาธารณะพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษในระยะยาว
PM2.5 ปัญหายืดเยื้อของไทยที่ต้องแก้ไขจากราก
ในขณะที่สิงคโปร์ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ในประเทศไทย ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่การเผาไหม้ในภาคเกษตรกรรมมักเกิดขึ้นมากที่สุด เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด อ้อย การเผาเหล่านี้ส่งผลให้มีฝุ่นละออง PM2.5 ปล่อยออกมาในอากาศอย่างมหาศาล
เมื่อปี 2566 ภาคเหนือของไทยประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกหลายเดือนติดต่อกัน โดยมีค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยสูงกว่า 100 มค.ก./ลบ.ม. ภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาหมอกควัน
การห้ามเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้เพื่อบรรเทาปัญหานี้ แต่ปัญหายังคงไม่สามารถคลี่คลายได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเกษตรกรยังคงใช้วิธีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร
เพราะการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวเศษวัสดุนั้นมีต้นทุนที่สูง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายนี้ได้
นอกจากนี้ ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐในการให้เงินช่วยเหลือหรือเครื่องมือที่เหมาะสมในการกำจัดเศษวัสดุที่ไม่ต้องเผา ซึ่งทำให้เกษตรกรหันกลับมาใช้วิธีการเผาที่ทั้งสะดวกและมีต้นทุนต่ำ
นอกจากการห้ามเผาแล้ว รัฐบาลไทยยังใช้มาตรการระยะสั้นอื่น ๆ เช่น การแจกหน้ากาก N95 ให้กับประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง และการฉีดน้ำเพื่อช่วยลดฝุ่นในอากาศ การไม่เก็บค่าโดยสารในรถไฟฟ้า และ บริการขนส่งมวลชนเป็นเวลา 7 วัน แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นตอได้
เนื่องจากการเผาในภาคเกษตรกรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการยับยั้งอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การใช้มาตรการที่ไม่ได้เจาะจงถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรหรือการลดต้นตอของฝุ่นละออง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นในระยะยาว
ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ในกรอบกฎหมายของประเทศไทยที่ยังขาดความชัดเจนในการควบคุมการก่อมลพิษจากการเผาไหม้ในภาคเกษตรกรรม แม้จะมีกฎหมายที่ควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือการคมนาคม
แต่กฎหมายในด้านการควบคุมการเผาป่าหรือการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรยังไม่เข้มงวดพอ และไม่มีมาตรการลงโทษที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน การขาดการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนจึงทำให้การเผาป่าและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ในขณะเดียวกัน ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาและลาว ซึ่งมักเกิดจากการเผาป่าเพื่อการเกษตรหรือการล่าสัตว์ในฤดูแล้ง ทำให้ฝุ่นละอองข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
ปัญหานี้ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากทั้งการเผาในประเทศและการส่งผลกระทบจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในประเทศไทยซับซ้อนขึ้น เนื่องจากต้องมีความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน
ยั่งยืน vs เฉพาะหน้า
กรณีของสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากการออกกฎหมายที่ชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และการสนับสนุนประชาชนอย่างเป็นระบบ ในทางกลับกัน นโยบายของไทยที่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังคงขาดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพในการจัดการต้นตอของปัญหา
คำถามสำคัญคือ หากประเทศไทยเคยนำโมเดลจากสิงคโปร์ เช่น เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือ บ้านเพื่อคนไทย มาใช้แล้ว ทำไมไทยจึงไม่ลองนำกฎหมายการจัดการฝุ่นควันข้ามพรมแดน (THPA) จากสิงคโปร์มาใช้บ้าง ?
กฎหมายที่ให้อำนาจในการบังคับใช้กับบริษัทหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว การมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนและการบังคับใช้ที่จริงจัง จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการการจัดการฝุ่นอย่างเคร่งครัดได้หรือไม่ ?
การปรับใช้กฎหมายในระดับประเทศเพื่อควบคุมการเผาป่าและลดมลพิษในอากาศอาจเป็นก้าวสำคัญที่ไทยต้องลองพิจารณา ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
อ่านข่าวเพิ่ม :
เปิดโทษเผาไร่อ้อยโทษคุก7 ปีปรับไม่เกิน 14,000 บาท
วิ่งลุยฝุ่น! เช็ก 12 พื้นที่ PM 2.5 กทม.ยังวิกฤตเกิน 2 เท่า
ผู้ปกครองแชร์ภาพลูก-หลาน "เลือดกำเดา" ไหล - วอนเร่งแก้ฝุ่น