"โดนัลด์ ทรัมป์" วัย 78 ปี จะเข้าสู่พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (Inauguration Day)ในวันนี้ (20 ม.ค. 2568) เป็นการก้าวขึ้นทำเนียบขาวรอบ 2 ในตำแหน่งประธานาธิบดี แน่นอน การคืนสู่สังเวียนผู้นำโลก ต้องไม่ธรรมดา หากยังมีผู้บริหาร CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากในวงการเศรษฐกิจ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
กลุ่มผู้บริการระดับโลกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธี ไม่ได้มีเพียง มาร์ค ซัคเคอเบิร์ก CEO ของ Meta, เจฟฟ์ เบโซส์ CEO ของ Amazons, อีลอน มัสค์ CEO ของ Tesla และ SpaceX แต่ยังมี โจว จื่อ ชิว CEO ของ TikTok ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีด้วยเช่นกัน
หากไม่นับหัวเรือของแอพจีน เจ้าของฉายา Tech Gang ที่ทรัมป์ ยกให้เป็น ซาร์เทคโนโลยี (Tech Szar) ในฐานะมือขวาที่คอยช่วยประมูลข้อมูลการตัดสินใจกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ (Decision-making in Economic Policy process)
ด้วยที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักจะมีระยะห่างกับภาคเอกชน โดยเฉพาะวงการเทคโนโลยี ที่ส่วนใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ ที่กระทบกับประชาชน และหากเป็นพรรคเดโมแครต จะเลือก "สอย" บรรดากลุ่มทุนเหล่านี้แทน เห็นจากการนำ CEO ของ Meta ขึ้นศาลกรณีละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้งานมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การนำบริษัทเอกชนเข้ามาอยู่ในทีมงานฝ่ายบริหาร ไม่ใช่เรื่องแปลก จากประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ได้ใช้บริการ "Silicon Valley" มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ในการร่วมพัฒนายุทโธปกรณ์ และพีคสุดในช่วงสงครามเย็น มีการพัฒนาอาวุธและ "อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์" กลายเป็น "มาเฟีย" ครอบงำสังคมและรัฐบาล
"Silicon Valley" มาเฟีย "กลาโหม"
โรเบิร์ต กิลพิน (Robert Gilpin) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง เสนอไว้ในหนังสือ The Political Economy of International Relations ความว่า ประเทศใดอยากเป็นมหาอำนาจ ต้องครอบครององค์ความรู้ทางเทคโนโลยีในระดับมหาศาล สังเกตได้จากสหรัฐฯ ที่มีเพียบพร้อมทุกอย่าง
แต่หากเสียการครอบครองนั้นไป จะเกิดการโอนถ่ายทางเทคโนโลยี (Technology Transfer) ทำให้อดีตมหาอำนาจที่เคยผูกขาดสั่นคลอนได้ เช่น ความเจริญทางอิเล็กทรอนิกส์ของ จักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบด้านดุลการค้า จากเหตุการณ์สงครามอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ทั้งที่ดินแดนสหรัฐฯ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ญี่ปุ่นด้วยตนเอง
สหรัฐฯ ในฐานะมาเฟีย ที่ผูกขาดความรุนแรงด้วยอาวุธ โดยเฉพาะ ในโลกการระหว่างประเทศที่เป็น อนาธิปัตย์ (Anarchy) สามารถถูกสอยได้ทุกเมื่อ จึงไม่อาจที่จะยอมได้
ดังนั้น จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษา (Maintain) องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเอาไว้ แต่กำลังข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ไม่เพียงพอต่อการวิจัยและพัฒนาสิ่งดังกล่าว อีกทั้งหน่วยงานรัฐมีทั้งความคร่ำครึ เทอะทะ และไม้ตายซาก ทางออกง่ายที่สุด คือ การสร้างร่วมมือกับ "Silicon Valley" ที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ที่มา: HP Archives
เจมส์ วิลเลียมส์ (James C. Williams) เสนอไว้ใน บทความวิจัย Frederick E. Terman and the rise of Silicon Valley ว่า เฟรเดริค เทอร์แมน (Frederick E. Terman) ศาสตราจารย์วิศวกรรมเครื่องกล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นหัวเรือสำคัญในการผสานความร่วมมือ "สามเหลี่ยมทองคำ" คือ รัฐบาลสหรัฐฯ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และมหาวิทยาลัย เข้าไว้ด้วยกันในการรักษาสถานะมหาอำนาจของประเทศ
โดยมหาวิทยาลัยจะรับหน้าที่ผลิตบุคลากรป้อนบริษัทเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์ไปวิจัยและพัฒนา (R&D) อีกทอดหนึ่ง ทำให้เปลี่ยนจากการผลิตอย่างไร้การควบคุม สู่การมุ่งเน้นผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการการทหาร (Technology for Defense) อย่างน้อยเพื่อข่มขู่ แสดงแสนยานุภาพที่เหนือกว่าให้ประเทศอื่น ๆ เกรงกลัว
จาก "วิกฤตการณ์คิวบา (Cuban Missile Crisis)" ปี 1963 ที่สหภาพโซ เวียตนำหัวรบนิวเคลียร์มาจ่อดินแดนสหรัฐฯ โดยฐานที่ตั้งอยู่ที่คิวบา หากสหรัฐฯ ด้อยแสนยานุภาพ ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องขู่ สามารถไล่ถลุงลุงแซมให้ราบเป็นหน้ากลองได้ทันที แต่ขู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ต้องล่าถอย จากการที่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี มี "ปุ่มสีแดงในตำนาน" ไว้ในครอบครอง ซึ่งก็มาจากการพัฒนาโดย Silicon Valley ทั้งสิ้น
ที่มา: HP Archives
โมเดลสามเหลี่ยมทองคำมีความแข็งแกร่งสูง ในช่วงสงครามเย็นการทำสงครามเป็นเรื่องของ "ศักดิ์ศรี" มากกว่า "ผนวกดินแดน" ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ แทบจะต้องหวังพึ่ง Silicon Valley อย่างถึงที่สุดในการพัฒนายุทธภัณฑ์ใหม่ ๆ ใช้ข่มขู่นานาประเทศที่กระด้างกระเดื่องได้
ทำให้บรรดากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นมาเฟีย ที่ชี้นิ้วสั่งฝ่ายบริหารได้อีกทอดหนึ่ง เพราะสามารถพัฒนาในสิ่งที่รัฐบาลต้องการ และก้าวล้ำกว่าที่เจ้าหน้าที่รัฐจะดูดองค์ความรู้ไปใช้งานภายใน 3 วัน 7 วัน เรียกได้ว่าใหญ่กว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสียอีก
หนึ่งในการพัฒนารุดหน้านั้น คือ "อัลกอริทึม (Algorithm)" ที่ในช่วงแรกใช้เพื่อประมวลผลข้อมูลของประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมดเพื่อสร้างระบบโครงข่าย "สอดแนมคอมมิวนิสต์" แต่ภายหลังมีการเติม "AI" เพื่อจัดสรร "การมองเห็นและรับรู้" ของผู้ใช้งานสังคมออนไลน์แทน ด้วยระบบการจัดการข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) หากรัฐบาลไม่ตามใจ ความวุ่นวายที่ตามมาจากการใช้ข้อมูลประชาชนเป็นตัวประกัน ย่อมเกิดขึ้นได้ และภาครัฐไม่มีทางกวดได้ไล่ทัน
ที่มา: HP Archives
"Tech Gang" เศรษฐกิจยุคใหม่ ยากผูกขาด
กล่าวได้ว่า บริษัทเทคโนโลยีมาคู่กับความเป็น "มาเฟีย" ไม่แตกต่างจากรัฐบาล เนื่องจาก การพัฒนาสามเหลี่ยมทองคำ รัฐบาล บริษัทเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับความมั่นคงของประเทศในโลกสองขั้วอำนาจ ทำให้โลกเทคโนโลยีควบคุมฝ่ายบริหารโดยสมบูรณ์
แต่แล้ว การโยกย้ายฐานการผลิตไปสู่ ญี่ปุ่น และ สี่เสือแห่งเอเชีย (สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง) เป็นผลทำให้ Silicon Valley ขาดดุลการค้า ในยุค 1990 และเมื่อทำกำไรไม่ได้ บุคลากรที่ผลิตมาป้อนตลาดก็ขาดแรงจูงใจในการ R&D หันหน้าหนีสู่เอเชียเสียหมด แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐฯ ก็หนีไปตั้งฐานการผลิตยังต่างแดนแทน ยิ่งซ้ำเติม Silicon Valley ให้เหลือเพียงซากความสำเร็จ
และเมื่อเข้าสู่ยุค 2000 ภูมิทัศน์ "ความมั่นคง" ได้เปลี่ยนแปลงไป จากที่ศัตรูทางเทคโนโลยีมีเพียงหนึ่ง สู่การเกิดผู้ก่อการร้ายที่มีมหาศาล และพัฒนาก้าวล้ำกว่าสหรัฐฯ ไปมาก จนกระทั่งขับเครื่องบินขับชนตึก เวิลด์เทรด และเพนทากอนได้โดยที่การตรวจจับตามไม่ทัน เหตุนี้ Silicon Valley จึงเสื่อมอำนาจลง และกลายเป็น "เหยื่อ" เสียด้วยซ้ำ
บทความวิจัย The Real Crisis of Silicon Valley: A Retrospective Perspective เขียนโดย มานูเอล คาสเทลล์ส (Manuel Castells) เสนอว่า แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลมาแสนนาน แต่ Silicon Valley ยังต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเพื่อทำกำไรเป็นหลัก แตกต่างจากรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ทำให้ยามวิกฤตเศรษฐกิจ Silicon Valley ต้องไปก่อนเพื่อน อำนาจสูญไปอย่างรวดเร็ว
และการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกเช่นนี้ ส่งผลให้โมเดลที่ใช้มาตลอดไม่สามารถใช้การอีก รัฐบาลจึงต้องสร้างความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีของเอเชียมากยิ่งขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนในการเจรจาและการผลิต
หรือแม้แต่เลือก "Privatisation" หรือ แปรรูปองค์กรรัฐให้เป็นเอกชน เริ่มมี KPI และการให้สัมปทานเอกชนเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากพอ ๆ กับการอ่อนข้อให้ Silocon Valley เลยทีเดียว ดังนั้นในยุค 2000 จนถึง 2010 จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ แทบไม่ให้ความสำคัญกับ Silicon Valley อีกเลย
ขณะที่ มานูเอล คาสเทลล์ส เสนอทางออกว่า Silicon Valley ควรมี "Lobbyist" หรือ ตัวแทนในการเข้าไปนั่งในฝ่ายบริหารหรือสภาคองเกรสสหรัฐฯ เพื่อที่อำนาจของตนเองจะได้มีแบบทางการ ไม่ต้องหวังพึ่งการเมืองนอกระบบดังที่เคยเป็นมา เพราะบริบทไม่เอื้ออำนวย ทำให้การลงสนามด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ควรกระทำมากที่สุด หากหวังจะอยู่รอด
แต่ใครจะทราบว่า ในยุคสมัยของทรัมป์รอบที่สอง ข้อเสนอของเขา ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1998 จะกลายเป็นความจริง
ทรัมป์ คืนสถานะ "มาเฟียโลก" ฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจ
บทความวิจัย The Tech Lobby: Tracing the Contours of New Media Elite Lobbying Power เขียนโดย พาเวล โพเพล (Pawel Popiel) เสนอว่า บรรดายักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Meta, Google, Amazons, Apple หรือ Microsoft ต่างมี Lobbyists กระจายอยู่ตามสถาบันการเมืองทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติทั้งสิ้น โดยเฉพาะ Google ที่มีส่วนในการชี้นำนโยบาย "สอดส่องตรวจตรา (Surveillance)" ประชาชนของรัฐบาลให้น้อยลง เพื่อรักษาสิทธิของลูกค้าบริษัทที่มากย่ิงขึ้น
หรือแม้กระทั่ง การเป็นฐานเสียงสนับสนุน บารัค โอบามา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ และโอบามาได้ปูนบำเหน็จอย่างงาม โดยให้ Lobbyist ของ Google มีที่นั่งในบอร์ดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (President’s Council of Advisers on Science and Technology) รวมไปถึงมีที่นั่งในกระทรวงต่าง ๆ เช่น กลาโหม พาณิชย์ รวมไปถึงการต่างประเทศ
หนังสือ Militarising Big Tech: The rise of Silicon Valley’s digital defence industry เขียนโดย โรแบร์โต กอนซาเลซ (Roberto J. González) ระบุว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ความมั่นคงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Cybersecurity หรือ Malware/Ransomeware ที่แพร่กระจายรวดเร็วและรุนแรง การมี Lobbyist ยิ่งเป็นการดี เพราะไม่ต้องประสานหลายขั้นตอน สั่งการผ่านกลุ่มเหล่านี้ ก็สามารถประสานพลังได้โดยง่าย
แต่การส่ง Lobbyist มาคุ้มครองตัวเอง ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างถาวร เพราะด้วยอำนาจหน้าที่ มีสถานะเพียง "สมาชิกภาพ (Membership)" ไม่ได้มีอำนาจสั่งการอย่างเต็มเปี่ยม หรือ ๆ ไม่ได้เป็นระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จึงทำให้รัฐบาลยัง "ถือไพ่เหนือกว่า" ในเชิงอำนาจ
ทั้งนี้ หากฝ่ายบริหารใดมาจาก "เดโมแครต" ก็ยิ่งทำให้งานหยาบไปอีกขั้น เพราะพรรคการเมืองนี้ "เห็นแก่สังคม" มากกว่าธุรกิจ เรียกได้ว่า เศรษฐกิจจะวิกฤตอย่างไร ต้องไม่ลืมรักษาสวัสดิการของประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มชายขอบ เช่น การจับ มาร์ค ซัคเคอเบิร์ค มาไต่สวน กรณีคุกคามความมั่นคงส่วนบุคคลของประชากรสหรัฐฯ โดยแอบฟังบทสนทนาเพื่อให้ Algorithm จัดสรรสิ่งที่คุยกันขั้นหน้า Feed โดยทันที
จึงไม่แปลกใจที่ ทรัมป์ จะให้ความสำคัญกับบรรดา Tech Gang ให้เข้ามามีส่วนร่วมในวันสำคัญที่สุดของตนเองเช่นนี้ ต้องไม่ลืมว่า นโยบายหลักของเขา คือ America First เน้นดึงทุนกลับประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมายิ่งใหญ่ สมกับการเป็นมหาอำนาจโลก หากไม่ใช้งาน "คนบ้านเดียวกัน" อย่างมาเฟียเทคโนโลยียุคใหม่ จะใช้งานใคร
กล่าวง่าย ๆ สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่ต่างจากการ "ย้อนยุค" กลับไปหาความเฟื่องฟูของ Silicon Valley อีกครั้ง เพียงแค่สลับบทบาท จากที่บริษัทเทคโนโลยีค้ำจุนความมั่นคงรัฐบาลฝ่ายเดียว มาเป็นฝ่ายบริหารเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยปลายทางหวัง "กู้วิกฤตเศรษฐกิจ" สหรัฐฯ กลับคืน
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ The Political Economy of International Relations
- หนังสือ Militarising Big Tech: The rise of Silicon Valley’s digital defence industry
- บทความวิจัย Frederick E. Terman and the rise of Silicon Valley
- บทความวิจัย The Real Crisis of Silicon Valley: A Retrospective Perspective
- บทความวิจัย The Tech Lobby: Tracing the Contours of New Media Elite Lobbying Power
- https://www.youtube.com/watch?v=VPn2ZAasrOs