“มีคนบอกว่า ผมโกง โกงพ่อมึงสิ ผมเข้ามาการเมืองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้น ...ผมประกาศมีทรัพย์สินกว่า 60,000 ล้าน เพราะทำธุรกิจ วันนี้โดนยึดไป 46,000 ล้าน ยังไม่ร้องสักคำ... คำก็โกง สองคำก็โกง ก็มึงตั้งคณะกรรมการเฮงซวยมาสอบกู ตอนที่กูรวย มึงยังเพิ่งขอตังค์พ่อใช้อยู่เลย” คำปราศรัยของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยหาเสียงนายก อบจ.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568
ไม่ใช่ครั้งแรก ที่วาทกรรมดุเดือดปล่อยออกมาจากปากของอดีตนายกฯ ทักษิณ หากก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว แต่บนเวทีปราศรัยที่ 2 จังหวัดเดียวกัน ท่ามกลางกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สมัครนายก อบจ.ในค่ายพรรคเพื่อไทยที่มารอต้อนรับอย่างเนืองแน่น ดุเดือดและดุดัน
“ผมจากไป 17 ปี ไอ้พวกปฏิวัติไล่ผมไป นึกว่าจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่วันนี้กลับแย่ลง และเกิดควายโผล่มาหลายตัว ควายเขาเก คอยไล่ขวิดอยู่เรื่อย”
วาทกรรมดังกล่าว ทำให้สังคมต้องกลับมาตั้งคำถาม เหตุใด “ทักษิณ” อดีตนายกฯ บิดา “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จึงออกมาโชว์พาว และแสดงความอหังการ ในสนามการเมืองท้องถิ่น บนเวทีหาเสียงนายก อบจ.ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จ.เชียงใหม่บ้านเกิด เคยหลุดคำพูดว่า “ไม่สนพวกเห่าหอน” และที่ จ.อุดรธานี “หมา อยู่ส่วนหมา”
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย บอกว่า หากมองในแง่การเมืองสะท้อนได้หลายอย่าง อาจเป็นวิธีการของ “ทักษิณ” ที่มักจะใช้วิธีการแบบนี้ ตั้งแต่สมัยอยู่พรรคพลังธรรม แต่ช่วงนั้นเขายังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก ต่อมาเมื่อเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย วิธีพูด การเรียงลำดับ เรื่องราวและใช้วิธีบลัฟ อ้างความร่ำรวย เช่น รวยแล้วไม่โกง ถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันตัวตน
“ทักษิณ อวดความรวยมาโดยตลอด การพูดแบบยโสโอหัง ด่าทอ หรือว่ากล่าวคนไปเรื่อย เขาทำเป็นปกติ หากถามว่า ในทางการเมืองเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่จากประเทศไทยไปนาน 17 ปี เราจะเห็นได้ว่า เมื่อกลับมาเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย นิสัยยังเหมือนเดิม”
รศ.ดร.เจษฎ์ วิเคราะห์ว่า ด้านหนึ่ง ทักษิณ อาจมองว่า วิธีการก้าวร้าว และการฟาดกลุ่มคนต่าง ๆ ก็เพื่อเคลียร์ทางให้ “ลูกสาว” แพทองธาร หรืออาจจะเคลียร์ทางให้ “ตัวเอง” ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ หากมีการแก้รัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วสามารถที่จะนำคุณสมบัติบางประการ หรือข้ออ้างบางอย่างเอาไว้ โดยหวังว่า อาจจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบก็ได้ จึงต้องฟาด คนร้อง คนคัดค้าน หรือคนต่อต้าน ในลักษณะปรามไม่ให้เข้ามายุ่ง
นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีการตรวจสอบฐานเสียง และฐานมวลชน เพื่อตัดคะแนนคู่แข่ง เพราะคู่แข่งอาจไม่กล้าพูดแบบ “ทักษิณ” โดยเอาความได้เปรียบทางการเมืองที่มีพรรคเพื่อไทย และมีแพทองธาร ลูกสาวเป็นแกนนำในส่วนของรัฐบาลจากส่วนกลาง ดังนั้น เมื่อยกสิ่งเหล่านี้มาพูด หยิกนิด ตบหน่อย ด่ามาก ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขามีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
แต่ถ้าไม่ใช่แง่มุมทางการเมือง คือ การแสดงตัวตนของ “ทักษิณ” ว่า มีนิสัยถาวรแบบนี้ หรือ บางทีเขาอาจมีข้อกริ่งเกรงส่วนตัว ในแต่ละเรื่องที่ด่า เช่น “หมาอยู่ส่วนหมา คนอยู่ส่วนคน” หมายถึงว่า เขามีชนักติดหลัง เรื่องคดีทุจริตและการไม่ได้รับผิด รับโทษ
หรือการทำตัวให้เป็นประโยชน์หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในเรื่องของความพยายามที่จะทำในสิ่งคนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองไม่เห็นด้วย ทั้งเรื่องการ MOU 44 ที่เกาะกูด จ.ตราด หรือ การออกกฎหมายทำกาสิโน
รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุว่า เมื่อมีปมเหล่านี้ อดีตนายกฯ จึงพยายามที่จะแสดงเห็นว่า มีอำนาจ หรืออยู่เหนือกว่า แม้ยังมีข้อกังวลส่วนตัว เนื่องจากตัวเองยังมีคดีมาตรา 112 ติดอยู่ แต่ก็พยายามโชว์พาว รวมทั้งยังพยายามกล่าวถึง การกลับทำงานเพื่อรับใช้สถาบัน
ซึ่งการกล่าวอ้างในลักษณะนี้บ่อยครั้ง ก็เข้าข่ายดูหมิ่นสถาบัน เพราะทำให้คนรู้สึกเกลียดชัง ว่า การที่ได้กลับมาเพราะพระเมตตา ทั้ง ๆ ที่ เป็นกลไกของการถวายฎีกาปกติ
นอกจากนี้ หากพิจารณานัย ที่ “ทักษิณ” พูดมี 2 ประเด็น คือ การที่เขาบอก ว่า โกงพ่อมึงดิ เท่ากลับการทูลเท็จ ผ่านการถวายฎีกา เพราะเขาทำฎีกา ถวายว่าจะรับผิดรับโทษ เพราะข้อหาที่เขาโดน คือ ทุจริต ซึ่งก็คือ โกง การพูดเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากการโกหก และยังพูดอีกว่า 17 ปีที่เขาไม่อยู่ บ้านเมืองแย่มาก แต่พอเขากลับมาบ้านเมืองดีขึ้น เป็นการตีกินทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
สำหรับการการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ การปล่อยให้ “ทักษิณ” ใช้ตำแหน่งผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร แม้จะทำได้ แต่ รศ.ดร.เจษฎ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ มีหลายประเด็นที่ส่อในทางที่ทำผิดกฎหมาย โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่มีหลายมาตรการเชิงรุกที่เขียนอยู่ใน พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาตรวจสอบว่า การเลือกตั้งจากส่วนกลาง สามารถพูดในเรื่องที่เป็นนโยบายได้ หากเป็นนโยบายของพรรค หรือส่วนกลาง และต้องงัดมาดูว่า ในส่วนของท้องถิ่น ทำได้หรือไม่ หรือการปล่อยให้แอบอ้างสถาบัน ในการหาเสียง
และที่อดีตนายกฯ การหาเสียงโดยใช่ถ้อยวาจาหยาบคาย ก็ไม่ห้าม มีการชี้นำครอบงำ พรรคเพื่อไทย และการหาสียง ในลักษณะสัญญาว่าจะให้ก็มีมากมาย ซึ่งในเชิงกลไกเห็นว่า กกต.ไม่ทำอะไรเลย
ส่วนความเคลื่อนไหว ในแง่ของการหาเสียง รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า ตัวของ “ทักษิณ” มีความพยายามทวงคืนพื้นที่ต่าง ๆ ที่เสียให้พรรคการเมืองอื่น กลับมาให้พรรคเพื่อไทย หากมองข้ามช็อต “ทักษิณ” การลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องในลักษณะนี้ จะต้องเล่น 3 ช็อต คือ ต้องทวงคืนให้ได้ในแต่ละพื้นที่ก่อน เพื่อก้าวต่อช็อตที่ 2 คือ การรวมบรรดาพื้นที่เหล่านี้ให้ไปช่วยกันหาเสียง ช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไป หรือเลือกตั้งสส.
และช็อตที่ 3 เพื่อจะตีกินในส่วนของท้องถิ่นและระดับประเทศ และสามารถจัดรัฐบาลได้แบบเต็มที่ คือ กวาดทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง เพื่อกลับ มาผงาด เป็นคุมประเทศไทย
และเป็นการกระทำที่กลุ่มอดีต คสช.เอาคืนยากได้มาก หรือแทบไม่ได้เลย ขณะนี้ต้องบอกว่า บ่มิไก๊ เพราะถูก “ทักษิณ” ย่ำยี บีฑา จนหมดสภาพ ตอนนี้คงต้องรอและปล่อยให้กฎแห่งกรรมทำงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อแล้วว่า มีอยู่จริง
อ่านข่าว ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมแต่งตั้ง "นายกฯแพทองธาร" มิชอบ