วันนี้ (21 ม.ค.2568) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ประกาศขยายระยะเวลา WFH เพิ่มเติมในวันที่ 22-24 ม.ค.นี้ เพื่อลดการเดินทางและลดปริมาณรถยนต์ ซึ่งเป็นต้นตอหนี่งของฝุ่นในกรุงเทพฯ
ก่อนหน้านี้ กทม.ประกาศขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนให้ WFH ในวันที่ 20-21 ม.ค.และจะขยายระยะเวลาเพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 24 ม.ค. หากสถานการณ์ฝุ่นยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมปริมาณฝุ่น PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 50 เขต
อ่านข่าว : กทม.ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 50 เขต พื้นที่สีแดง "หนองแขม - สายไหม"
จากการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ล่วงหน้าระหว่างวันที่ 22-24 ม.ค.นี้ พบว่า
- มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป
- อัตราการระบายอากาศไม่ดี คืออยู่ระหว่าง 875 - 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s) โดยวันที่ 22 ม.ค.คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,750 m2/s, วันที่ 23 ม.ค.คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,125 m2/s ส่วนวันที่ 24 ม.ค.คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 2,125 m2/s,
- คาดการณ์ทิศทางลมตะวันออกเฉียงเหนือ
- จุดเผาภาคกลางและภาคตะวันออก 5 วันติดต่อกัน (11-15 ม.ค.68) เกินวันละ 80 จุด
ทั้งนี้ เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่ยังปกคลุมพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้อากาศนิ่งและจมตัว และเกิดสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นช่วงวันที่ 25-27 ม.ค. เนื่องจากมีอัตราการระบายเพิ่มขึ้น
สถิติ WFH เกือบ 1 แสนคน ชวนให้ถึงเป้า 2 แสน
สำหรับความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ปัจจุบันมีหน่วยงานร่วมเป็นเครือข่าย WFH กับ กทม.แล้ว 278 บริษัท รวม 96,307 คน คิดเป็น 48% จากเป้าหมาย 200,000 คน
หน่วยงานที่สนใจร่วมเป็นเครือข่าย WFH เพื่อลดฝุ่นจากการเดินทางไปพร้อมกับ กทม. สามารถลงทะเบียนได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2951
อ่านข่าว : โรงเรียน สังกัด กทม. ปิดเรียนแล้ว 21 แห่ง หลังค่าฝุ่นยังสูง
ส่วนรถที่ขึ้นบัญชีสีเขียว (Green List) มีรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปขึ้นทะเบียน Green List แล้วประมาณ 31,041 คัน คิดเป็น 310% จากเป้าหมาย 10,000 คัน และแคมเปญรถคันนี้ #ลดฝุ่น ที่เชิญชวนประชาชนดูแลรักษาเครื่องยนต์โดยเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง-ไส้กรอง มีการเปลี่ยนแล้ว 229,711 คัน คิดเป็น 46% จากเป้าหมาย 500,000 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคการจราจรแล้ว 12% ลดฝุ่นจากทุกแหล่งกำเนิดได้ 8% โดยหากมีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง-ไส้กรองครบ 500,000 คันตามเป้าหมาย จะสามารถลด PM2.5 จากภาคการจราจรได้ 25%
โฆษก กทม. ยังเชิญชวนประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง เช่น ทำความสะอาดบ้านด้วยวิธีเช็ดฝุ่น, งดเผาขยะ งดจุดธูป, ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษดักจับฝุ่นละออง, เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ, ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ, ตรวจและดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีไม่ให้มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถ WFH ได้ หรือมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอให้ระมัดระวังและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งและตลอดเวลาที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาอยู่นอกอาคาร รวมถึงงดทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมากหรือเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ต้องสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา หากมีอาการให้รีบไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกมลพิษทางอากาศ เปิดให้บริการทั้งหมด 8 แห่ง ดังนี้
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- โรงพยาบาลนคราภิบาล (โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร)
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลสิรินธร
อ่านข่าว
กทม.จมฝุ่นสีแดงถึง 26 ม.ค. เปิด 3 แผนรับมือ-ขอขยาย WFH