วันนี้ (24 ม.ค.2568) นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด กล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่พิจารณามาครบรอบ 1 ปี ว่า พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว โดยได้เชิญทั้งเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาให้ความเห็น
ขณะเดียวกันมีอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาร่วมไปด้วย โดยอนุ กมธ.ฯ ที่ 1 เรื่องโครงสร้าง หลักการ แนวคิด, อนุ กมธ.ฯ ที่ 2 เรื่องกรอบกฎหมาย ที่จะมีในหมวด 8-10 คือ แพ่ง อาญา การปรับทางพินัย
ตอนนี้ในที่ประชุมห้องใหญ่ เป็นการรีวิวทั้งหมดในมาตราที่เราทดไว้ เพราะทุกมาตรา ทุกประเด็น ทุกสาระ สำคัญหมด จากทั้ง 7 ร่าง เพราะฉะนั้นการพิจารณาทุกครั้งก็เพื่อให้มีความครบถ้วน แล้วนำมาใส่ในเล่มใหญ่ เพื่อให้เป็น พ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ที่สุด
ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ที่ 80% แล้ว ซึ่งในเรื่องของกรรมการจังหวัดจะต้องพิจารณาว่าจะเป็นกรณีใด และยังมีความเห็นต่างกันอยู่
ก่อนการประชุมช่วงเช้าวันนี้ มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นตัวแทนจากภาครัฐมารับฟังความคิดเห็น และให้ กมธ.ทุกคน แสดงความเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันควรรับมือและปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงฝุ่นวิกฤต
ส่วนข้อเสนอที่มีการอภิปรายในสภาฯ นั้น นายจักรพล กล่าวว่า จะนำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์มาบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หากทุกอย่างราบรื่น ไม่มีสิ่งใดติดขัด หวังว่าร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะเข้าวาระเร่งด่วนในสภาฯ วาระ 2 และวาระ 3 ในช่วงเดือน ก.พ.นี้
ชูจุดเด่นตั้งกองทุนเรียกปรับคนก่อมลพิษ
ขณะที่นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ระบุถึงสาเหตุที่ใช้ระยะเวลาพิจารณาศึกษานาน โดยมีการยกร่างขึ้นฉบับใหม่ จากการหยิบยกเนื้อหาจาก 7 ร่างที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ เพื่อให้ร่างกฎหมายมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาฝุ่น
จุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.นี้ มีการกำหนดเกี่ยวกับกองทุนอากาศสะอาด ให้ผู้ที่ก่อมลพิษจ่ายค่าปรับและค่าธรรมเนียมเข้าสู่กองทุน และนำไปแก้ไขปัญหาอากาศ ในกรณีที่งบรายจ่ายประจำหรืองบกลางไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที
ส่วนปัญหาฝุ่นข้ามแดนนั้น แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นคู่มือการทำงานให้รัฐบาลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการจัดการสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษจากประเทศอื่น ซึ่งผู้ประกอบการเป็นคนไทยและนำเข้ามา
นอกจากนี้ เรื่องบทลงโทษจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เกี่ยวกับกองทุนมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากจะมีบทลงโทษที่ชัดเจนขณะเดียวกันต้องมีมาตรการสนับสนุนจากกองทุน
ปัจจุบันบทลงโทษอาจยังไม่ชัดเจนมากนักในกฎหมายอื่น เพราะฉะนั้นบทลงโทษในกฎหมายอากาศสะอาดจะชัดเจนยิ่งขึ้น
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ส่วนใหญ่กรรมาธิการเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หากมีประเด็นใดที่เห็นต่าง จะมีอนุกรรมธิการเชิญหน่วยงานศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อนำความเห็นมาเสนอต่อที่ประชุมชุดใหญ่ จากนี้หากมีประเด็นที่เห็นต่างก็จะมีการลงมติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหาสาระตั้งแต่มาตราที่ 1-100
นอกจากนี้ นายภัทรพงษ์ ยังย้ำถึงรัฐบาล ว่า ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันหยิบยกกฎหมายที่มีอยู่มาดำเนินการแก้ไขปัญหาได้โดยไม่จำเป็นต้องรอร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ และเน้นย้ำต่อประชาชนให้เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากค่าฝุ่นที่สูงขึ้น
อ่านข่าว : กทม.จมฝุ่น PM2.5 พีคสีแดง 48 เขต หนักสุดหนองแขม
เปิดสถิติ 7 วันล่าสุด ค่าฝุ่น กทม. พบ "หนองแขม" ติดอันดับพื้นที่สีแดงบ่อยสุด